แม้โมเดลของ “เซ็นทรัล เอ็มบาสซี” จะหลุดออกมานานตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 ของปี 2553 แต่รายละเอียดเพิ่งจะถูกเปิดเผยในงานแถลงข่าวเมื่อกุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมา ถึงกลยุทธ์ของเซ็นทรัล กรุ๊ป ภายใต้ความรับผิดชอบของซีอาร์ซี ที่จะใช้เซ็นทรัล แอมบาสซี สร้างชื่อปั้น แบรนด์ “เซ็นทรัล” ในระดับโลกต่อไปในอนาคต
“เราซื้อที่ดินส่วนหนึ่งของสถานทูตอังกฤษมาตั้งแต่ปี 2549 ขอโทษที่เก็บเงียบไว้นาน หลายๆท่านก็คงรอจนเหงือกแห้ง ที่ดินแพง ผืนงาม เราจึงคิดนานหน่อยว่าจะทำอะไรดี เราไม่ทำแค่อสังหาริมทรัพย์โครงการหนึ่ง ต้องเป็นอะไรที่สำคัญกว่านั้น” ทศ จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด บอกอย่างอารมณ์ดี
ความหมายของทศ อาจตีความได้ว่า การคิดนานนั้น มีเรื่องของราคาขายและค่าเช่าพื้นที่มาเกี่ยวข้องด้วย เพราะต้นทุนที่มาจากการซื้อที่ดินที่น่าจะแพงที่สุดตั้งแต่กลุ่มเซ็นทรัลเคยซื้อมา ก็ต้องมีราคาที่สมน้ำสมเนื้อกับโครงการที่จะเปิดด้วย
เซ็นทรัล เอ็มบาสซี เกิดขึ้นภายใต้โจทย์หลัก 3 ข้อ คือ สร้างสถาปัตยกรรมที่เป็น Iconic Building ระดับโลก ต้องมีพันธมิตรและแบรนด์แฟชั่นระดับโลก รวมถึงติดอาวุธให้เซ็นทรัล ชิดลม แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมายังขาดร้านอาหารและบันเทิง เพื่อดึงดูดบรรดาลูกหลานของลูกค้าเซ็นทรัล ชิดลมให้มาใช้บริการมากขึ้นด้วย
แนวคิดแบบนี้ คล้ายๆ กับการเปิดสยามพารากอนของกลุ่มเดอะมอลล์ และสยามเซ็นเตอร์ ที่วางให้สยามพารากอนเป็นศูนย์กลางของการช้อปปิ้งในกรุงเทพฯ และได้การยอมรับจากขาช้อปไปไม่น้อย อีกทั้งแบรนด์สยามพารากอนก็แข็งแรงเพียงพอในการดึงลูกค้าระดับบน
เซ็นทรัล เอ็มบาสซี จึงเป็นโครงการแบบ Mixed Use ที่มีส่วนผสมของศูนย์การค้าที่มี Luxury Brand ที่ไม่เคยมีมาก่อนในไทยราว 30% เพราะยังมี Luxury Brand อีกมาก ทั้ง Brigde Line Brand อีกนับร้อย ที่ยังไม่มีจำหน่ายในเมืองไทย รวมถึงโรงภาพยนตร์ระดับ 5 ดาว และโรงแรม 6 ดาว ด้วยเชนดัง “พาร์ค ไฮแอท” ซึ่งจะเปิดเฉพาะในมหานครของโลก อย่าง วอชิงตัน ปารีส มิลาน โตเกียว เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง และซิดนีย์ เป็นต้น
นับเป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดและลงทุนมากที่สุดของซีอาร์ซี และถือเป็นครั้งแรกที่ซีอาร์ซีลงทุนในธุรกิจโรงแรม ขณะเดียวกัน เซ็นทรัล ชิดลม ก็จะเปลี่ยน Façade ให้มีดีไซน์ที่สอดรับกับเซ็นทรัล แอมบาสซีด้วย
ชาติ จิราธิวัฒน์ ซึ่งเคยทำหน้าที่ดูแล Leasing ให้กับโครงการเซ็นทรัลเวิลด์ อีกทั้งประสบการณ์การใช้ชีวิตในต่างแดนทั้งในสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และอังกฤษ ทำให้มี Global Perspective จึงได้รับการการทาบทามจากทศ จิราธิวัฒน์ ให้มารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการโครงการเซ็นทรัล เอ็มบาสซี
“เซ็นทรัลเวิลด์เป็นการรีโนเวต แต่ครั้งนี้ผมตื่นเต้นมากเพราะมันเป็น Blank Canvas ทำให้มีส่วนร่วมตั้งแต่การคิดและตัดสินใจเลือกคอนเซ็ปต์”
ชาติบอกถึงที่มาของชื่อ เซ็นทรัล เอ็มบาสซี ว่ามาจากพื้นที่เดิมคือสถานทูตอังกฤษ และคำว่าแอมบาสซี ก็มีความหมายดี สื่อถึงความเป็นนานาชาติได้
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายโครงการในละแวกแยกเพลินจิตทั้งปาร์ค เวนเจอร์ ของทีซีซี แลนด์ คอนโดมิเนียมของโนเบิล ฯลฯ ที่กำลังจะแล้วเสร็จในเวลาใกล้เคียงกัน แยกเพลินจิตจึงพร้อมแต่งตัวเป็น The Next Chidlom และกลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจและไลฟ์สไตล์แห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร
เซ็นทรัล เอ็มบาสซี | |
Positioning | แลนด์มาร์คค้าปลีกและไลฟ์สไตล์แห่งใหม่ของกรุงเทพฯ กับ Iconic Building ระดับโลก |
Project Details | เป็น Strategic Location ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ 9 ไร่ ด้านหน้าสถานทูตอังกฤษ ริมถนนสุขุมวิท เชื่อมต่อบีทีเอสชิดลมและเพลินจิต ลงทุน 10,000 ล้านบาท อาคารออกแบบโดย PI Design ด้วยรูปทรง Infinity ดูทันสมัย คล้ายเลข 8 ซึ่งมีความหมายดีในเชิงฮวงจุ้ยด้วย สูง 38 ชั้น (รวมชั้นใต้ดิน) แบ่งเป็นศูนย์การค้า 8 ชั้น และโรงแรม 30 ชั้น กำหนดเปิดบริการภายในปี 2556 |
Target | ลูกค้าระดับบนที่เป็น Opinion Maker, Trend Setter แบ่งเป็น ชาวไทยและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย 70% นักท่องเที่ยว 30% โดยเฉพาะจากเอเชียที่จะเป็น Center of Wealth ของโลกในอีก 5 ปีข้างหน้า (โดยเฉพาะจากจีนซึ่งมีเศรษฐีรุ่นใหม่เกิดขึ้นมาก) |
Strategy | นอกเหนือจากสื่อไทยยังโปรโมตผ่านสื่ออินเตอร์ทั้งรอยเตอร์ แชนแนลนิวส์ เอเชีย ฯลฯ โดยว่าจ้างให้โอกิลวี่ พีอาร์ รับผิดชอบดูแลสื่อต่างประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมายรายได้ขั้นต่ำ 1,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อคืนทุนภายใน 10 ปี |
Competitors | ศูนย์การค้า : เกษร สยามพารากอน ดิ เอ็มโพเรียม ซึ่งจับกลุ่มเป้าหมายระดับบนทั้งชาวไทย นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย |