ประเทศไทยเผชิญการระบาดโรค COVID-19 รอบที่หนักที่สุดที่เคยเกิดขึ้น จนภาครัฐต้องปรับระบบให้มี “Home Isolation” สำหรับผู้ติดเชื้อระดับสีเขียว เมื่อมีการดูแลผู้ติดเชื้อภายใน “บ้าน” บริษัทผู้พัฒนาอสังหาฯ และนิติบุคคล มีมาตรการช่วยเหลือลูกบ้านอย่างไร เพื่อผ่านพ้นวิกฤตนี้ได้อย่างปลอดภัย
หลายคนที่เคยมีเหตุต้องกักตัวอยู่ในบ้าน ไม่ว่าจะเพื่อดูอาการหรือยืนยันติดเชื้อแล้ว น่าจะทราบดีว่าการกักตัว 14 วันหรือจนกว่าจะหายป่วยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้กักตัวมักประสบความลำบากทั้งด้านอาหาร ยา อุปกรณ์การแพทย์ ไปจนถึงด้านจิตใจ หลายคน ‘จิตตก’ และเป็นกังวลอย่างมาก
เมื่อการกักตัวเกิดขึ้นในบ้าน ยิ่งภาครัฐอนุญาตให้จัดระบบ Home Isolation ก็ยิ่งมีผู้กักตัวมากยิ่งขึ้น ไปดูกันว่าภาคธุรกิจอสังหาฯ และบริหารจัดการอาคาร (นิติบุคคล) มีมาตรการใดแล้วบ้างเพื่อช่วยให้ลูกบ้านใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย
1.บริการส่งอาหาร-ของใช้ถึงหน้าห้อง
พื้นฐานแรกสุดของคนกักตัวคือความกังวลด้านอาหาร โดยเฉพาะผู้ที่กักตัวใน “คอนโดมิเนียม” เพราะแม้ว่าปัจจุบันจะมีบริการเดลิเวอรี่ทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งอาหารปรุงสุก ของสด ของแห้ง น้ำดื่ม แต่ถ้าอาศัยอยู่ในคอนโดฯ กฎระเบียบของทุกตึกจะไม่อนุญาตให้พนักงานส่งสินค้าขึ้นไปส่งถึงหน้าห้องชุด
ดังนั้น นิติบุคคลหลายแห่งจึงต้องมีมาตรการพิเศษช่วยเหลือผู้ที่กักตัวในห้องพัก โดยเจ้าหน้าที่โครงการจะผลัดเวรขึ้นไปส่งอาหารหรือของใช้ที่ลูกบ้านสั่งซื้อออนไลน์ให้ถึงหน้าห้อง อำนวยความสะดวกให้ลูกบ้านใช้ชีวิตในห้องได้
2.มอบชุด Health Kit ดูแลสุขภาพ
บริษัทอสังหาฯ หรือนิติบุคคลบางแห่งมีการจัดซื้อมอบชุดดูแลสุขภาพให้ลูกบ้านเป็นพิเศษ เช่น MQDC กับ พรีโม (ในเครือออริจิ้น) มีนโยบายคล้ายกันคือ มอบชุดดูแลตนเองประกอบด้วยเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว ปรอทวัดไข้ และยาจำเป็น ให้กับลูกบ้านที่กักตัว หรือ เสนาฯ มอบยาฟ้าทะลายโจรให้ลูกบ้านทั้งหมดบ้านละ 1 ขวด เป็นต้น ขณะที่ พลัส พร็อพเพอร์ตี้ (ในเครือแสนสิริ) มีการปลูกฟ้าทะลายโจรและกระชายในโครงการ 230 แห่งเพื่อเตรียมไว้สำหรับแปรรูปแจกลูกบ้าน
แม้ว่าการเข้าระบบ Home Isolation ของภาครัฐ จะมีการจัดส่งยา เครื่องวัดออกซิเจน เครื่องวัดไข้ และอาหาร 3 มื้อให้ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว มีข้อร้องเรียนไม่น้อยว่าการจัดส่งของภาครัฐล่าช้า ดังนั้น การเตรียมชุดสุขภาพของเอกชนเพื่อดูแลลูกบ้านของตัวเองก่อนจึงช่วยเหลือได้มาก
3.หน่วยงานติดตามสุขภาพ
อีกหนึ่งประเด็นที่ลูกบ้านผู้ติดเชื้อกังวลคือ หากสภาวะผู้ป่วยเริ่มขยับจากระดับสีเขียวเป็นสีเหลืองซึ่งทำให้ต้องเข้าระบบหาเตียงในโรงพยาบาลจะทำอย่างไร โดยเฉพาะถ้าผู้ป่วยอาศัยอยู่คนเดียวและไม่มีผู้ช่วยติดต่อประสานงานให้
ประเด็นนี้นิติบุคคลหลายแห่งจะทำหน้าที่พิเศษช่วยเหลือลูกบ้าน ช่วยประสานงานถามไถ่อาการ ไปจนถึงช่วยหาเตียง เช่น LPP (บริษัทในเครือ LPN) หรือ พลัส พร็อพเพอร์ตี้ มีนโยบายช่วยติดต่อประสานหาเตียงอีกแรงหนึ่งหากลูกบ้านขยับเป็นผู้ป่วยสีเหลือง หรือ พรีโม มีทีม Origin Health Buddy เป็นทีมฉุกเฉินพร้อมช่วยเหลือลูกบ้านที่ติดเชื้อได้ตลอด 24 ชั่วโมง
4.ดูแลจิตใจ
อีกเรื่องที่หลายคนอาจลืมนึกถึงคือการดูแล “จิตใจ” ของผู้ป่วย ประเด็นนี้ MQDC มีตัวอย่างการสร้างมาตรการรองรับคือ แนะนำให้ลูกบ้านใช้แอปพลิเคชัน OOCA (อูก้า) ซึ่งสามารถขอคำปรึกษาจากจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมถึงบริษัทจะมีชุด Hobby Kit ให้ผู้ป่วยกักตัวด้วย สำหรับหากิจกรรมทำในบ้านแก้เครียด เช่น ชุดปลูกต้นไม้ DIY
5.จัดการสุขภาวะภายในอาคาร
นอกจากตัวผู้ป่วยเองแล้ว อสังหาฯ ยังต้องจัดการการอยู่ร่วมกันให้มีสุขภาวะที่ดี โดยหลายแห่งมีมาตรการเพิ่มเติม เช่น มั่นคงเคหะการ เพิ่มถังขยะสีแดงสำหรับขยะติดเชื้อและรณรงค์ให้ลูกบ้านใช้ถุงขยะสีแดงแยกขยะติดเชื้อเพื่อความปลอดภัย บางแห่งมีการกำหนดให้ผู้ป่วยที่อาจจะต้องส่งตัวเข้าพบแพทย์ขึ้นลงลิฟต์เฉพาะที่กำหนด และมีการพ่นฆ่าเชื้อโถงทางเดินและลิฟต์หลังผู้ป่วยใช้งาน สร้างสุขภาวะที่ดีและทำให้ลูกบ้านทั้งหมดสบายใจในการอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อ