ตกตะกอนความคิด “จิก-ประภาส ชลศรานนท์”

“Content แปลกใช่ว่าต้องดี คนต้องชอบด้วย”

เขาเป็น “นักคิด” คร่ำหวอดอยู่ในวงการทีวีมาไม่ต่ำกว่า 30 ปี ตั้งแต่ยังเป็นนิสิตสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลิตรายการ “เพชฌฆาตความเครียด” โดนใจวัยรุ่นยุค 20 กว่าปีที่แล้ว สร้างวงเฉลียงให้เป็นมิติใหม่ของวงการเพลง โดนใจคนรุ่นใหม่ในยุคนั้น พ็อกเกตบุ๊กที่เขาเขียนทำให้เขาได้ชื่อว่าเป็น “นักคิด” ที่สร้างแรงบันดาลใจ จนมาร่วมก่อตั้งบริษัทเวิร์คพอยท์ร่วมกับ ปัญญา นิรันดร์กุล จนกลายเป้นผู้ผลิตรายการที่ประสบความสำเร็จมาตลอด

แม้วันนี้ จิก-ประภาส จะไม่ได้ทำงานเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมโฆษณาและการตลาด

แต่ ประภาส ชลศรานนท์ กลับเป็นวิทยากรรับเชิญในงานสัมมนาการตลาดประจำปีของ Mindshare มีเดียแพลนเนอร์ ที่ถือเป็นช่วงเวลาไฮไลต์ของงานที่ทุกคนรอคอยและตื่นเต้นที่จะได้รับฟังการแบ่งปันประสบการณ์จากการทำงาน และแนวทางในการสร้างคอนเทนต์ที่ทำให้เวิร์คพอยท์กลายเป็นหนึ่งในบริษัทผลิตคอนเทนต์ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในปัจจุบัน

โดยเฉพาะยิ่งมีการคาดการณ์ว่า ปี2554 จะเป็นปีแบรนด์ต่างๆ ต้องหันมาให้สำคัญกับการสร้างเนื้อหาให้ดึงดูดคนดูให้มากที่สุด หรือเรียกว่า Content Marketing เรียกว่า ถ้าเป็นโฆษณาก็ต้องไม่ใช่แบนเนอร์โฆษณาธรรมดาๆ อย่างที่เห็น ก็ต้องมีเรื่องราวที่น่าสนใจให้คนดูรู้สึกสนุกและอยากติดตามในรูปแบบของข้อความ วิดีโอคลิป หนังสั้น

“ถ้ามีสองทางให้เลือกทำ ระหว่างง่ายกับยาก ผมขอเลือกทำทางยาก เพราะผมเชื่อว่าทางง่ายมีคนทำกันเยอะแล้ว และพยายามทำงานด้วยความเชื่อที่ว่าดีกับคนดูและลูกค้า(โฆษณา)”

ประภาสแบ่งปันสองหลักการทำงานของเขาที่ยึดถือมาตลอด ซึ่งเป็นที่มาของรายการที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ อย่างเช่น แฟนพันธุ์แท้ คุณพระช่วย และล่าสุด SME ตีแตก ซึ่งเป็นรายการประเภท Branded Content ที่ประสบความสำเร็จที่สุดรายการหนึ่ง

รายการ คุณพระช่วย เป็นทางที่ยากมากรายการหนึ่ง และกว่าจะได้ออนแอร์แบบนี้ ประภาสต้องฝ่าฟันอุปสรรคในการชักจูงใจให้คนในเวิร์คพอยท์เชื่อว่า ศิลปะวัฒนธรรมไทยสามารถนำมาปรับให้สนุกและเป็นรายการบันเทิงที่เหมาะกับกลุ่มคนดูที่คุ้นเคยกับ Pop Culture ในปัจจุบันได้

การนำโขนมาแสดงในรายการ คงไม่สามารถทำตามรูปแบบดั้งเดิมที่แสดงกันเป็นชั่วโมงได้ เพราะแน่นอนว่า จะทำให้คนดูรู้สึกเบื่อ เมื่อคนดูไม่สนใจก็ไม่มีทางจะขายรายการนี้กับลูกค้าได้ ประภาสจึงตัดสินใจปรับการแสดงโขนใหม่ ลดทอนช่วงเวลาลงเหลือเพียงประมาณ 10 นาที และเพิ่มสีสันในรายการด้วยสามพิธีกรที่ทำให้บรรยากาศรายการดูสบาย และอบอวลไปด้วยความสนุกสนาน

ในที่สุด ทางยากที่ประภาสเลือกทำก็กลายเป็นที่ประทับใจของทุกคน

ขณะที่ รายการ SME ตีแรก ถือเป็นสิ่งที่ยากที่สุดเท่าที่เคยทำมา เพราะการจะนำเรื่องการทำธุรกิจที่ตึงเครียดมาผสานเข้ากับความบันเทิงให้ลงตัวนั้น ต้องใช้เวลาในการหาส่วนผสม และชั่งตวงวัดออกมาให้สูตรลงตัวมากที่สุด

แต่หลังจากที่ทำรายการนี้มาเกือบปี ฟีดแบ็กที่ได้รับทำให้ประภาสกล้าพูดว่า “ทุกวันนี้คงไม่มีใครมอง SME เป็นสีอื่น นอกจากสีเขียว”

การเป็นนักคิดของประภาสไม่ได้ทำให้เขาทะนงตัวมากขึ้นกว่าเดิม แต่ยังคงยอมรับความคิดเห็นคนอื่นเสมอในทุกครั้งที่สร้างสรรค์งาน และเขามักบอกกับ Creative ในเวิร์คพอยท์ว่า อย่ามองว่าแปลกแล้วต้องดี แต่เมื่อชิมแล้วต้องชอบ และต้องให้หลายคนชอบด้วย เพราะพ่อครัวที่ทำอาหารแปลกแล้วไม่อร่อย ก็ไม่มีคนกิน

อย่างไรก็ตาม การรับฟังของประภาสในการวัดว่าคอนเทนต์ที่ผลิตออกมาดีหรือไม่ ก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการจับต้องได้ของมาตรวัดอย่างเช่นเรตติ้งเสมอไป แต่ได้ใช้กระแสการยอมรับ และความชื่นชอบของคนดูมาเป็นเครื่องมือวัดด้วย

ในงานนี้ ประภาสยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า แฟนพันธุ์แท้ เป็นรายการที่เรตติ้งไม่ดี แต่ว่าเป็นหนึ่งในรายการที่ดังและเป็นที่พูดถึงในหมู่คนดูมากที่สุดเท่าที่เวิร์คพอยท์เคยผลิตมา ซึ่งตัวเขาเองและทีมงานทุกคนก็เชื่อมั่นในกระแสของคนดูมากกว่าเรตติ้ง เพราะกระแสจากคนดู “โกหก” ไม่ได้

ทุกวันนี้ ความเป็นนักคิดของประภาสยังถูกเพิ่มเติมความรู้อย่างต่อเนื่อง และพร้อมเสมอสำหรับการหยิบมาใช้ในแต่ละครั้ง

โดยการอ่าน และการฟัง เป็นสองวิธีที่ประภาสใช้เพื่อคอยเติมความรู้และข้อมูลให้เต็มอยู่เสมอ

“ผมใช้วิธีอ่านหรือฟัง อ่านทุกเรื่อง ทั้งการเมือง การ์ตูน เศรษฐกิจ การตลาด อ่านไม่ได้ก็ไม่ฝืน แต่วันหนึ่งเราจะอ่านมันเอง แล้วความคิดนั้นก็จะตกตะกอน นำเรื่องนี้มาผูกอันนี้เองในวันหนึ่ง”

“ผมไม่ใช่คนประเภททำอะไรแล้วค่อยหาข้อมูล แต่ข้อมูลจะเก็บไว้เต็ม ผมเคยอ่านเจอว่า ดาวฤกษ์หมุนรอบตัวเอง ก็เป็นที่มาของเพลงเธอหมุนรอบฉัน ฉันหมุนรอบเธอ”

เป็นมุมคิดของนักคิดอย่าง ประภาส ชลศรานนท์ ในฐานะผู้ผลิต Content ที่สามารถสร้างส่วนผสมระหว่างศิลปะและธุรกิจได้ลงตัว