อาคารขนาดกลางสีฟ้าขาว ลวดลายดูสดใส มีเรื่องราวให้ผู้คนได้ค้นหาอยู่ภายในด้วยห้องจัดนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์ขนาดย่อม รวมไปถึงหุ่นตุ๊กตาน่ารัก ที่ไม่เพียงเด็กอยากถ่ายรูปด้วย แต่ผู้ใหญ่หลายคนก็อดใจไว้ไม่ได้
ที่นี่ไม่ใช่สวนสนุก หรือศูนย์เรียนรู้ แต่ด้านหลังของอาคารแห่งนี้ คือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ “เกนไก” ของบริษัทไฟฟ้าคิวชิว จังหวัดซางะ ประเทศญี่ปุ่น
แต่ละวัน “เกนไก” จะมีผู้มาเยือนเฉลี่ยประมาณ 500 คน ในปี 2009 มีเกือบ 200,000 คน ทั้งตัวแทนรัฐบาล และนักท่องเที่ยว ที่มาดูงานของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ นอกจากแผนกต้อนรับในชุดฟอร์มสดใสสีชมพูแล้ว เจ้าหน้าที่ทางเทคนิคของ “เกนไก” ในชุดป้องกันรังสีก็ต้องนำทัวร์รอบ ๆ โรงไฟฟ้า
ไม่ต่างจากโรงไฟฟ้าประเภทอื่นของญี่ปุ่น ทั้งถ่านหินลิกไนต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลม ที่มีแขกมาเยือนตลอดเวลา เป็น How to ให้หลาย ๆ ประเทศศึกษา และที่สำคัญเป็น Show Case ให้ประเทศคู่ค้าสนใจสั่งซื้ออุปกรณ์และการก่อสร้างโรงไฟฟ้า จนถือเป็นสินค้าส่งออกมูลค่าสูงที่สำคัญของญี่ปุ่น ซึ่งรวมทั้งประเทศไทย ที่ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายของญี่ปุ่น
จากประสบการณ์ในสายพลังงานมานานกว่า 40 ปีของ “สุพิณ ปัญญามาก” อดีตผู้บริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และปัจจุบันเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารสาธารณะ สำนักพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์บอกว่า ประเทศญี่ปุ่นสามารถสร้าง Positioning ตัวเองได้ชัดเจนในการเป็นผู้ส่งออกสินค้าพลังงาน และหลายประเทศใช้เป็นตัวอย่าง รวมทั้งประเทศไทย จาก 2 องค์ประกอบหลักคือ
1.เป็นประเทศที่สามารถกระจายการใช้พลังงานเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าได้เหมาะสม เช่น ถ่านหิน ลิกไนต์ พลังน้ำ ลม นิวเคลียร์ เฉลี่ยประเภทละ 25% ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงเมื่อเชื้อเพลิงใดขาดแคลน แม้บางอย่างจะมีความเสี่ยงอย่างนิวเคลียร์ แต่ญี่ปุ่นก็ไม่มีทางเลือกด้วยทรัพยากรอื่นมีจำกัด และเป็นเมืองหนาวที่จำเป็นต้องมีพลังงานเพียงพอ หรือแม้แต่พลังงานลมที่ผลได้ไม่คุ้ม แต่ญี่ปุ่นก็หวังในเรื่องของการขายเทคโนโลยีมากกว่า
2.การจัดการในการสร้างความยอมรับ โดยเฉพาะกับชุมชนรอบพื้นที่โรงไฟฟ้า ที่แม้จะไม่ได้รับการยอมรับ 100% แต่ก็ถือเป็นประเทศที่มีวิธีที่น่าสนใจ
ญี่ปุ่นได้ใช้ 3T คือ Truth คือการให้ข้อมูลความจริง Transparency ความโปร่งใสของการก่อสร้าง ความมีส่วนร่วมของชุมชน และ Trust ความเชื่อมั่นต่อการบริหารจัดการในความปลอดภัย
เจ้าหน้าที่ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกนไก เล่าว่านอกจาก 3T แล้วรัฐบาลท้องถิ่นต้องพูดคุยกับชุมชนโดยรอบ และนำรายได้จากการขายไฟฟ้าส่วนหนึ่งสมทบกองทุนความเสี่ยงในการประมง และช่วยเหลือประชาชน นอกเหนือจากนี้โรงไฟฟ้าเองยังจัดสร้างอาคารเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่โดยรอบโรงไฟฟ้ารัศมีประมาณ 5 กิโลเมตรมาใช้ประโยชน์ มีการปรับปรุงโรงเรียนโดยรอบ
แม้ระบบการจัดการ 3T จะทำอย่างเป็นระบบ แต่ทั้งหมดใช้เวลาหลายปีกว่าจะสามารถสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้
บทเรียนของญี่ปุ่นเป็นสิ่งที่ “สุพิณ” บอกว่า ประเทศไทยสามารถนำมาปรับใช้ โดยเฉพาะระบบการบริหารชุมชนรอบพื้นที่ ซึ่งกลยุทธ์การพีอาร์กับชุมชนในพื้นที่นี้ ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจอื่นๆ ที่ต้องเข้าไปสร้างโรงงานในพื้นที่ที่จะมีผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ
สำหรับประเทศไทยแนวคิดเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เริ่มมาตั้งแต่ปี 2509 มีการล้มและฟื้นแผนแล้วหลายครั้ง และล่าสุดรอคณะรัฐมนตรีอนุมัติเลือกพื้นที่ก่อสร้าง 3 ในจำนวน 5 จังหวัด คือจ.ตราด จ.สุราษฎร์ธานี ใน 2 อำเภอคือท่าชนะ และไชยา จ.ชุมพร จ.นครสวรรค์ ท่าตะโก และจ.อุบลราชธานี ด้วย
หลายปีที่ผ่านมาทีมงานของ “สุพิณ” จึงพยายามเล่าข้อมูลผ่านสื่อถึงข้อดีของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และการเข้าถึงผู้นำของกลุ่มสังคมต่างๆ ตั้งแต่ผู้นำชุมชน สื่อ โดยเฉพาะวิทยุชุมชน ไปจนถึงพระสงฆ์ รวมไปถึงการทำโพลผ่านรายการ เรื่องเล่า เสาร์-อาทิตย์ ของ “สรยุทธ สุทัศนะจินดา”
“สุพิณ” บอกว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังมีภาพที่เป็นบาดแผลลึกโดยเฉพาะเมื่อปี 2529 ที่เชอร์โนบิล สหภาพโซเวียต หรือยูเครนในปัจจุบัน เป็นเหตุการณ์ที่ยากจะลืม เพราะมีผู้เสียชีวิตทันที 31 คน และบาดเจ็บจากกัมมันตภาพรังสี 203 คน ต้องอพยพผู้คนจากพื้นที่รัศมี 30 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีเรื่องความรู้สึกไม่ไว้วางใจมาตรฐานแบบไทยๆ ว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ในการดูแลโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ดังนั้นเรื่องนี้สำหรับเมืองไทยจึงไม่ใช่เรื่องง่าย และคงต้องใช้เวลาอีกนาน
แหล่งพลังงานของการผลิตไฟฟ้า | |
ไทย | |
ก๊าซธรรมชาติ | 70.91% |
ถ่านหินลิกไนต์ | 11% |
พลังงานทดแทน | 1.8% |
น้ำมันเตา | 0.32% |
พลังน้ำ | 4.2% |
ซื้อไฟฟ้าจากเพื่อนบ้าน (ลาวและมาเลเซีย) | 3.87% |
ญี่ปุ่น | |
ถ่านหินลิกไนต์ | 25% |
พลังน้ำ | 25% |
ก๊าซธรรมชาติ | 25% |
นิวเคลียร์ | 25% |