ยักษ์ขนส่ง DHL เปิดภารกิจ “Mission 2050” ตั้งเป้าลดคาร์บอนเป็นศูนย์ โดยจะหันมาเน้นใช้การขนส่ง “ทางถนน” สนับสนุนร่วมกับการขนส่งทางเรือและเครื่องบินให้มากที่สุด รองรับอนาคตเปลี่ยนมาใช้รถขนส่งพลังงานไฟฟ้า-ไฮโดรเจน ชี้เป็น “จุดตรงกลาง” ระหว่างเรือและเครื่องบิน เร็วกว่าเรือ ถูกกว่าเครื่องบิน ติดตามสินค้าง่าย ยืดหยุ่นในการเปลี่ยนเส้นทาง
อี-คอมเมิร์ซที่เติบโตขึ้นทุกมุมโลก ส่งผลให้ธุรกิจโลจิสติกส์เติบโตตามไปด้วย “ด๊อยช์โพสต์ ดีเอชแอลกรุ๊ป” หรือ DHL ขนส่งรายใหญ่จากเยอรมนีจึงวางเป้าหมายภารกิจ “Mission 2050” ลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2050
ในภารกิจนี้ เป้าหมาย ‘ครึ่งทาง’ ในปี 2025 ของ DHL ต้องการจะลดการปล่อยคาร์บอนลง 50% เมื่อเทียบกับปี 2007 โดยจะเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า 80,000 คันในระยะแรก และต้องการผลักดันโซลูชันที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มีสัดส่วน 50% ของยอดขายบริษัท
ใช้ขนส่งทางถนน “จุดตรงกลาง” ของโลจิสติกส์
“เคลวิน เหลียง” ซีอีโอ ดีเอชแอล โกลเบิล ฟอร์เวิร์ดดิ้ง เอเชียแปซิฟิก, “โทมัส ทีเบอร์” ซีอีโอ ดีเอชแอล โกลเบิล ฟอร์เวิร์ดดิ้ง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ “บรูโน่ เซลโมนี่” รองประธาน การขนส่งทางถนนและขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ดีเอชแอล โกลเบิล ฟอร์เวิร์ดดิ้ง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน 85% ของการขนส่งสินค้าอี-คอมเมิร์ซ ใช้ระบบขนส่งทางเรือ ราง และรถ มีเพียง 15% ที่ใช้การขนส่งทางเครื่องบิน
เมื่อ DHL ต้องการมุ่งตอบโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อม “บรูโน่” ระบุว่า การขนส่งทางถนนคือ “จุดตรงกลาง” ที่เหมาะสม เพราะการส่งทางถนนลดคาร์บอนได้ง่ายกว่าทางเครื่องบิน ปัจจุบันการใช้รถประหยัดน้ำมันกว่าเครื่องบินอยู่แล้ว และเทคโนโลยีอนาคตที่กำลังจะเปลี่ยนเป็นยานยนต์ไฟฟ้าหรือไฮโดรเจนจะยิ่งทำให้ปล่อยคาร์บอนน้อยลง
ขณะเดียวกันยังทำราคาได้ถูกกว่าเครื่องบิน แม้ว่าจะแพงกว่าการขนส่งทางเรือประมาณ 30% (ขึ้นอยู่กับจุดส่งสินค้าและจุดหมายปลายทางด้วย) แต่การขนส่งทำได้เร็วกว่า รวมถึงมีความผันผวนเรื่องราคาน้อยกว่า ดังที่ลูกค้าน่าจะพบประสบการณ์ราคาขนส่งทางเรือและทางอากาศผันผวนสูงมาแล้วเมื่อปี 2020 จึงมองว่าการใช้ขนส่งทางถนนมาสนับสนุนจะเป็นหนทางที่ยั่งยืน
ทั้งนี้ DHL มีการทดสอบการใช้ขนส่งทางถนนสนับสนุนการขนส่งทางอากาศ (air-road shipment) จากจาการ์ตาไปยังกรุงเทพฯ ผ่านทางสิงคโปร์ เทียบกับการขนส่งทางเครื่องบินแบบบินตรงจาการ์ตา-กรุงเทพฯ พบว่าลดการปล่อยคาร์บอนได้ 50% และลดต้นทุนได้ 35%
นอกจากนี้ DHL ยังนำเสนอว่าการขนส่งทางถนนมีความปลอดภัยและยืดหยุ่นกว่า เนื่องจากสามารถใช้ GPS ติดตามสินค้าได้ตลอดเวลา รวมถึงเปลี่ยนเส้นทางได้ง่ายกว่าหากเส้นทางประจำเกิดเหตุขัดข้อง โดยปัจจุบันบริษัทมีแพลตฟอร์ม myDHLi ไว้ให้ลูกค้าติดตาม Tracking สินค้าได้แบบเรียลไทม์
ความร่วมมือในภูมิภาค ผ่านด่านศุลกากรเร็วขึ้น
สำหรับความท้าทายหลักนอกจากโครงสร้างพื้นฐานคือตัวถนนแล้ว การขนส่งด้วยรถจะต้องผ่านพิธีการศุลกากรหลายประเทศ ซึ่งจุดนี้ “โทมัส” ให้ข้อมูลว่าความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนถึงประเทศจีนมีความก้าวหน้าอย่างมากในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา โดยมีข้อตกลงระบบศุลกากรผ่านแดนอาเซียน (ACTS) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ช่วยสนับสนุนให้การขนส่งทางถนนรวดเร็วและราบรื่น และบริษัท DHL จะมุ่งเน้นลดเวลาการทำพิธีการศุลกากรให้ได้มากที่สุด
ปัจจุบันบริษัทเล็งเห็นว่าเส้นทางขนส่งทางถนนระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับประเทศจีนมีความสำคัญมาก และเส้นทางอนาคตที่เล็งเห็นศักยภาพคือการขนส่งทางถนนระหว่างจีนกับภูมิภาคยุโรป ทั้งนี้ เฉพาะประเทศกลุ่มอาเซียน DHL คาดว่าจะมีการขนส่งทางถนนเพิ่มขึ้น 8% ช่วงปี 2020-2025
พร้อมใช้เทคโนโลยี “ยานยนต์ไฟฟ้า”
สำหรับอนาคตการใช้รถบรรทุกและรถกระบะไฟฟ้า “เคลวิน” กล่าวว่า อาจต้องรอเวลาอีกสักพักกว่าที่เทคโนโลยีแบตเตอรีจะรองรับได้ เนื่องจากการใช้รถบรรทุกสินค้าจะแตกต่างจากรถยนต์ส่วนบุคคล แบตเตอรีจะต้องรองรับได้ทั้งน้ำหนักขนส่งผนวกกับระยะทางไกล แต่เมื่อใดก็ตามที่เทคโนโลยีมีความสามารถเพียงพอ DHL จะนำมาใช้งานทันที
ขณะที่การใช้เทคโนโลยีรถบรรทุกขับเคลื่อนอัตโนมัติ ปัจจุบันเริ่มทดลองใช้แล้วในเยอรมนี เนื่องจากทางด่วนหรือ ‘ออโตบาห์น’ ของเยอรมนีมีโครงสร้างพื้นฐาน สัญญาณและป้ายจราจรที่รองรับการใช้รถอัตโนมัติแล้ว ส่วนการนำไปใช้ในประเทศอื่นหรือภูมิภาคอื่นจะขึ้นอยู่กับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศนั้นๆ พร้อมรองรับแล้วหรือไม่
DHL มองว่า อี-คอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเติบโตต่อเนื่อง 70% ภายในปี 2070 แม้ว่าสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลายแต่ผู้บริโภคจะยังนิยมสั่งสินค้าออนไลน์อยู่ ทำให้การลงทุนเพื่อตอบสนองเป็นทิศทางที่ถูกต้อง