อัปเดต 5 ฟีเจอร์ใหม่ “Twitter” ตั้งแต่สนับสนุนศิลปิน NFT จนถึง “บล็อก” คำพูดทำร้ายใจ

Twitter อัปเดตฟีเจอร์ใหม่ๆ อีกแล้ว เปิดมาแบบจัดหนักจัดเต็ม ครอบคลุมหลายแง่มุมตั้งแต่การพัฒนาฟีเจอร์สนับสนุนศิลปินขายงาน NFT มีระบบ ‘โหลทิป’ ให้คุณเปย์ครีเอเตอร์ที่ชื่นชอบ ลุยโครงการ “ปั้นครีเอเตอร์” จนถึงการป้องกันชุมชนให้ ‘เป็นพิษ’ น้อยลง เช่น จะมีระบบ “Word Filters” ตรวจจับข้อความที่อาจจะทำร้ายจิตใจ และจัดการบล็อกเตือนก่อน

สำนักข่าว TechCrunch รายงานการประกาศฟีเจอร์ใหม่ๆ ของ Twitter ปีนี้ จะเห็นได้ว่าทิศทางที่แพลตฟอร์มกำลังมุ่งไปคือต้องการสนับสนุนกลุ่ม “ครีเอเตอร์” ให้มากขึ้น และทำให้พื้นที่ในแพลตฟอร์มคุยกันได้แบบสบายใจขึ้น มีฟีเจอร์และความเคลื่อนไหวอะไรใหม่บ้างไปชมกันเลย

 

สนับสนุนศิลปิน NFT

ตัวอย่างงานศิลปะ NFT บนมาร์เก็ตเพลซ OpenSea

ฟีเจอร์ใหม่ที่น่าสนใจมากของ Twitter คือการมุ่งเป้ากลุ่มศิลปินที่ขายบน NFT สำหรับ NFT หรือ non-fungible tokens เป็นช่องทางให้ศิลปินนำงานศิลปะดิจิทัลชิ้นต้นฉบับของตนลงระบบบล็อกเชน เพื่อเปิดขายให้แก่ผู้ซื้อที่ต้องการครอบครองซึ่งจะซื้อกันด้วยสกุลเงินคริปโต ขณะนี้มีตลาด NFT ดังๆ เช่น OpenSea, Rarible, Foundation, SuperRare ฯลฯ

Twitter จะเปิดช่องทางให้ศิลปิน NFT สามารถผูกกระเป๋าเงินคริปโตไว้กับ Twitter ได้โดยตรง เพื่อเป็นพื้นที่แสดงโชว์ผลงาน ขณะนี้บริษัทยังทดลองระบบที่เหมาะที่สุดอยู่และยังไม่มีกำหนดเปิดตัว แต่เป้าหมายก็คือการสนับสนุนให้ศิลปิน NFT โดดเด่นยิ่งขึ้นบนแพลตฟอร์ม เช่น อาจจะมีการให้ badge พิเศษบนหน้าโปรไฟล์

 

เปิดระบบ ‘โหลทิป’ จ่ายด้วย ‘บิตคอยน์’

โหลทิป (ไม่ใช่โหลทิพย์) หรือ Tip Jar คือระบบเหมือนโหลให้ใส่ทิปพนักงานตามร้านอาหาร แต่ฟีเจอร์นี้จะมาปรากฏบน Twitter ให้คุณสามารถทิปครีเอเตอร์ที่ชื่นชอบได้บนแพลตฟอร์ม

ฟีเจอร์นี้มีการเปิดทดลองเบตาไปแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคม การจ่ายทิปสามารถทำได้ผ่าน PayPal, Venmo, Patreon, Cash App, Bandcamp ต่อจากนี้ฟีเจอร์จะเริ่มไปปรากฏบน iOS ทั่วโลกก่อน ตามด้วยระบบ Android

นอกจากนี้ จะมีการอัปเดตให้ทิปด้วยบิทคอยน์ได้ด้วย โดยเบื้องต้น Twitter เลือกผูกบัญชีกับ Bitcoin Lightning Wallet เพราะเป็นตัวกลางที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในกลุ่มคนใช้เงินคริปโต เพราะค่าธรรมเนียมการโอนถูกกว่าเจ้าอื่น

 

โครงการ “ปั้นครีเอเตอร์”

ช่วงหลังบรรดาแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างอัดเงินกองทุนให้กับครีเอเตอร์ที่สร้างผลงานดี ยอดวิวสูง ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, TikTok แต่สำหรับ Twitter จะไม่ได้มาหว่านเงินกันโต้งๆ แพลตฟอร์มนี้จะมาในแนวทางใกล้เคียงกับ Clubhouse คือจะช่วยให้ครีเอเตอร์ทำผลงานได้ดีขึ้น และดึงสปอนเซอร์เข้ามาได้เอง

Twitter ยังไม่ลงรายละเอียดว่าโครงการนี้จะให้อะไรบ้าง เท่าที่มีการเปิดเผยคือ แน่นอนว่าจะมีการให้เงินทุนครีเอเตอร์ แต่จะเน้นหนักไปที่การสร้างความเชี่ยวชาญเชิงเทกนิกการผลิต โปรดักชัน และทำการตลาด

โดยเฉพาะครีเอเตอร์บน Twitter Spaces ซึ่งเป็นฟีเจอร์เสวนาด้วยเสียง บริษัทกำลังผลักดันฟีเจอร์นี้อย่างมากและน่าจะเป็นเป้าหมายหลักของโครงการ ทั้งนี้ ฟีเจอร์ Spaces จะมีการปรับปรุงให้โฮสต์สามารถบันทึกการสนทนาและนำมาเล่นซ้ำได้ ไม่ต้องฟังสดเท่านั้นอีกต่อไป เพราะ Twitter ต้องการจะอุดช่องโหว่ตรงนี้ก่อนจะมีแอปฯ อื่นทำ

 

ลดสังคมเป็นพิษใน Twitter

หนึ่งในปัญหาหนักของ Twitter คือหลายคนรู้สึกไม่สบายใจและไม่ปลอดภัยที่จะพูดคุยในนี้ เพราะเต็มไปด้วยพวก ‘เกรียน’ คีย์บอร์ด เพื่อให้แพลตฟอร์มน่าใช้มากขึ้น Twitter พยายามจะสร้างสังคมด้วยเทคโนโลยี เช่น เพิ่งมีการเปิดฟีเจอร์ ‘ล็อก reply’ เลือกได้ว่าจะอนุญาตให้คนกลุ่มไหนมาตอบทวีต ซึ่งบริษัทบอกว่า ทำให้มีรายงานเรื่องการใช้คำพูดทำร้ายจิตใจ (abusive) น้อยลงในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา

ดังนั้น Twitter ยังจะมีฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่มาตอบโจทย์เรื่องนี้ เช่น “Safety Mode” (ทดลองเบตา) ให้คุณสามารถลบฟอลโลเวอร์ได้แบบเงียบๆ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งแทนการบล็อกคนคนนั้นไปเลย ซึ่งอาจจะถนอมน้ำใจกันมากกว่า

นอกจากนี้ จะมีระบบให้ “ลบตัวเองออกจากเมนชั่น” ในบทสนทนาที่เราไม่ได้ต้องการจะรับรู้หรือคุยต่อแล้ว (ไม่ต้องทวีตเซ็งๆ ว่า ‘ติดเมนชั่นเราค่ะ’ อีกต่อไป)

อีกฟีเจอร์น่าสนใจคือ “Word Filters” ไม่เพียงแค่รอให้ใครรายงานทวีตนั้นๆ ต่อไป Twitter จะมีระบบตรวจจับว่าทวีตที่กำลังพิมพ์อยู่อาจมีข้อความที่ขัดต่อกฎการใช้งานแพลตฟอร์ม และหยุดไม่ให้คนคนนั้นทวีต พร้อมมีคำแนะนำด้วยว่าควรจะแก้ไขคำอย่างไรไม่ให้ไปทำร้ายความรู้สึกของคนอื่น

แพลตฟอร์มนี้ยังจะมีระบบ “Heads Up” ในอนาคต สำหรับคนที่กำลังจะอ่านบทสนทนา แต่การสนทนานั้นอาจจะ ‘เดือด’ หน่อย จะมีขึ้นคำเตือนให้เคารพกันและกัน และตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน ทั้งนี้ Twitter ยังไม่บอกว่าจะกลั่นกรองได้อย่างไรว่าบทสนทนานั้นเป็นแบบไหน แต่แย้มๆ ว่าระบบจะมาคู่กับการประเมินดาต้าของการกด ‘อีโมจิ’ ให้กับบทสนทนา (เรื่องนี้ก็ยังอยู่ระหว่างทดลองเช่นกัน)

 

ระบบตั้งกลุ่ม ‘Communities’

ฟีเจอร์น่าสนใจอีกประเด็นคือ Twitter กำลังทดลอง ‘Communities’ เป็นกลุ่มที่รวมผู้คนตามความสนใจ และมีแอดมินกลุ่ม มีกฎ มีธรรมเนียมของกลุ่มตัวเอง ซึ่งจะตั้งกฎได้แตกต่างจากกฎของ Twitter ด้วย (คล้ายกับการตั้ง Facebook Group)

“เป็นก้าวแรกของเราในการกระจายอำนาจการควบคุมแพลตฟอร์ม เพื่อให้ Twitter เป็นพื้นที่ของคุณจริงๆ” คริสติน ซู หัวหน้าทีมผลิตภัณฑ์ความปลอดภัยในบทสนทนาของ Twitter อธิบาย

Twitter มีฟีเจอร์ใหม่เยอะมาก และที่ผ่านมาก็มีการทดลองหลายอย่าง เข้าซื้อบริษัทอื่นเพื่อแตกแขนงตัวเองออกไป แต่ไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะสำเร็จ “ขว้างเส้นสปาเก็ตตี้ใส่กำแพงแล้วค่อยดูว่ามีอะไรติดอยู่บ้าง” คือคำอธิบายกลยุทธ์ของ Twitter ที่ทดลองทำสารพัดอย่างแล้วค่อยมาดูว่าอะไรจะเวิร์ก

Source