“นพ.กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล” เปิดแผน “รพ.วิมุต” บุกเบิกเส้นทางใหม่แบรนด์ “พฤกษา”

“รพ.วิมุต” เปิดบริการมากว่า 5 เดือนท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 โรงพยาบาลแห่งนี้เป็นการบุกเบิกธุรกิจใหม่ของเครือ “พฤกษา” อสังหาฯ รายใหญ่ของไทย และจะผสานสองธุรกิจส่งประโยชน์ซึ่งกันและกัน แผนของ รพ.วิมุต จะเข้ามาเจาะตลาดเฮลธ์แคร์ไทยอย่างไร ติดตามจากบทสัมภาษณ์ “นพ.กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล” หัวเรือใหญ่ของบริษัท

โรงพยาบาลวิมุต ในเครือพฤกษา เปิดบริการสาขาแรกบริเวณอารีย์-สะพานควายตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 เป็นการเปิดโรงพยาบาลท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งทำให้บริษัทต้องปรับแผนไปบ้างในช่วงที่ผ่านมา

Positioning มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “นพ.กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลวิมุตโฮลดิ้ง จำกัด หลังการเปิดตัว รพ.วิมุต มาแล้ว 4-5 เดือน เพื่อพูดคุยถึงวิสัยทัศน์ต่อจากนี้ จะมีการขยายตัวไปอย่างไร และเกี่ยวข้องกับพฤกษาซึ่งเป็นบริษัทแม่มากน้อยแค่ไหน

รพ.วิมุตแห่งแรกเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่บนที่ดิน 4 ไร่ สูง 18 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 5 หมื่นกว่าตร.ม. มีเตียงรองรับผู้ป่วย 236 เตียง เป้าหมายต้องการจะเป็นโรงพยาบาลเจาะกลุ่มชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ทั้งผู้ป่วยรายบุคคลและลูกค้าแบบรายองค์กร

“นพ.กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลวิมุตโฮลดิ้ง จำกัด

นพ.กฤตวิทย์กล่าวว่า จุดมุ่งเน้นในเชิงการแพทย์หรือรักษาโรคของ รพ.วิมุต ประกอบด้วย 3 ด้าน คือ

  • การเป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ สามารถรักษาโรคเฉพาะทางได้เทียบเท่ากับโรงพยาบาลชั้นแนวหน้าของไทย โดยเน้นการรักษาโรคที่ต้องการความเชี่ยวชาญ เช่น สมอง หัวใจ กระดูก
  • การรักษาโรคเรื้อรังที่ต้องการการดูแลระยะยาว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเส้นเลือดสูง ภาวะน้ำหนักเกิน โรคเครียด
  • กลุ่มงานดูแลผู้สูงอายุ โดยต้องการเป็นแพลตฟอร์มดูแลคนไข้ได้ถึงบ้าน กลุ่มงานนี้จะถือเป็นไฮไลต์ เพราะ นพ.กฤตวิทย์มองว่าเป็นตลาดใหม่ ทางโรงพยาบาลจึงมีการรวบรวมแพทย์เฉพาะทางสำหรับผู้สูงอายุมารองรับ รวมถึงเครือวิมุตจะมีแต้มต่อจากโมเดลธุรกิจที่ควบคู่ไปกับธุรกิจที่อยู่อาศัยของพฤกษา

 

แผนลงทุนโครงข่าย รพ.ขนาดเล็ก เชื่อม รพ.ขนาดใหญ่

นพ.กฤตวิทย์กล่าวต่อถึงโมเดลธุรกิจเครือวิมุต จะเป็นโครงข่ายที่มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่เป็นแกนกลาง เป็นพื้นที่ให้การรักษาได้ครบครัน แต่จะมีการเปิดโรงพยาบาลขนาดเล็กใกล้ชุมชนในชื่อ “Vimut Health Center” ซึ่งมีเตียงรองรับประมาณ 50 เตียง รพ.เล็กนี้จะเน้นรักษาโรคเจ็บป่วยทั่วไป การดูแลผู้ป่วยเรื้อรังต่อเนื่อง กายภาพบำบัด และดูแลผู้สูงอายุแบบ Day Care มาเช้าเย็นกลับ

เมื่อมีรพ.ขนาดเล็กอยู่ใกล้บ้าน จะทำให้ผู้ป่วยเสียเวลาเดินทางน้อยลง แต่ถ้าหากมีอาการที่ต้องส่งต่อไปรพ.ขนาดใหญ่ก็สามารถทำได้

ภาพเบื้องต้น Health + Commercial Zone จะมีศูนย์สุขภาพวิมุตให้บริการ

แผนในรอบ 5-8 ปีข้างหน้า นพ.กฤตวิทย์เปิดเผยว่าจะลงทุนรพ.ขนาดใหญ่ 4 แห่ง (รวมแห่งแรกที่เปิดแล้ว) แต่ละแห่งจะเป็นแกนกลางให้กับ Vimut Health Center ได้ 4 แห่ง ดังนั้น คาดว่าจะมี Vimut Health Center ทั้งหมด 16 แห่ง มูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 20,000 ล้านบาท

ยังไม่นับรวมการควบรวมกิจการหรือเข้าถือหุ้นในโรงพยาบาลแห่งอื่นที่เหมาะสม ดังที่พฤกษาเข้าถือหุ้นรพ.เทพธารินทร์ เพื่อผนึกองค์ความรู้และแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านเบาหวาน

 

“รพ.หน้าหมู่บ้าน” จุดเปลี่ยนแบรนด์พฤกษา

Vimut Health Center นี้จะเกาะไปกับโครงการที่อยู่อาศัยของพฤกษา อย่างการพัฒนาแห่งแรกเกิดขึ้นที่หมู่บ้านพฤกษา อเวนิว บางนา-วงแหวน ซึ่งมีชุมชนกว่า 1,000 ครัวเรือน และมีชุมชนหมู่บ้านอื่นที่อยู่ใกล้เคียงอีก

การทำงานของวิมุตและพฤกษาจะศึกษาร่วมกันถึงทำเลที่เหมาะสมในการเปิด Vimut Health Center หากอยู่ในแผนงานแล้ว พฤกษาจะกันพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้เตรียมรองรับอนาคต โดยขณะนี้เครือมีที่ดินเตรียมไว้แล้วอย่างน้อย 4 แห่งเพื่อเป็นตัวเลือกเปิดโครงการแห่งที่ 2

การมาทำโรงพยาบาลของพฤกษา คือจุดเปลี่ยนที่จะทำให้ผู้บริโภคมองแบรนด์เขาใหม่ คือเห็นได้ว่าเขาไม่ได้มีเฉพาะเรื่องฮาร์ดแวร์หรืออิฐหินปูนทรายแล้ว แต่เป็นโซลูชันในการดูแลชีวิต ความเป็นอยู่ สุขภาพให้ดีขึ้น

นพ.กฤตวิทย์มองว่า การก้าวเข้าสู่ธุรกิจเฮลธ์แคร์จะเป็นจุดเปลี่ยนของแบรนด์พฤกษาที่ผู้บริโภคสัมผัสได้จริง “การมาทำโรงพยาบาลของพฤกษา คือจุดเปลี่ยนที่จะทำให้ผู้บริโภคมองแบรนด์เขาใหม่ คือเห็นได้ว่าเขาไม่ได้มีเฉพาะเรื่องฮาร์ดแวร์หรืออิฐหินปูนทรายแล้ว แต่เป็นโซลูชันในการดูแลชีวิต ความเป็นอยู่ สุขภาพให้ดีขึ้น”

หลายคนอาจมีคำถามว่า รพ.วิมุต เข้ามาเป็นน้องใหม่ในธุรกิจเฮลธ์แคร์ จะหาช่องว่างในตลาดอย่างไร แต่ นพ.กฤตวิทย์มองว่า รพ.นี้ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ เพราะอยู่ในเครือพฤกษาซึ่งมีดาต้าเกี่ยวกับกลุ่มผู้บริโภคและกำลังซื้ออยู่แล้ว ทำให้การมองหาทำเลและเป้าหมายถูกต้องเหมาะสมขึ้น

โรงพยาบาลวิมุตเตรียมพร้อมอุปกรณ์บริการทางการแพทย์ไว้ครบครัน

นอกจากนี้ โรงพยาบาลมีทีมแพทย์ประจำครบทุกสาขาที่ให้บริการ และแพทย์ที่ปรึกษาของโรงพยาบาลเป็นอาจารย์แพทย์จากโรงพยาบาลรัฐที่มีชื่อเสียง ซึ่งทำให้มีบุคลากรทัดเทียมกัน และมีโอกาสได้บริการคนไข้ที่แพทย์ refer มาจากโรงพยาบาลรัฐที่ไม่มีเตียงรองรับเพียงพอ โดยทาง รพ.วิมุต มีการจัดเตรียมสถานที่และอุปกรณ์ทันสมัยเพื่อพร้อมรับคนไข้ส่งรักษาต่อ

 

COVID-19 พลิกวิกฤตเป็นโอกาส

รอบ 5 เดือนที่ผ่านมา รพ.วิมุตเปิดตัวท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งนพ.กฤตวิทย์มองว่ามีทั้งผลลบและผลบวก ผลเชิงลบคือการระบาดทำให้ผู้ป่วยที่อาการยังไม่หนักจะเลื่อนวันพบแพทย์ออกไปก่อน ทำให้รายได้ส่วนนี้ของโรงพยาบาลไม่เป็นไปตามเป้า

แต่ผลเชิงบวกคือ รพ.วิมุต ได้เข้าเป็นโรงพยาบาลที่ให้การรักษาผู้ป่วย COVID-19 และเป็นจุดฉีดวัคซีนของรัฐ คือ ซิโนแวค และ แอสตราเซเนก้า รวมถึงวัคซีนตัวเลือกคือ ซิโนฟาร์ม รวมแล้วรพ.วิมุตฉีดวัคซีนไปกว่า 80,000 เข็ม ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ส่วนนี้ไม่ได้กำไรแต่อย่างใด แต่สิ่งที่ได้คืนมาคือชื่อเสียงของโรงพยาบาล และให้ประชาชนได้มาสัมผัสบริการและสถานที่โดยตรง

บรรยากาศในรพ.วิมุต

“สิ่งที่ได้กลับมาคือ ‘ความคุ้นเคย’ กับโรงพยาบาล เป็นการประชาสัมพันธ์ไปในตัว ถือว่าคุ้มค่าเพราะทำให้คนรู้จักเราทันที” นพ.กฤตวิทย์กล่าว

อีกส่วนหนึ่งที่ได้อานิสงส์คือการเปิดจองวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นา โดยรพ.วิมุตเปิดจองลอตแรกจำนวน 1.5 แสนโดส ส่วนนี้ยังคงรอกำหนดการนำเข้าวัคซีนซึ่งจะมาครบถ้วนไม่เกินไตรมาส 1/65 ขณะที่ลอตที่สองอีกหลักหมื่นโดสจะเริ่มนำเข้าช่วงไตรมาส 1/65 นพ.กฤตวิทย์ระบุว่า รายได้จากการรับจองโมเดอร์นาทำให้ รพ.วิมุต ทำรายได้ได้มากกว่าเป้า 400 ล้านบาท จากเดิมคาดว่าจะตกเป้าเพราะสถานการณ์ COVID-19

ห้องพักผู้ป่วย ออกแบบให้มีความผ่อนคลายมากขึ้น

สรุปการเปิดโรงพยาบาลมาแล้ว 4-5 เดือน ขณะนี้มีคนไข้ OPD เฉลี่ยมากกว่า 100 คนต่อวัน และมีผู้ป่วยครองเตียงแล้ว 40-50 เตียง (ครึ่งหนึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วย COVID-19) หลังจากการระบาดเริ่มคลี่คลาย รพ.วิมุตจะเริ่มเดินหน้าตามแผนงานขยายสาขาโรงพยาบาลต่อไป

แม้หลายบริษัทจะก้าวเข้ามาในธุรกิจเฮลธ์แคร์ แต่นพ.กฤตวิทย์เชื่อว่าดีมานด์ก็สูงเช่นกัน เพราะธุรกิจสุขภาพคือเทรนด์ของโลกที่กำลังเป็นขาขึ้น “ซัพพลายเยอะแต่ก็ยังไม่พอ เพราะคนอายุยืนขึ้น มีโรคเรื้อรังมากขึ้น ดีมานด์จึงสูง”

อนาคตในระยะยาวหลังเครือวิมุตขยายโครงข่ายได้ตามเป้า พร้อมกับมีระบบนิเวศอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ในบ้าน Internet of Medical Things (IoMT) เชื่อว่าจะทำให้พอร์ตด้านสุขภาพขึ้นมาทำรายได้สัดส่วน 1 ใน 4 หรืออาจจะแตะ 1 ใน 3 ของเครือพฤกษาเลยทีเดียว!