รัฐบาลจีน กำลังเข้าจัดระเบียบธุรกิจต่างๆ เป็นวงกว้างทั้งสายเทคโนโลยี การศึกษา อสังหาฯ เกมออนไลน์ ไปจนถึงวงการบันเทิง เเละคิวต่อไปจะเป็น ‘ธุรกิจเสริมความงาม’
สัญญาณเตือนนี้ มาจาก People’s Daily สื่อที่เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลจีน ที่เพิ่งตีพิมพ์บทความล่าสุด เรียกร้องให้มีการออกกฎ ‘ควบคุมโฆษณา’ เกี่ยวกับการทำศัลยกรรมความงาม ขั้นตอนและการรักษาต่างๆ โดยปัจจุบันมีคลินิกเสริมความงามในจีนหลายเเห่ง กล่าวอ้างเกินจริงหรือนำเสนอข้อมูลเท็จ
“โฆษณาเสริมความงาม ถูกเผยเเพร่ในทุกช่องทาง ตั้งแต่โปสเตอร์ที่ป้ายรถเมล์ สถานีรถไฟใต้ดิน ไปจนถึงโซเชียลมีเดีย เเทรกอยู่ในคอนเทนต์ต่างๆ ทั้งรายการวาไรตี้ทางโทรทัศน์ ภาพยนตร์ เเละการโปรโมตผ่านไลฟ์สตรีม”
ในบทความของ People’s Daily ระบุว่า โฆษณาบางชิ้นได้เชื่อมโยงการมีรูปลักษณ์ที่ดูดีกับ “คุณภาพชีวิตที่ดี” “ความพยายาม” เเละ “ความสำเร็จ” อีกทั้งยังมีการสร้างเรื่องราวเกี่ยวกับการทำศัลยกรรมเสริมความงามที่เกินความจริง อย่าง ‘ความสวยเปลี่ยนโชคชะตา’ และบิดเบือนแนวความคิดเกี่ยวกับความสวยความงาม
โดยการวิพากษ์วิจารณ์ธุรกิจศัลยกรรมเสริมความงามครั้งนี้ เกิดขึ้นในระหว่างที่รัฐบาลจีนกำลังเข้ามาจัดระเบียบธุรกิจต่างๆ ตั้งแต่ธุรกิจเทคโนโลยี การศึกษา ไปจนถึงอสังหาริมทรัพย์ เพื่อเสริมสร้างการควบคุมเศรษฐกิจและสังคมหลังจากปล่อยให้ธุรกิจเหล่านี้ทำเงินมหาศาลมาหลายปี
การเข้ามากำกับดูแลภาคเอกชนอย่างเข้มงวดของทางการจีน สร้างความกังวลอย่างมากในหมู่นักลงทุน เเละยังต้องจับตามองว่าวธุรกิจไหนจะเป็นรายต่อไปที่รัฐบาลจะเข้ามา ‘จัดระเบียบ’
ในช่วงเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา หน่วยงานกำกับดูแลตลาดของจีน ได้ร่างแนวทางควบคุมการโฆษณาของธุรกิจเสริมความงาม โดยระบุว่า “โฆษณาเหล่านี้ ทำให้ผู้คนเกิดวิตกกังวลเกี่ยวกับรูปลักษณ์ภายนอก”
ช่วงไม่กี่ปีมานี้ เทรนด์ความนิยมทำศัลยกรรมความงามในจีน เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการทำตาให้โตขึ้นและเสริมจมูก ซึ่งธุรกิจเสริมความงามก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดว่าไม่ยอมเตือนผู้บริโภคว่ามีความเสี่ยงใดบ้าง
โดยในเดือนก.ค. อินฟลูเอนเซอร์ออนไลน์วัย 33 ปี เสียชีวิตจากอาการแทรกซ้อนหลังการดูดไขมันที่ไม่ปลอดภัย จนเป็นข่าวดังในประเทศจีน เเละจุดกระเเสการควบคุมธุรกิจศัลยกรรมความงามขึ้นมาอีกครั้ง
- จีนเอาจริง! กำจัด “ไอดอลหนุ่มหวาน” พ้นจอ มองว่าเลียนแบบเกาหลีใต้ เป็นภัยคุกคาม
- ทางการจีนสั่ง Alipay แยกหน่วยธุรกิจ “สินเชื่อรายย่อย” พร้อมโอนดาต้าให้บริษัทที่รัฐร่วมถือหุ้น
- ‘จีน’ ออกข้อกำหนดให้เล่น ‘เกม’ ไม่เกิน 3 ชั่วโมง/สัปดาห์ สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี
ที่มา : Reuters , straitstimes