แล้วคำพูดที่ว่า “กาลเวลาพิสูจน์คน ผลงานพิสูจน์ตัวตน” ก็นำมาใช้ได้กับอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะผู้นำประเทศ นายกฯวัยหนุ่มที่ถูกปรามาสมาตั้งแต่ต้น
ผ่านขวบปีที่สองของการทำหน้าที่ผู้นำสูงสุดในฝ่ายบริหาร “อภิสิทธิ์” คงได้ทบทวนตัวเองกับการทำหน้าที่ โดยเฉพาะกับคำเยาะเย้ยถากถาง วลีหมิ่นแคลนจากทักษิณ ชินวัตร ที่ว่า เขาและเพื่อนนักเรียนอังกฤษ กรณ์ จาติกวณิช รมว.คลังคู่บุญ
แค่ “เด็กสองคน” บริหารบ้านเมือง เหมือนอยู่ใน“สนามเด็กเล่น” ??
เชื่อว่าถึงวันนี้ ประชาชนคนไทยก็คงทราบกันดีจากผลงานที่ปรากฏ ยุครัฐบาล ประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะการนำของนายกฯ ทื่ชื่ออภิสิทธิ์ สถานการณ์บ้านเมืองเป็นเช่นใด
นอกจากที่ถูกจับตา กับการมุ่งหมายลดความแตกแยกขัดแย้ง แบ่งฝักแบ่งฝ่าย แยกสีเสื้อในสังคม ที่ถึงปัจจุบันนอกจากปัญหาที่ว่าไม่สามารถคลี่คลายได้ แต่กลับจะยิ่งเพิ่มดีกรีความรุนแรงมากขึ้น
แผนสลายสีเสื้อ กลุ่มคนสีเสื้อแดง ที่หลังการสลายการชุมชนุมครั้งพฤษภามหาวินาศ2553แทนที่จะขยาดและฝ่อไปจากการ “กระชับพื้นที่” ยุติเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมือง กลับฟื้นคืนพลังได้อย่างรวดเร็ว
เรียกชุมนุมจัดกิจกรรมย่อยๆ ยังรวมตัวกันหลักหลายหมื่น ทั้งที่ยังไม่ได้เป่านกหวีดระดมกันในงานใหญ่เลยด้วยซ้ำ
ขณะเดียวกันสีเสื้อที่เคยเป็นแนวร่วมของรัฐบาล อย่างกลุ่มคนเสื้อเหลือง พันมิตรฯ ที่มีส่วนทำให้เกิดรัฐบาลชุดนี้ กลับโดนผลักไสไล่ส่งให้กลายเป็นศัตรู จากปมข้อพิพาทไทย-เขมร และดินแดนโดยรอบปราสาทพระวิหาร
แค่สองสีเสื้อ ที่เริ่มลงสู่ท้องถนน ก่อม็อบชุมนุมต่อต้านขับไล่รัฐบาลในวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน ถือเป็นอีกปัจจัยรุมเร้ารัฐนาวาประชาธิปัตย์
หันมาดูที่การแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองในด้านอื่นๆ ในเรื่องด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เห็นได้ชัดว่าวันนี้ไทยได้บ่มเพาะศัตรูกับประเทศเพื่อนบ้านไปรอบด้าน โดยเฉพาะทางฝั่งกัมพูชา ที่ความสัมพันธ์อยู่จุดที่เรียกว่าแตกร้าวจนยากจะเยียวยา
และสะท้อนอย่างเห็นได้ชัดถึงเกมการเมืองระหว่างประเทศที่อ่อนด้อย จนอาจเรียกได้ว่า น้ำหนักในการเจรจาต่อรองของไทยเสียเปรียบประเทศต่างๆ
เช่นเดียวกับปัญหาความไม่สงบใน3จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่แม้จะถมงบฯ จัดกำลังคนลงไปเท่าใด แต่เปลวเพลิงแห่งความรุนแรงดูเหมือนลุกโชนแรงขึ้น เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง ทั้งลอบยิง ลอบวางระเบิดจากผู้ก่อความไม่สงบอย่างต่อเนื่อง
แต่นั่นก็ไม่เท่ากับปัญหาสำคัญในเรื่องภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัญหา “ปากท้อง” ที่กระทบกับประชาชนโดยตรง
แม้ขวบปีแรกตัวเลขเศรษฐกิจด้านต่างๆ ทั้งอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ราคาสินค้าการเกษตร ทั้งข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์ม ตัวเลขในตลาดหุ้นตลาดหลักทรัพย์ จะอยู่ในเกณฑ์บวก
แต่พอเข้าสู่ขวบปีที่สองของการบริหารประเทศ ภาวะเศรษฐกิจก็เริ่มเดินเข้าสู่ในแดนลบ ทั้งปัญหาสินค้าอุปโภคบริโภค ไข่ไก่ น้ำมันพืช น้ำมันปาล์ม น้ำตาลทราย ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนเต็มๆ
ตัวอย่างที่สะท้อนความล้มเหลวในการบริหารจัดการของรัฐบาล ก็คือ การแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันปาล์มที่ราคาพุ่งสูงขึ้น
ทั้งที่เรื่องปาล์ม ถือเป็นพืชการเกษตรระบบปิด ที่ซื้อขายกันในประเทศเป็นหลัก และที่ผ่านมาก็มีการกำหนดสต็อกไว้ใช้ในประเทศเพียงพอ จำนวนถึง2แสนตัน แต่เพราะการบริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพ จึงเกิดปัญหาที่บานปลายกลายเป็นเรื่องใหญ่
ทั้งที่คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันฯ ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ เป็นประธาน ก็รับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้น
กระทั่งกลายเป็นปัญหา ที่นอกจากกระทบกับประชาชนผู้บริโภคโดยตรง ที่ต้องซื้อน้ำมันปาล์มขวดในราคาที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ อนุมัติให้ปรับราคาสูงขึ้นแบบพุ่งพรวด และก็ยังขาดตลาด มีไม่เพียงพอให้ผู้บริโภคได้ซื้อหา
กรณีน้ำมันปาล์ม ยังลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อมีการโยนกลอง โบ้ยความผิดไปมาระหว่างคนของพรรคประชาธิปัตย์อย่างสุเทพ ที่ดูแลเรื่องปาล์มน้ำมันโดยตรง และพรรคภูมิใจไทย ที่ดูแลกระทรวงพาณิชย์
ต้นน้ำ-ปลายน้ำ กระเพื่อม!
ที่สำคัญ ยังมีข้อครหาถึงปัญหาปาล์มน้ำมัน น้ำมันปาล์ม ที่กลายเป็นเรื่องกระทบกับปากท้องของประชาชน อาจไม่ใช่เพียงความผิดพลาดในการดำเนินนโยบาย แต่อาจมีเรื่องของ “ผลประโยชน์” และกลิ่นโชยเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นมาเกี่ยวข้อง
ทั้งเรื่องการกักตุนผลผลิตและสินค้า การเอื้อประโยชน์ต่อพ่อค้า การระบายสต๊อกด้วยการส่งออก รวมทั้งการส่งน้ำมันปาล์มไปผลิตไบโอดีเซล ทั้งที่ขาดแคลน รวมทั้งเรื่องค่าหัวคิว การกินส่วนต่างในเรื่องการนำเข้าปาล์มจากต่างประเทศ
จากต้นน้ำถึงปลายน้ำ กระทั่งระหว่างที่ต้องแก้ไข ก็ยัง “สวาปาล์ม” กันไม่เลิก?
จึงไม่แปลกใจที่จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดดิ่งคะแนนนิยมของรัฐบาลให้ร่วงกราวรูด
นอกจากนี้ ในช่วงปลายสมัยของรัฐบาล ตามที่นายกฯ ประกาศจะมีการยุบสภาก่อนครบวาระ กำลังมีปัญหาในลักษณะเดียวกันกับสินค้าอุปโภคบริโภคอีกหลายตัว
ทั้งหมดนอกจากสะท้อนความล้มเหลวของรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ ยังแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพโดยรวมของรัฐบาล โดยเฉพาะนายกฯ อภิสิทธิ์ ที่นับวันชาวบ้านเริ่มจะพูดถึงฝีมือที่ไม่ถึงขั้น แก้ปัญหาไม่เก่ง อ่อนด้อยดั่งคำปรามาสของหลายฝ่ายแต่ต้น
ไม่เท่านั้น ที่อ้างว่ารัฐบาลมีข้อจำกัด ที่พรรคแกนนำประชาธิปัตย์ไม่ได้คุมกระทรวงด้านเศรษฐกิจเอง ทำให้การบริหารงานยากลำบาก ในเรื่องความเป็นเอกภาพในการบังคับบัญชา และสั่งงานดำเนินนโยบาย
แต่คนเป็นผู้นำสูงสุด ก็ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง “ข้อมูล” ที่ได้รับ
มิหนำซ้ำ “จุดแข็ง” ที่เคยได้รับความเชื่อถือในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตก็ถูกลบล้างจากเรื่องราวการดำเนินนโยบายหลายด้านของรัฐบาล มีกลิ่นโชยในการทุจริตคอรัปชั่น
โดยที่กฎเหล็ก9ข้อของนายกฯ ไม่เคยทำให้ประจักษ์ได้
วันนี้ของอภิสิทธิ์จึงเรียกได้ว่า อยากจะยุบสภาวันนี้พรุ่งนี้ เพื่อยุติปัญหาไปเริ่มต้นกันใหม่ โดยเชื่อว่าหลังอภิปรายไม่ไว้วางใจ อภิสิทธิ์คงเลือกยุบสภา และหวังว่า จะมี “ตัวช่วย” ในการจัดตั้งรัฐบาล เป็นนายกฯ รอบสองอย่างที่ตั้งเป้าหมายชีวิต
กระนั้นก็ดี อย่าลืมว่าวันนี้พรรคการเมืองคู่แข่งอย่างเพื่อไทย ก็ประกาศลุยเต็มตัว ทั้งการเปิดแผลรัฐมนตรี ทำลายคะแนนรัฐบาลให้มากที่สุดในเวทีซักฟอก ก่อนไปลงดวลในสนามเลือกตั้ง ที่ต้องเล่นกันแรงแน่นอน
ประกอบกับทักษิณ เหมือนจะปรับเป้าไปสู่เวทีที่ตัวเองถนัด คือการเลือกตั้ง ถึงขั้นมีกระแสข่าว “เปิดท่อน้ำเลี้ยง” รอบใหม่ อัดฉีด ส.ส. ตรึงกำลังพลให้อยู่ในที่ตั้งกันแล้ว และว่ากันว่า ตระเตรียมกระสุนดินดำระดับกำปั้นใหญ่ๆ ถึง4พันล้าน
ไม่รวมกับแผนล็อกเป้าหมาย ต่อสายบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลในขณะนี้ไว้เกือบครบทุกพรรค ตามแผน ส่งประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทยไปเป็นฝ่ายค้าน รวมทั้งแผนสำรอง หากคะแนนเสียงเมื่อยามต้องช่วงชิงตั้งรัฐบาลไม่พอ
หนามยอกเอาหนามบ่ง ด้วย เกม “งูเห่า” ดึงลูกน้องเก่าจากเนวิน ชิดชอบ พลิกไปโหวตหนุนคนของ “นายใหญ่” เป็นนายกฯ และคืนสู่อำนาจรัฐบาล
นอกจากนี้จะเป็นเคราะห์ซ้ำกรรมซัดของ “อภิสิทธิ์” หรือไม่ก็มิทราบได้ กับกระแสข่าว “ศูนย์อำนาจ” คิดจะ “เปลี่ยนตัวเล่น” เพราะผลงานรัฐบาลไม่เข้าเป้าประทับใจของผู้กุมอำนาจประเทศไทย
ทางเดินสู่เก้าอี้นายกฯรอบสองของ “อภิสิทธิ์” ไม่ได้ง่ายแล้วกระมัง??