ถ้าอยากใช้สมาร์ทโฟน แต่เอื้อมไม่ถึงหรือเมิน “ไอโฟน” และไม่ใช่กลุ่มติดแชตแบบแบล็คเบอร์รี่ หรือบีบี คำตอบชัดเจนของตลาดนี้อยู่ที่ “แอนดรอยด์” ที่เปิดกว้างให้ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนใช้ฟรี จนทำให้สนามนี้แทบจะเลือดสาด เมื่อแบรนด์ที่เหลืออยู่นับสิบแบรนด์ ต่างวิ่งเข้าใส่ “แอนดรอยด์” แต่โจทย์สำคัญคือจะหาความต่างในความเหมือนที่มีแอนดรอยด์เดียวกันได้อย่างไร และสุดท้ายใครจะอยู่หรือจะไป
ปี 2554 บริษัทวิจัยจีเอฟเคและค่ายโทรศัพท์มือถือ คาดกันว่าตลาดโทรศัพท์มือถือจะมียอดจำหน่ายทั้งหมด 12 ล้านเครื่อง มูลค่าตลาดรวม 37,000 ล้านบาท แม้สมาร์ทโฟนจะมีส่วนแบ่งจำนวนเครื่องเพียงประมาณ 1-2 ล้านเครื่อง หรือประมาณ 10-20% แต่มูลค่าสูงถึง 40% หรือประมาณ 14,800 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ 60% นั้นเป็นการแบ่งกันระหว่างโทรศัพท์ธรรมดา 30% และฟีเจอร์โฟน 70% ที่ได้เคลียร์แล้วว่ามีผู้เล่นที่ได้ส่วนแบ่งตลาดสูงสุด คือ โนเกีย ซัมซุง จีเนท และไอ-โมบาย ด้วยจุดเด่นเรื่องราคา 2 ซิม และแชต
นี่จึงเป็นคำตอบที่ชัดเจนจากโนเกีย และซัมซุงที่ประกาศเจาะเซ็กเมนต์ที่แข็งแรงนี้อย่างสม่ำเสมอ มาตั้งแต่ปี 2010 และล่าสุดแอลจีกระโดดลงสนาม ด้วยรุ่น QWERTY ที่เกิดมาเพื่อชาวแชต และเน้นสีสันสำหรับวัยรุ่น รวมถึง 2 ซิม ส่วนเฮาส์แบรนด์ทั้งสองก็เน้นเอาดีทางด้านราคาที่ถูกลงเรื่อยๆ
ไฮไลต์ของธุรกิจโทรศัพท์มือถือในปี 2011 จึงอยู่ที่ตลาดสมาร์ทโฟนที่มาร์จิ้นต่อเครื่องสูง และเติบโตสูงจนคุ้มต่อการทำตลาด แบ่งเป็น 2 ตลาดคือกลุ่ม Mainstream และกลุ่มไฮเอนด์ ไฮเทค โดยผู้เล่นที่แข็งแรงในตลาดนี้คือไอโฟน และบีบี ส่วนที่เหลือกระจายไปยังแบรนด์อื่นๆ เช่น ซัมซุง เอชทีซี แอลจี และที่กำลังตามมาอย่างโมโตโรล่า เอเซอร์ เดลล์ หรือแม้แต่เฮาส์แบรนด์ ที่ทุกคนต่างมี ”แอนดรอยด์” เป็นอาวุธ
กลายเป็นสงครามของกลุ่มแอนดรอยด์ ที่ต้องจับตาเพราะกำลังเริ่มเปิดศึก เพื่อหาความต่างให้กับแบรนด์ของตัวเอง เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนที่ใช้แอนดรอยด์แล้วจะขายได้
แอนดรอยด์ Mainstream ถูกไม่พอต้องหาจุดต่างเพิ่ม
“สมชัย สิทธิชัยศรีชาติ” กรรมการผู้จัดการ บริษัทเอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ตัวแทนจำหน่ายสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ ในแบรนด์ เอเซอร์ โมโตโรล่า เอชทีซี อัสซุส การ์มิน รวมทั้งบีบี คาดว่าแอนดรอยด์จะได้ส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟน 1 ใน 3 จากไอโฟน และบีบี ในปีนี้อย่างแน่นอน เพราะหลายแบรนด์ลงมาทำตลาดแบบไม่มีใครยอมใคร และที่สำคัญตลาดสมาร์ทโฟนลงมาที่กลุ่ม Mainstream ราคาไม่เกิน 10,000 บาท ที่ถึงเวลาอยากสัมผัสสมาร์ทโฟน
แอนดรอยด์เป็นตลาดของคนที่เอื้อม ”ไอโฟน” ไม่ถึง หรือกลุ่มที่ไม่ชอบแอปเปิล แต่ใครจะเลือกแบรนด์ใดนั้น ”สมชัย” บอกว่าทุกแบรนด์ต่างมีร่วมเดียวกันสำหรับ Mainstream คือ ”ราคา” ที่มีแบรนด์ให้เลือกอย่างเอเซอร์ เฮาส์แบรนด์ รวมทั้งเอชทีซีที่เริ่มปรับราคาลงมา
แฟนของเอเซอร์จะเป็นกลุ่มที่เคยใช้โน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์เอเซอร์มาก่อน และวิถีของเอเซอร์คือเริ่มทำตลาดด้วยกลยุทธ์ราคาถูกเหมือนอย่างที่เคยสำเร็จมาแล้วในตลาดคอมพิวเตอร์ ส่วนเอชทีซี นอกจากราคาที่เริ่มปรับลดลงแล้ว ยังมีกลุ่มที่เห็นว่าดีไซน์สวยและเทคโนโลยีน่าใช้ จากที่เคยเป็นเจ้าตลาดสมาร์ทโฟนในอดีต
เช่นเดียวกับแอลจี ที่ให้น้ำหนักทำตลาดสมาร์ทโฟนที่ ”สมศักดิ์ อธิศัยตระกูล” ผู้จัดการอาวุโส กลุ่มผลิตภัณฑ์โทรศัพท์มือถือ บริษัทแอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด บอกเหตุผลว่าแอลจีจะเน้นจุดขายที่แอนดรอยด์ และราคาที่ลูกค้าพึงพอใจซื้อ เพื่อฝ่ากระแสไอโฟนและบีบี กลุ่มนี้เป็นลูกค้าที่แอลจีเรียกว่าเป็นกลุ่ม Trendchaser หรือกลุ่มที่ตามเทรนด์ ที่มีอยู่ประมาณ 30% ในตลาดนี้
แนวโน้มของสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ในมุมมองของ ”สมศักดิ์” ยังคาดว่าอีก 4 เดือนจะเห็นราคาต่ำกว่าหมื่น มาอยู่ที่ 6,000-7,000 บาท จากปีที่แล้วเกินหมื่น และมีโลคัลแบรนด์อีกจำนวนมาก ยิ่งทำให้ตลาดเซ็กเมนต์นี้แข่งขันกันหนักยิ่งขึ้น
ความเตรียมพร้อมสำหรับแบรนด์ใหญ่ทั้งแอลจี และเอชทีซีต่างเร่งสร้างแบรนด์ และเพิ่มช่องทางจำหน่ายเพื่อให้ถึงประตูบ้านลูกค้ามากที่สุด อย่างกรณีแอลจี โฟกัสชัดเจนว่าเป็นมือถือแอนดรอยด์ โดยไม่มีแผนนำวินโดวส์โฟน 7 มาปน เพราะยังไม่เห็นว่าเป็นระบบปฏิบัติการที่ลูกค้าส่วนใหญ่ต้องการ
ส่วนเอชทีซีนอกจากพยายามสร้างแบรนด์ให้เข้าถึงวัยรุ่นแล้ว ยังได้เน้นเพิ่มช่องทางการจำหน่ายด้วยการแต่งตั้งบริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ให้เป็นตัวแทนจำหน่ายเพิ่มอีกรายจากเดิมที่มีบริษัทเอสไอเอสอยู่แล้ว ซึ่งนอกจากเพิ่มช่องทางขายยังเพิ่มจุดช่วยเสร้างแบรนด์มากขึ้น
“สมชัย” ยังยกตัวอย่างของโมโตโรล่า ที่พยายามกลับเข้ามาทำตลาดใหม่ ด้วยจุดยืนชัดเจนว่าหวังพึ่งแอนดรอยด์ให้โมโตโรล่ากลับมาเกิดใหม่อีกครั้ง แค่นั้นไม่พอโมโตโรล่ายังหาจุดขายเพื่อตลาดเฉพาะกลุ่มให้ได้อย่างรุ่น Defy ที่มีคุณสมบัติพิเศษกันฝุ่น กันน้ำ และรอยขีดข่วน
“สมชัย” บอกว่าตลาดนี้ซัมซุงเป็นแบรนด์ที่ต้องจับตา โดยเฉพาะเมื่อล่าสุดได้ร่วมพัฒนากับกูเกิลอย่างใกล้ชิดสำหรับแอนดรอยด์ล่าสุด 2.3 ที่กูเกิลเลือกฮาร์ดแวร์ของซัมซุง กาแล็กซี่ เอส ที่ทำยอดขายให้ซัมซุงได้สูง เป็นโมเดลผลิต Nexus S ซึ่งจะทำให้ซัมซุงได้เครดิตและได้ 2.3 ก่อนเป็นความได้เปรียบในการทำตลาดก่อนแบรนด์อื่นประมาณ 6 เดือน เหมือนอย่างที่เอชทีซีเคยได้มาก่อนในช่วง Nexus One เมื่อต้นปี 2010 แต่เมื่อเอชทีซีหันไปร่วมมือกันวินโดวส์โฟน 7 จึงทำให้กูเกิลเลือกจับมือกับซัมซุงแทน
You are what your smartphone | |
ไอโฟน | กลุ่มสารพัดประโยชน์ บันเทิง ทำงาน โซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค |
เแบล็กเบอรี่ | กลุ่มนักธุรกิจ ใช้อีเมล กลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน แชต โซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค |
แอนดรอยด์ | ไม่ชอบแอปเปิล หรืออยากได้แบบไอโฟน และขอซื้อถูกกว่า ทุกแบรนด์จึงมีกลยุทธ์ชัดเรื่องราคา |
ซัมซุง | แบรนด์ เทคโนโลยี |
แอลจี | ราคา |
เอเซอร์ | เป็นกลุ่มลูกค้าเดิมของคอมพิวเตอร์เอเซอร์ |
เอชทีซี | ลูกค้าเดิมอย่างกลุ่ม Geek และชอบดีไซน์ |
อัซซุส และการ์มิน | กลุ่มที่ชอบแผนที่ |
โมโตโรล่า | กลุ่มที่เคยชอบแบรนด์นี้ และเชื่อถือในเทคโนโลยี |
อัดแรงด้วย Dual core 3มิติ ดึง Geek
กลุ่มไฮเทค ไฮเอนด์ ที่กำลังใจจดจ่อรอ ”ไอโฟน 5” ที่ยังไม่รู้ว่าแอปเปิลจะเปิดตัวเมื่อไหร่ แต่กลุ่มสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ก็ไม่ได้มองที่ Mainstream เท่านั้น และพยายามอัพแบรนด์ด้วยเทคโนโลยี
ปี 2010 สมาร์ทโฟนระดับบน เล่นกันที่โปรเซสเซอร์ 1 GHz ก็ว่าหรูกันแล้ว อย่างไอโฟน 4 และเอชทีซี ดีไซร์ HD หรือแม้แต่เป้าหมายของวินโดวส์โฟน 7 ที่มุ่งไปที่สมาร์ทโฟนที่รันบน 1GHz และแล้วในเดือนธันวาคม แอลจีก็เปิดตัวสมาร์ทโฟนตัวแรกของโลกที่รันบน Dual Core หรือ 2 ชิป ชิปละ 1GHz ในรุ่น LG Optimus 2X นอกจากนี้ยังมีโตโรล่า Atrix ที่กำลังตามมา ขณะที่โนเกียยังมีข่าวลือเพียงว่าจะเปิดตัวช่วงปลายปี
สเป็กเครื่องที่เพิ่มขึ้น ทำให้กลายเป็นโอกาสของสมาร์ทโฟน 3 มิติ ซึ่งมีการพูดกันมาตั้งแต่ต้นปี 2010 โดยเริ่มจาก ”ชาร์ป” แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของญี่ปุ่น แต่ยังเล็กมากในตลาดโลก ตามมาด้วย ”ซัมซุง” ค่ายมือถือจากเกาหลี แต่ด้วยสเป๊กของเครื่องที่ยังต้องรอการพัฒนารับกับการแสดงผลแบบ 3 มิติ ทำให้ทั้งสองแบรนด์ใช้เวลาเกือบปี จนต้นปี 2011 เริ่มมีภาพหลุดของ ชาร์ป Lynx SH-03C และแอลจีก็มี Optimus 3D ที่เพิ่งโชว์ตัวเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ มาพร้อมกับ Dual –lens เพื่อบันทึกภาพ 3 มิติ และแน่นอน
“สมชัย” บอกว่าDual Core และ 3มิติเป็นอนาคตของสมาร์ทโฟนกลุ่มนี้ เพราะความต้องการของลูกค้าต้องการใช้สมาร์ทโฟนให้คุ้มค่าที่สุด แน่นอนว่าแอพพลิเคชั่นในอนาคต และคอนเทนต์ต่างเร่งพัฒนาเป็นภาพ 3มิติ ไม่ว่าจะเป็นแผนที่ วิดีโอ และเกม ที่ในแอนดรอยด์มาร์เก็ตก็มีให้บริการอยู่แล้วบ้าง
นี่คือปรากฏการณ์ในตลาดสมาร์ทโฟน ที่หลายแบรนด์กำลังออกแรงกันเต็มที่ แม้จำนวนมากจะมีแอนดรอยด์เป็นที่พึ่งให้มีที่ยืนในตลาด แต่ในความเหมือนต้องมีความต่างๆ เท่านั้นจึงจะทำให้เป็นผู้ชนะในตลาดนี้
รูปแบบโทรศัพท์มือถือประเภทฟีเจอร์โฟน ที่ปี 2554 ทัชโฟนจะมีส่วนแบ่งตลาดถึง 50%
ปี 2553 | |
พื้นฐาน | 50% |
QWERTY | 15% |
ทัชโฟน | 35% |
ปี 2554 | |
พื้นฐาน | 30% |
QWERTY | 20% |
ทัชโฟน | 50% |
ส่วนแบ่งตลาดระบบปฏิบัติการของสมาร์ทโฟน ที่แอนดรอยด์จะเพิ่มขึ้น 100% ในปี 2554
ปี 2553 | |
แอนดรอยด์ | 12% |
I-OS (ไอโฟน) | 12% |
RIM (แบล็คเบอร์รี่) | 21% |
ซิมเบียน (โนเกีย) | 44% |
อื่นๆ | 11% |
ปี 2554 | |
แอนดรอยด์ | 25% |
I-OS (ไอโฟน) | 12% |
RIM (แบล็คเบอร์รี่) | 21% |
ซิมเบียน (โนเกีย) | 35% |
อื่นๆ | 7% |
ส่วนแบ่งตลาดโดยรวมของโทรศัพท์มือถือทุกประเภท
โนเกีย | 31% |
ซัมซุง | 24.1% |
ไอโมบาย | 15.1% |
จีเนท | 12.3% |
แอลจี | 5.9% |
อื่นๆ | 11.6% |
ส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟนราคาสูงกว่า 20,000 บาท แม้โนเกียจะมีส่วนแบ่งสูงสุดแต่ไอโฟนก็ขยับตามมาอย่างต่อเนื่อง | |
ไอโฟน | 24.2% |
บีบี | 23.7% |
โนเกีย | 27.9% |
ซัมซุง | 17.7% |
แอลจี | 3.7% |
แชมป์แต่ละกลุ่ม
- ระดับราคา 5,500 บาท โนเกียได้ส่วนแบ่งสูงสุด 61.5% ได้ส่วนแบ่งน้อยสุดที่ 18.4% ในระดับ ราคา 3,250 บาท
- ระดับราคา 7,750 บาท ซัมซุงได้สูงสุด 61.4% ต่ำสุด 11.6%ในระดับราคา 2,500 บาท
- ระดับราคา 9,750 บาท บีบี ได้สูงสุด 62.1%
ที่มา: บริษัทวิจัยจีเอฟเค