“เศรษฐา ทวีสิน” แนะรัฐบาล 7 ข้อเร่ง “ฟื้นเศรษฐกิจไทย” พร้อมจัดหาวัคซีนล่วงหน้า 3 เท่า

แม่ทัพ “แสนสิริ” ชี้ปัญหาเศรษฐกิจหลัง COVID-19 ทำให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งสูงขึ้น ควรยกประเด็นนี้เป็นวาระแห่งชาติ พร้อมแนะแนวทาง 7 ข้อเพื่อ “ฟื้นเศรษฐกิจไทย” รวมถึงมองข้ามช็อตเรื่อง “วัคซีน” มีแนวโน้มต้องฉีดต่อเนื่องทุกปี รัฐบาลควรสั่งล่วงหน้า 3 เท่าของประชากร อย่าซ้ำร้อยบทเรียนปัจจุบัน

“เศรษฐา ทวีสิน” ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงสถานการณ์ประเทศไทยหลังเผชิญวิกฤต COVID-19 พบว่า “ความเหลื่อมล้ำ” ยิ่งสูงขึ้น โดยธนาคารโลกวิเคราะห์ว่า วิกฤตครั้งนี้ทำให้คนจนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านคน ดังนั้น ภาครัฐควรถือโอกาสยกการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำให้เป็น “วาระแห่งชาติ”

เศรษฐายังแสดงความเห็นแนะนำแนวทาง “ฟื้นเศรษฐกิจไทย” ดังนี้

1.ควรเตรียมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เพราะแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะกระตุ้นให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างมหาศาล และรัฐควรนำเงินช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบเพิ่มอีกโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs และธุรกิจท่องเที่ยว

ทั้งนี้ ยกตัวอย่างแผนงานที่สหรัฐอเมริกาและยุโรป มีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว โดยโจ ไบเดน ปธน.สหรัฐฯ มีแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่างบที่ใช้ในวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อกว่าสิบปีก่อนถึง 4 เท่า ขณะที่ฝั่งยุโรปอนุมัติงบ 3 หมื่นล้านยูโร เพื่อสนับสนุนโครงการด้านขนส่ง ดิจิทัล และพลังงาน จนถึงปี 2570

2.ควรเดินหน้าเร่งกู้เงินเพื่อใช้ในการลงทุน เมื่อจะลงทุนต้องมีการกู้เป็นเงินทุน โดยรัฐบาลได้รับความเห็นชอบให้กู้เงินเพิ่มเป็น 1.5 ล้านล้านบาทแล้ว รัฐต้องแข่งขันกับประเทศอื่นๆ เร่งกู้เงินเพื่อใช้ฟื้นฟูประเทศ หากไทยไม่เร่งกู้ เงินในระบบจะถูกดูดไปหมดก่อน คล้ายกับกรณีวัคซีนที่จะหาทีหลังก็หาไม่ได้แล้ว

นอกจากนี้ รัฐบาลควรขอขยายเพดานสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจากปัจจุบัน 60% เช่นเดียวกับหลายประเทศที่ขยับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีขึ้นไปแล้ว เพราะทุกประเทศต้องกู้เงินมาใช้เยียวยาเศรษฐกิจ

3.ควรมีการปรับโครงสร้างการเก็บภาษี อีกหนึ่งหนทางหาเงินลงทุน เสนอแนะให้ปรับภาษีความมั่งคั่ง ที่ควรมีการเรียกเก็บภาษีเพิ่มจากผู้ที่มั่งคั่งกว่าในรูปแบบต่างๆ ให้เกิดภาวะการเงินที่สมดุลของประเทศ เช่น ภาษีมรดกคนรวย

4.การพยุงราคาสินค้าและประกันราคาสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และอ้อย รัฐบาลต้องช่วยรับภาระในการสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรกลับไปสร้างผลิตผลทางการเกษตร แทนที่จะรอเงินช่วยเหลืออย่างเดียวและประชาชนจะได้พอเลี้ยงตัวผ่านวิกฤติในครั้งนี้ไปได้

นาข้าว

5.ควรเร่งแก้ปัญหาการบินไทยและพยุงสายการบินอื่นๆ ด้วย เพราะจีดีพีไทยพึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสูงมาก ดังนั้นต้องเร่งแก้ปัญหาการบินไทย และต้องใช้โอกาสนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ปรับองค์กรให้โปร่งใส เมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้น ไทยจะได้มีสายการบินหลักที่มีประสิทธิภาพที่จะนำนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทยได้

6.มีมาตรการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ การลงทุนจากต่างชาติอั้นมาพอสมควรจากสถานการณ์ 1-2 ปีที่ผ่านมา แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ปริมาณการลงทุนจะดีดตัวขึ้นแน่นอน ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขณะนี้ไทยเริ่มถูกสิงคโปร์ เวียดนาม และอินโดนีเซียทิ้งห่าง มาตรการดึงดูดการลงทุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษีหรือสิทธิประโยชน์ที่ต้องตอบโจทย์และรัฐบาลต้องรีบจัดการและประชาสัมพันธ์ให้ชัดเจน

7.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาสู่ระบบการเมืองในสายตาประชาชน ไม่ว่าจะมีการปรับแก้ไขรายมาตราหรือจะแก้ทั้งฉบับก็ต้องหาทางออกให้ได้ เพราะเศรษฐกิจและการเมืองแยกกันไม่ขาด ถ้าเศรษฐกิจเริ่มกลับมาแต่องค์ประกอบทางการเมืองยังเป็นชนวนของความขัดแย้งอยู่ ประชาชนก็จะไม่มีความมั่นใจ และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจก็จะชะลอไปด้วย

ไม่เพียงแต่ด้านเศรษฐกิจ เศรษฐายังแนะว่า “วัคซีน” เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องมีเพียงพอ รวดเร็ว กระจายได้ทั่วถึง และต้องมองข้ามช็อตไปถึงการฉีดช็อตที่ 3 รวมถึงการฉีดในปีต่อๆ ไปแล้ว

“ภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าวัคซีนที่ต้องมีเพียงพอ จัดหาอย่างรวดเร็ว และการกระจายอย่างเสมอภาค รัฐบาลควรเตรียมวัคซีนช็อตที่ 3 เพื่อสร้างภูมิจากการรุกหนักของ COVID-19 ในรอบนี้ นอกจากนี้ต้องไม่ลืมมองข้ามช็อตไปถึงวัคซีนปีหน้าและปีถัดๆ ไปที่เราต้องเตรียมตัวเอาไว้ด้วย  เพราะ COVID-19 จะเหมือนไข้หวัดใหญ่ที่ต้องฉีดวัคซีนทุกปี” เศรษฐากล่าว

“เรามีบทเรียนในปีนี้แล้ว ดังนั้น ในปีหน้าต้องประเมินปริมาณวัคซีนให้ดี ควรต้องสั่งเผื่อล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เท่าของจำนวนประชากร สำหรับตัวเลข 2 แสนล้านสำหรับค่าวัคซีนถึงแม้จะดูจำนวนมาก แต่อยากให้ภาครัฐ ‘ลงทุนกับสวัสดิภาพและความมั่นใจของประชาชนในระยะยาว’”

สำหรับแสนสิริเองมีโครงการช่วยเหลือสังคมเพื่อ “ไม่ทอดทิ้งใคร” ไว้ข้างหลัง โดยจัดงบ 100 ล้านบาท ดูแลในหลายด้าน เช่น จัดซื้อวัคซีนซิโนฟาร์ม 50% ฉีดให้กับพนักงานและครอบครัว อีก 50% ฉีดให้คู่ค้า พันธมิตร สังคม จัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นาเข็มที่ 3 ให้พนักงาน 6,000 คน รวมทั้งมีการบริจาคร่วมก่อสร้างโรงพยาบาลสนามบุษราคัม และเครื่องมือแพทย์อื่นๆ ให้กับกระทรวงสาธารณสุข

ล่าสุดแสนสิริตอบรับระบบ Home Isolation ของภาครัฐ ช่วยเหลือลูกบ้านให้กักตัวอยู่ที่บ้านได้ พร้อมปลูกฟ้าทะลายโจร 100,000 ต้นไว้รองรับการช่วยเหลือผู้ป่วยอีกด้วย