เสนอขุด “คลองบายพาส” ฝั่งกรุงเทพฯ ตะวันออก แก้ปัญหาน้ำท่วม-ใช้ประโยชน์ที่ดินยาก

มูลนิธิคนรักเมืองมีนร่วมกับหอการค้าไทย-จีนตั้งคณะกรรมการฯ ศึกษาและเสนอโครงการขุด “คลองบายพาส” ฝั่งกรุงเทพฯ ตะวันออกผ่านเขตคลองสามวา มีนบุรี ลาดกระบัง แก้ปัญหาน้ำท่วม แทนการกำหนดพื้นที่ขาวทแยงเขียวเป็นฟลัดเวย์ ซึ่งทำให้ใช้ประโยชน์ที่ดินได้ยาก

ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ ถูกกำหนดเป็น “ฟลัดเวย์” รับน้ำท่วมมาช้านาน แต่จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี และสายสีส้มตะวันออก ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี อยู่ระหว่างก่อสร้าง จนถึงการลงทุนในเขต EEC และสนามบินสุวรรณภูมิ ทำให้กลุ่มนักธุรกิจและประชาชนที่มีที่ดินในฟากตะวันออกของกรุงเทพฯ ต้องการปรับโมเดลฟลัดเวย์ในพื้นที่ให้เป็นกิจจะลักษณะมากกว่าเป็นที่รับน้ำล้น และไม่สามารถใช้ประโยชน์อื่นได้นอกจากทำเกษตรกรรม

“วิชาญ มีนชัยนันท์” ประธานมูลนิธิคนรักเมืองมีน ร่วมกับหอการค้าไทย-จีน และกรุงเทพมหานคร เปิด “คณะกรรมการศึกษาการพัฒนาเมืองฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ภายหลังการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มและสายสีชมพู” เริ่มการศึกษาเมื่อประมาณ 7 เดือนก่อน โดยมีการเชิญนักธุรกิจและผู้นำชุมชนร่วมพูดคุยกับนักวิชาการด้านผังเมือง

แนวรถไฟฟ้าสองสายที่จะเข้ามาในเขตตะวันออกของกรุงเทพฯ

รวมถึงมีการสำรวจความเห็นประชาชน 3,000 คนใน 6 เขตฝั่งตะวันออกกรุงเทพฯ ได้แก่ คันนายาว สะพานสูง คลองสามวา มีนบุรี ลาดกระบัง และหนองจอก เพื่อรับฟังความต้องการการพัฒนาของประชาชนในพื้นที่

การศึกษาครั้งนี้นำเสนอโดย “ผศ.ดร.เพชรลัดดา เพ็ชรภักดี” หนึ่งในคณะกรรมการฯ โดยเป็นอาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

ส่วนผสมย่านการค้า-พื้นที่สีเขียว

จากการสำรวจประชาชน 3,000 คนใน 6 เขตดังกล่าว ดร.เพชรลัดดาเสนอผลความต้องการของประชาชนในแต่ละเขต ดังนี้

คลองสามวา – ถูกกำหนดเป็นพื้นที่ฟลัดเวย์ในขณะนี้ ทำให้ประชาชนต้องการระบบป้องกันน้ำท่วมที่ดีขึ้น

หนองจอก – ต้องการเป็นย่านที่พักอาศัยแนวราบชั้นดี ไม่ต้องการคอนโดมิเนียมหรือตึกสูง ต้องการคงความเป็นย่านการเกษตร มีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ยังคงเป็นพื้นที่สีเขียว อากาศดี ไม่แออัด

มีนบุรี – ต้องการยกระดับเป็นศูนย์ธุรกิจแห่งกรุงเทพฯ ตะวันออก จากปัจจุบันมีแนวโน้มเช่นนั้นอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นแหล่งการค้า รวมถึงเป็นแหล่งที่พักอาศัยทั้งแนวราบแนวสูง

ลาดกระบังต้องการการพัฒนาที่เชื่อมโยงกับสนามบินสุวรรณภูมิ (Photo : Shutterstock)

ลาดกระบัง – ต้องการเป็นชุมชน Smart City รองรับความเป็น “เมืองการบิน” ของสนามบินสุวรรณภูมิได้ครบวงจร ตอบโจทย์ได้ทั้งการท่องเที่ยว โรงแรม คลังสินค้า รวมถึงมีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง รองรับด้านการศึกษาอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม เขตลาดกระบังเผชิญปัญหา 2 ประการ คือ 1.อยู่ในแนวเขตปลอดภัยด้านการบิน พัฒนาตึกสูงไม่ได้ แต่ที่ดินกลับมีราคาสูง และ 2.อยู่ในแนวฟลัดเวย์น้ำท่วม

สะพานสูง – ต้องการศูนย์ธุรกิจใหม่ๆ เช่น ตลาดค้าส่ง โดยเปรียบเทียบโมเดลกับตลาดไทที่เป็นแหล่งรวมสินค้าของสดทางเหนือของกรุงเทพฯ

คันนายาว – ต้องการระบบถนนที่ดีขึ้น เพราะเป็นเขตที่มีซอยตันมาก การเดินทางไม่สะดวก

ด้านภาพรวมของทุกเขตมีความต้องการการพัฒนาร่วมกัน ได้แก่ 1.โรงพยาบาล 2.นิคมอุตสาหกรรมไฮเทคปลอดมลพิษ 3.ตลาดกลางสินค้า 4.สวนสาธารณะ 5.โรงเรียน 6.ถนน

 

ติดล็อกพื้นที่ขาวทแยงเขียวเพราะเป็น “ฟลัดเวย์”

ดร.เพชรลัดดา นำเสนอต่อว่า ปัจจุบันกรุงเทพฯ ยังบังคับใช้ผังเมืองรวมปี 2556 ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีพื้นที่ขาวทแยงเขียวบริเวณกว้างพาดผ่านเขตคลองสามวา มีนบุรี หนองจอก และลาดกระบัง เพราะฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ เป็นที่ลุ่มที่เหมาะกับการเป็นพื้นที่รับน้ำมาแต่เดิม จึงถูกกำหนดให้เป็นฟลัดเวย์รับน้ำและเป็นทางระบายน้ำหากเกิดน้ำท่วมน้ำหลากจากทางเหนือ

ผังเมือง 2556 (ฉบับปัจจุบัน) เทียบกับร่างผังเมืองใหม่ของกรุงเทพฯ (ที่มา : คณะกรรมการฯ)

โดยขณะนี้กรุงเทพฯ มีร่างผังเมืองใหม่รอประกาศใช้ พื้นที่ขาวทแยงเขียวถูกลดขนาดลงแต่ยังคงพาดผ่านเขตคลองสามวา มีนบุรี และลาดกระบัง แม้เขตที่เป็นสีขาวทแยงเขียวจะลดลง แต่ก็ยังมีอยู่ ซึ่งทำให้ผู้ที่มีที่ดินในเขตสีนี้จะใช้ประโยชน์อื่นไม่ได้นอกจากทำเกษตรกรรม

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของกรุงเทพฯ ก็เป็นเรื่องสำคัญ คณะกรรมการฯ จึงมองว่าควรจะหาโมเดลอื่นในการระบายน้ำฝั่งตะวันออก มากกว่าการมีแก้มลิงเก็บน้ำและคันกั้นน้ำไม่ให้ทะลักเข้าไปในกรุงเทพฯ ชั้นใน ซึ่งทำให้น้ำที่ไหลผ่านฝั่งตะวันออกกรุงเทพฯ ไหลเอ่ออย่างไร้ทิศทางในพื้นที่และระบายออกอ่าวไทยได้ช้า

 

เสนอขุด “คลองบายพาส” แบบซัปโปโร-ดัลลัส

ดร.เพชรลัดดากล่าวว่า โมเดลที่มองว่าเหมาะสมกับพื้นที่คือการขุดคลองไว้เป็นทางระบายน้ำ โดยยกตัวอย่างคลองที่ซัปโปโร ประเทศญี่ปุ่น และที่ดัลลัส ประเทศสหรัฐอเมริกา

คลองระบายน้ำรับมือน้ำท่วมของซัปโปโร นำเสนอโดย ดร.เพชรลัดดา เพ็ชรภักดี

โมเดลคลองบายพาสเป็นการขุดคลองกว้างไว้สำรองรับน้ำ ในหน้าน้ำปกติ น้ำจะเป็นคลองเส้นเล็กๆ เท่านั้น ระหว่างสองข้างทางคลองที่ซัปโปโรเป็นพื้นที่สีเขียว มีทางจักรยาน ไว้เป็นพื้นที่สาธารณะ ด้านบนบริเวณสันคลองสองข้างเป็นถนนสัญจร ในหน้าน้ำหลาก คลองทั้งหมดจะใช้ระบายน้ำได้อย่างเต็มที่

จึงเสนอว่าบริเวณฟลัดเวย์ขาวทแยงเขียวปัจจุบัน ควรจะมีการขุดคลองบายพาสกว้าง 300 เมตร และมีพื้นที่ริมคลองอีกฝั่งละ 100 เมตร ยาวประมาณ 60 กิโลเมตร โดยพื้นที่ริมคลองนี้อาจจะเป็นพื้นที่ให้เช่าทำนาตามบริบทเมืองไทย หรือให้สัมปทานทำโซลาร์ฟาร์มหรือวินด์ฟาร์ม บางช่วงอาจเว้นเป็นที่สันทนาการสาธารณะ สามารถทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้

โมเดลการขุดคลองบายพาสแก้น้ำท่วม เสนอโดยคณะกรรมการฯ

คลองนี้ด้านบนรับน้ำจาก จ.ปทุมธานี ด้านล่างจะเชื่อมต่อกับ จ.สมุทรปราการ ซึ่งต้องคิดหาโมเดลเพื่อรับน้ำต่อไปออกอ่าวไทย ทั้งนี้ จ.สมุทรปราการ จะมีคลองส่งน้ำสุวรรณภูมิเป็นที่รับน้ำระบายน้ำอยู่แล้ว

บริเวณที่เหมาะจะขุดคลองนั้น คณะกรรมการฯ มองว่าจะต้องศึกษาเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้กระทบบ้านเรือนอยู่อาศัยให้น้อยที่สุด และถ้าหากโมเดลนี้เป็นจริง กรุงเทพฯ มีคลองระบายน้ำแล้วก็อาจขอให้มีการปรับผังเมืองปลดล็อกพื้นที่ขาวทแยงเขียวออกได้

 

ประชาชนต้องเสียสละพื้นที่ขุดคลอง?

คำถามสำคัญข้อต่อมาคือ ใครจะยอมให้มีการขุดคลองในพื้นที่ของตนเอง? โดยคลองกว้าง 500 เมตร ยาว 60 กิโลเมตรนี้ต้องตัดผ่านที่ดินประชาชนกว่า 70,000 แปลง

ดร.เพชรลัดดากล่าวว่า เนื่องจากพื้นที่ที่ศึกษาเป็นที่ดินขาวทแยงเขียวซึ่งทำได้เฉพาะเกษตรกรรมอยู่แล้ว จึงเสนอว่า การเสียที่ดินบางส่วนจะทำให้ที่ดินที่ยังเหลืออยู่ของประชาชนมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ตามโมเดลการนำที่ดินข้างคลองไปใช้ทำประโยชน์ และมีถนนตัดผ่าน

หากภาครัฐเห็นด้วยกับแนวทางนี้ มองว่าไม่ควรใช้วิธี “เวนคืน” ที่ดิน เพราะถึงแม้ว่าประชาชนจะได้ค่าชดเชยแต่อาจต้องย้ายออกไปไกลจากพื้นที่เดิมที่คุ้นเคย วิธีที่มองว่าควรใช้และเป็นไปได้มากกว่าคือ “การจัดรูปที่ดิน” ร่วมกับการจัดตั้ง “บรรษัทร่วมทุนเอกชน” ของคนในพื้นที่ ให้ทุกคนที่เสียที่ดินทำคลองบายพาสเป็นผู้ถือหุ้นในบรรษัทที่บริหารจัดการพื้นที่ริมคลอง นำกำไรมาปันผลให้ผู้ถือหุ้น