จุดเด่นการนำเสนอสินค้าอยู่ที่การพรีเซนต์ ในกรณีนี้ญี่ปุ่นสามารถลดโทนความตึงเครียดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ “เกนไก” ที่เต็มไปด้วยข้อมูลทางด้านเทคนิค ข้อมูลข้อถกเถียงเรื่องผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบได้ด้วยรูปแบบ และองค์ประกอบที่แนบเนียน
จากอาคารขาวฟ้า เมื่อเดินเข้าไปจะพบพนักงานทำหน้าที่ต้อนรับผู้มาเยือนศูนย์ประชาสัมพันธ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกนไกตั้งแต่ทางเข้าที่เป็นห้องโถงโปร่งโล่ง มีตุ๊กตาจำลองรูปทรงมาจากถังบรรจุแกนเครื่องปฎิกรณ์ และหลายคนเข้าไปถ่ายรูปคู่ ราวกับเป็นศูนย์การแสดงความบันเทิงมากกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
ด้านในยังพิพิธภัณฑ์ มีส่วนของหุ่นจำลองเตาปฎิกรณ์เท่าของจริง แท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ และการทำงานของเตาปฎิกรณ์นิวเคลียร์ มีชั้นที่มองเห็นบริเวณกว้างของโรงไฟฟ้า และโชว์เรือนกระจกของพืชเมืองร้อนที่แสดงถึงระบบปรับอากาศที่ใช้ประโยชน์จากไอน้ำของโรงไฟฟ้า
ครบสูตรของความเป็นญี่ปุ่นด้วยบริการตรายางประทับเป็นที่ระลึกที่ดีไซน์ย้ำตัวตนของที่แห่งนี้ว่าเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
อย่างไรก็ตาม การพรีเซนต์คือเปลือกนอกที่ดึงความสนใจผู้มาเยือนเท่านั้น เบื้องหลังของ Show Caseนี้ยังมีเรื่องของยุทธศาสตร์สไตล์ญี่ปุ่น ที่นำมาสู่การมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วประเทศ แม้บางแห่งจะมีผู้ต่อต้านอยู่ แต่ดูเหมือนว่าเสียงนั้นจะเบา และรัฐบาลญี่ปุ่นก็เดินหน้าเต็มที่ เพราะไม่เพียงแต่เป็นพลังงานใช้ในประเทศเท่านั้น แต่คืออนาคตของสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศ