แคมเปญลาออก

“อย่างนี้ต้องลาออก จะขอลาออกรู้แล้วรู้รอดไป…” ท่อนฮุกเพลงลาออกของบิลลี่ โอแกน น่าจะเพลงยอดฮิตผู้บริหารหลายคนในเวลานี้ เพราะตั้งแต่ปีใหม่ผ่านมา ผู้บริหารจากหลายวงการตัดสินใจยื่นใบลาออกจากต้นสังกัดที่อยู่มานาน ทั้งๆ ที่บางคนกลายเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์องค์กรไปแล้ว

แต่ที่น่าสนใจ การลาออกจากงานของผู้บริหารระดับสูงเวลานี้ ไม่ต่างจาก “แคมเปญการตลาด” ของสินค้าไปแล้ว ยิ่งเป็นกระแสข่าวดัง สร้างการรับรู้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นเรื่องดี เพราะนี่คือฟรีมีเดียชั้นดีที่ผู้บริหารใช้ในการสร้างความจดจำใหม่ การเป็นข่าวจึงต้องทำอย่างมีเป้าหมาย รู้จักวิธีสื่อสารการตลาด รู้จักทำมาร์เก็ตติ้งกับสื่อให้เป็นด้วย

ดูอย่างการลาออกของอดีตเจ้าพ่อชาเขียว “ตัน ภาสกรนที” ที่เลือกช่วงจังหวะเวลา การใช้เครื่องมือสื่อสารอย่างมีเป้าหมาย เทคนิคการใช้ฟรีมีเดีย ที่ตันรู้จักและเข้าใจดี

กระแสข่าวลาออกของตันเริ่มเป็นกระแส หลังจบจากจากงานแถลงข่าวประจำปี ที่วิลล่า มาร็อค ปราณบุรี แม้เวลานั้นตันจะปฏิเสธ แต่เมื่อยื่นใบลาออกจริงไม่กี่วันถัดมา ข่าวของตันก็ดังกระหึ่มในทุกสื่อ ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ออนไลน์ รายการเล่าข่าวทรงอิทธิพลอย่างสรยุทธ สุทัศนะจินดา

แคมเปญลาออกยังไม่จบแค่นั้น ตัน เลือกเอาวันที่ 9 เดือน 9 ของปี เป็นวันสิ้นสุดการทำงานอย่างเป็นทางการในโออิชิกรุ๊ป และเป็นวันเดียวกับที่เขาประกาศเปิดตัวบริษัทใหม่ “ตันไม่ตัน” ทำธุรกิจเครื่องดื่ม ร้านราเม็ง คาราโอเกะ เอาฤกษ์เอาชัยและทำให้คนทั่วไปจดจำได้ง่าย

ตันรู้ดีว่า นับจากนี้น้ำหนักแบรนด์ตัน ไม่มากเท่ากับสมัยที่อยู่โออิชิ สิ่งที่ตันทำควบคู่ไปกับการธุรกิจใหม่ การเปิดทอล์กโชว์เดี่ยว “เดี่ยวกับตัน” ที่ได้ “โน้ส อุดม แต้พานิช” เจ้าพ่อเดี่ยวไมโคร โฟนเพื่อนรักต่างวัย มาเป็นโปรดิวเซอร์ การันตีได้ ว่าข่าวของเขายังไม่หายไปจากกระแสแน่ๆ

กลยุทธ์ Branded Brand โน้ส-ตัน ถูกนำมาใช้ต่อเนื่องในการโปรโมตเครื่องดื่มน้ำอัญชัญผสมเบอรี่ ยี่ห้อ Double Drink ตัวใหม่ของตันไม่ตัน ซึ่งวางขาย 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น วิดีโอคลิป โน้ส-ตัน นั่งในร้านก๋วยเตี๋ยวบรรยายสั้นๆ ถึงการทำงานร่วมกันของทั้งสอง ตามมาด้วย วิดิโอคลิป ตัน-โน้สออกสำรวจตลาด ย่อมเรียกความสนใจจากให้กับกลุ่มแฟนคลับที่ติดตามเขาในเฟซบุ๊ก และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเครื่องดื่มตัวใหม่ให้กับเขาได้มากกว่าข่าวพีอาร์ธรรมดา

โจทย์สำคัญของตัน อยู่ที่การสร้างแบรนด์ใหม่ขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายมากๆ ไม่ใช่แค่สวมหมวกกัปตันแล้วก็สร้างได้ชั่วข้ามคืน มูลค่าแบรนด์เป็นสิ่งจับต้องไม่ได้ ต้องใช้เวลาและความอดทน ต้องอาศัยเครื่องมือสื่อสารทุกรูปแบบ โซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค สื่อทีวี วิทยุ สิ่งพิมพ์ โดย เพิ่มเรื่องราวใหม่ๆ ลงไปในธุรกิจเพื่อสร้างแตกต่าง ตื่นเต้นให้กับธุรกิจใหม่ของเขา มีโน้ส อุดมแต้พาณิชย์ ช่วยสร้างเพิ่มมูลค่าให้กับแบรนด์ใหม่ ใส่ภาพของการเป็น Social Enterprise ที่บริจาครายได้ช่วยเหลือสังคม 90% ของรายได้รวม ช่วยให้ขับให้แบรนด์ใหม่ ตัน ไม่ตัน แทนที่ “โออิชิ” ในเร็ววัน

การลาออกของ “ธนา เธียรอัจฉริยะ” เจ้าของแบรนด์ “มิสเตอร์แฮปปี้” คนดังของค่ายดีแทค ก็เป็นอีกคนที่การลาออกของเขาเป็นข่าวดังไม่แพ้ตัน

แม้ธนาเติบโตมาจากสายการเงิน แต่ประสบการณ์ทำงานในผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือดีแทค ซึ่งต้องผ่านช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อขององค์กรหลายครั้ง ได้โอกาสพลิกฟื้นแบรนด์พรีเพดที่เคยตกต่ำสุดๆ กลายเป็นแบรนด์แฮปปี้ ทำให้ธนาเป็นคนหนึ่งที่เข้าใจเรื่องแบรนด์อย่างดี รู้ดีว่าผู้บริโภคและสื่อยุคนี้ต้องการอะไร

อดีตนักการเงินอย่างธนาจึงไม่ใช่ผู้บริหารสไตล์เดิมๆ ใส่สูทผูกไท แต่เป็นผู้บริหารยุคใหม่ คิดนอกกรอบ กล้าคิดกล้าทำ กล้าแสดงออก ใส่กางเกงยีนส์สะพายเป้ ชื่นชอบนักคิดนักเขียนอย่างประภาส ชลศรานนท์ มีไลฟ์สไตล์ที่เข้ากับคนรุ่นใหม่ บุกคลิกฉีกกรอบแบบนี้นอกจากจะเชื่อมโยงเข้ากับแบรนด์ดีแทค ซึ่งต้องการสร้างความแตกต่างได้อย่างลงตัว ยังเป็นแรงส่งให้ธนากลายเป็นแบบฉบับของผู้บริหารยุคใหม่ เป็นไอดอลของคนรุ่นใหม่ ที่อยากเติบโตในอาชีพแบบเขา

เมื่อธนาเลือกเดินออกจากองค์กรขนาดใหญ่อย่างดีแทค ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องที่เหนือความคาดหมายนัก เพราะธนาเองบอกกับสื่อเมื่อครั้งรับตำแหน่งรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลยุทธ์องค์กร ว่า เขาอาจอยู่ในองค์กรนี้ไม่นาน เพราะเป็นงานที่เขาไม่ถนัด

แต่การที่เขาเลือกลาออกจากโอเปอเรเตอร์มือถือเบอร์ 2 เพื่อไปร่วมกับ แม็คยีนส์ ผู้ผลิตยีนส์ท้องถิ่นเบอร์ 2 และ 3 ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้ว ที่สื่อมวลชนและทุกคนต่างมีคำถามในใจ เพราะองค์กรแตกต่างกันสุดขั้ว ทั้งตัวธุรกิจและขนาด ซึ่งเป็นเรื่องยากที่ผู้บริหารระดับเขาจะตัดสินใจทำ แต่ธนาก็เลือกทำ และด้วยความที่รู้จักและเข้าใจสื่ออย่างดี ทำให้การลาออกของธนายังคงความเป็นภาพของผู้บริหารที่กล้าคิดนอกกรอบ เป็นเนื้อหาที่เขายังคงรักษาไว้ได้อย่างไม่ตกหล่น

คนดังอีกคนที่ลาออกแล้วเป็นข่าวดัง “ดี้ นิติพงษ์ ห่อนาค” มือแต่งเพลงจากค่ายจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ที่กระแสข่าวลาออกของเขามีตั้งแต่ปลายปี
ดี้ให้เหตุผลถึงการโบกมือลาจากค่ายเพลงที่อยู่มาหลายสิบปี มาจากสถานการณ์ธุรกิจเพลงเปลี่ยน จากปัญหาเทปผีซีดีเถื่อน ดาวน์โหลด ส่งผลกระทบรายได้แกรมมี่ต้องตกภาวะลำบาก ต้องปลดคน ลดเงินเดือน และการที่จะต้องเปลี่ยนทิศทางไปทำงานแบบใหม่ในโลกดิจิตอลก็ไม่ใช่แนวทางที่เขาถนัด

ค่ายแกรมมี่ที่เคยได้ชื่อว่าเป็นผู้ก่อกำเนิดอุตสาหกรรมเพลง ที่ได้สร้างโมเดลรายได้ให้กับนักร้อง นักดนตรี คนแต่งเนื้อร้อง ทำนอง คนผลิตมิวสิกวิดีโอ นักปั้นศิลปินให้เป็นอาชีพมีรายได้ประจำมั่นคง หน้ามีตาระดับเซเลบฯ เป็นอาชีพใฝ่ฝันของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะนักแต่งเพลงที่ดังไม่แพ้นักร้อง ดี้เองก็เคยมีทั้งอัลบั้มรวมเพลงฮิต จัดคอนเสิร์ต

จนกระทั่งการมาของเทคโนโลยี ส่งผลให้คนหันดาวน์โหลดผ่านอินเทอร์เน็ตได้ฟรี ดูมิวสิกวิดิโอจาก Youtube เป็นระเบิดลูกใหญ่ที่ทำลายอาณาจักรอันรุ่งเรืองค่ายเพลงทั่วโลกล่มสลายลง และ อินเทอร์เน็ตยังได้ทำลายกลไกการตลาดแบบเบ็ดเสร็จของค่ายเพลง ด้วยการใช้สื่อดั้งเดิมวิทยุ และโทรทัศน์ โปรโมตอัลบั้มทุกวันจนกลายเพลงฮิตติดหูในเวลาอันรวดเร็ว แต่เมื่อผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาบริโภคข้อมูล เสพเพลง ดูทีวีโลกในโลกออนไลน์อันเปิดกว้าง สร้างทางเลือกใหม่ๆจากนักร้อง นักดนตรีหน้าใหม่ ที่สามารถแจ้งเกิดได้ชั่วข้ามคืน การหลั่งไหลของกระแสเคป๊อป ธุรกิจเพลงที่เคยมีอำนาจต่อรองมหาศาลต้องล่มสลายลง เกิดเป็นโมเดลธุรกิจเพลงรูปแบบใหม่ที่ค่ายเพลงไม่คุ้นเคย

ธุรกิจก็คือธุรกิจ เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน พี่เบิร์ดที่เคยออกอัลบั้มขายได้เป็นล้านแผ่นกลายเป็นอดีตทีไม่หวนคืน ค่ายเพลงแกรมมี่จึงต้องปรับตัว ลดน้ำหนักธุรกิจเพลง หันไปแสวงหารายได้จากธุรกิจอื่นๆ ดิจิตอล คอนเสิร์ต โชว์บิซ โฮมช้อปปิ้ง แสดงคอนเสิร์ต เอเยนต์ทัวร์ ธุรกิจกีฬา แอนนิเมชั่น ผลิตละคร ทีวีดาวเทียม โรงละคร อันเป็นที่มาของโครงสร้าง ที่เน้นความหลากหลาย พร้อมกับการประกาศรับคนเพิ่ม 200 คน เข้ามาเสริมสายธุรกิจใหม่ ทดแทนธุรกิจเดิมที่ปลดคนไปในจำนวนเท่าๆ กัน

ดี้เองรู้ดีว่าอาชีพนักแต่งเพลงไม่เหมือนอดีตแล้ว ยิ่งเมื่อไม่มีนามสกุลแกรมมี่ห้อยท้าย น้ำหนักแบรนด์ของเขาย่อมลดลง การสื่อสารระหว่างเขากับสื่อและแฟนคลับ ก็ยิ่งเป็นเรื่องจำเป็น ดี้กลับมาใช้ทวิตเตอร์ http://twitter.com/deesakoo อีกครั้ง หลังจากหยุดใช้ไปพักใหญ่ เพื่อสื่อสารกับแฟนคลับที่ติดตามเขาอยู่ และช่องทางนี้ก็จำเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับอาชีพนักแต่งเพลงอิสระ ไม่สังกัดค่าย หรืออนาคต หากเขาผันตัวไปทำงานการเมือง เหมือนอย่างที่เขาเคยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภามาแล้ว แคมเปญลาออกก็ยิ่งจำเป็น