‘ความเสี่ยง’ จากการทำงานหนัก เครียด-มลภาวะ คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกเกือบ 2 ล้านคนต่อปี

Photo : Shutterstock
องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เปิดเผยรายงานที่ทำร่วมกันเกี่ยวกับผลกระทบจากการทำงานของประชากรโลก โดยระบุว่า โรคและการบาดเจ็บจากการทำงาน มีส่วนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 1.9 ล้านคน ในปี 2016

โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผู้คนเสียชีวิตจากการทำงาน มีหลายอย่าง ตั้งแต่ความเครียดสะสม มลพิษทางเสียง การสัมผัสกับมลพิษทางอากาศในสถานที่ทำงาน สารก่อให้เกิดโรคหอบหืดเเละสารก่อมะเร็ง

อีกหนึ่งความเสี่ยงที่สำคัญก็คือชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานเกินไปซึ่งเชื่อมโยงกับการเสียชีวิตถึง 750,000 ราย ส่วนการสัมผัสมลพิษทางอากาศในสถานที่ทำงาน (เช่น ฝุ่นละออง ก๊าซ และควัน) เชื่อมโยงกับการเสียชีวิตราว 450,000 ราย

ประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิกตะวันตก มีจำนวนผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ด้วยสาเหตุเกี่ยวข้องกับการทำงานมากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย และมีอายุเฉลี่ยที่ 54 ปี

เป็นเรื่องน่าตกใจที่เราได้เห็นคนจำนวนมากต้องถูกฆ่าตายด้วยงานของพวกเขาดร.เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการ WHO กล่าว

เราหวังว่ารายงานฉบับนี้ จะกระตุ้นไปยังประเทศและธุรกิจต่างๆ ให้ปรับปรุงและปกป้องสุขภาพและความปลอดภัยของคนงาน

โรคและการบาดเจ็บต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานนั้น ได้ส่งผลให้เกิดประชาชนเกิดความเครียด ประสิทธิภาพเเละคุณภาพชีวิตลดลง และอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อรายได้ครัวเรือนซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ

(photo : Photo by Andrea Piacquadio from Pexels)

เเม้อัตราการเสียชีวิตจากการทำงานต่อประชากรทั่วโลกจะลดลง 14% ในช่วงปี 2000-2016 ซึ่งอาจสะท้อนถึงการปรับปรุงด้านสุขภาพและความปลอดภัยในที่ทำงานที่มีมากขึ้น

เเต่อย่างไรก็ตาม อัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองที่เกี่ยวข้องกับการมีชั่วโมงทำงานยาวนานเกินไป กลับเพิ่มขึ้นถึง 41% และ 19% ตามลำดับ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของปัจจัยเสี่ยงด้านอาชีพเเละสังคมในยุคใหม่

จากการวิเคราะห์ข้อมูลใน 194 ประเทศ พบว่า การทำงานต่อสัปดาห์ 55 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น ได้เพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดสมองถึง 35% และเพิ่มความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือดอีก 17% เมื่อเทียบกับการทำงานเฉลี่ย 35-40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

โดยรายงานฉบับนี้ มีข้อเสนอเเนะเพื่อเป็นแนวทางให้รัฐบาล นายจ้างและลูกจ้าง เช่น ข้อตกลงเกี่ยวกับการจำกัดเวลาทำงานสูงสุดที่เหมาะสม มาตรการลดการสัมผัสมลพิษทางอากาศในสถานที่ทำงาน อย่างการควบคุมฝุ่น การระบายอากาศ และมีอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล เป็นต้น

 

อ่านรายงานฉบับเต็ม : WHO