คาดการณ์โค้งสุดท้าย ‘อีคอมเมิร์ซโลก’ ช้อปทะลุ 30 ล้านล้านบาท ‘ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง’ ยังเป็นเทรนด์แรง

หากจะพูดถึงช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี ก็ถือว่าเป็นเวลาทองของการช้อปปิ้ง เพราะมีทั้งแคมเปญ ‘11.11’ หรือ ‘วันคนโสด’ ในฝั่งของเอเชีย ส่วนฝั่งยุโรปก็มี ‘Black Friday’ รวมถึงงานเทศกาลอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นวันคริสต์มาส, วันส่งท้ายปี ซึ่งทาง ‘อะโดบี’ ก็ได้คาดการณ์เกี่ยวกับช้อปปิ้งออนไลน์ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายนี้ว่าจะมีมูลค่ามากน้อยแค่ไหน

2 เดือนสุดท้ายช้อปทะลุ 30 ล้านล้านบาท

อะโดบีคาดการณ์ยอดขายสินค้าออนไลน์ในสหรัฐฯ ช่วงเทศกาลช้อปปิ้งปลายปีระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน ถึง 31 ธันวาคมจะแตะ 207 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 6.8 ล้านล้านบาท) ซึ่งนับเป็นสถิติใหม่ โดยเพิ่มขึ้น 10% จากปี 2020 แสดงให้เห็นว่าหลังผ่านวิกฤต COVID-19 มา 1 ปี อีคอมเมิร์ซกลายเป็นเซอร์วิสที่มีความจำเป็นต่อผู้บริโภค

ขณะที่ยอด ใช้จ่ายออนไลน์ทั่วโลก อาจแตะ 910 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 30 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว นอกจากนี้ อะโดบีคาดการณ์ว่ายอดใช้จ่ายทั่วโลกตลอดปี 2021 อยู่ที่ประมาณ 4.1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 133 ล้านล้านบาท ซึ่งนับเป็นสถิติใหม่สำหรับตลาดอีคอมเมิร์ซ

แม้อีคอมเมิร์ซได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมากขึ้นในสหรัฐฯ แต่ความสนใจช้อปปิ้งในช่วงเทศกาลหลัก ๆ ได้รับความนิยมน้อยลง อย่างช่วงสัปดาห์ Cyber Week (ช่วงวันขอบคุณพระเจ้าถึงวัน Cyber Monday) คาดว่าจะมียอดใช้จ่ายออนไลน์ 36 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็น 17% ตลอดเทศกาล โดยอัตราการเติบโตลดลงอยู่ที่เพียง 5% สำหรับช่วงระยะเวลา 5 วัน

ขณะที่ช่วง Black Friday คาดว่าจะมียอดใช้จ่ายอยู่ที่ 9.5 พันล้านดอลลาร์ เติบโตขึ้น 5% และ วันขอบคุณพระเจ้า มียอดใช้จ่ายอยู่ที่ 5.4 พันล้านดอลลาร์ เติบโตขึ้น 6% โดยวันช้อปปิ้งหลัก ๆ ทั้ง 3 วันดังกล่าวมีอัตราการเติบโตน้อยกว่าเทศกาลโดยรวม

(Photo by Rob Stothard/Getty Images)

ปัญหาด้านซัพพลายเชนกระทบเทศกาลช้อปปิ้ง

ความต้องการช้อปปิ้งออนไลน์ของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ผู้ค้าปลีกกำลังประสบปัญหาต่าง ๆ ในด้านซัพพลายเชน เช่น ปัญหาความหนาแน่นของสินค้าและตู้คอนเทนเนอร์ของท่าเรือ การขนส่งที่ล่าช้า และการผลิตสินค้าในต่างประเทศที่หยุดชะงัก ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็รู้สึกได้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยเมื่อเทียบกับช่วงมกราคม 2020 ที่ยังไม่เกิดการระบาดของ COVID-19 พบข้อความแจ้งเตือนว่า สินค้าหมดสต็อกมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นถึง 172%

ทั้งนี้ อะโดบีคาดการณ์ว่าตัวเลขดังกล่าวจะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับนี้ต่อไป และอาจเพิ่มขึ้นสำหรับสินค้าบางรายการตลอดช่วงเทศกาล และจากสินค้า 18 หมวดหมู่ที่ทำการตรวจสอบพบว่า สินค้าประเภท เครื่องแต่งกาย เป็นสินค้าที่ หมดสต็อกมากที่สุด ตามด้วย อุปกรณ์กีฬา ผลิตภัณฑ์สำหรับทารก และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์

ขณะที่ปัญหาซัพพลายเชนก็ส่งผลให้ ราคาสินค้าออนไลน์ปรับสูงขึ้น โดยคาดว่าผู้บริโภคในสหรัฐฯ จะต้อง จ่ายเงินเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 9% ในช่วง Cyber Week ของปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลมาจาก ส่วนลดที่น้อยลง โดยคาดว่าส่วนลดจะอยู่ที่ 5-25% เทียบกับส่วนลดโดยเฉลี่ย 10-30% ในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีผลกระทบจากสถานการณ์ เงินเฟ้อ อีกด้วย ทำให้ราคาสินค้าออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นราว 3.3%

ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง เทรนด์แรงต่อเนื่อง

สำหรับรูปแบบการชำระเงินนั้นพบว่า ผู้บริโภคมีแนวโน้มจะใช้บริการ ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง (Buy Now Pay Later – BNPL) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการจับจ่ายใช้สอยช่วงเทศกาลปลายปี โดยมีการใช้งานเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้น 45% เมื่อเทียบกับปี 2019

นอกจากนี้มีแนวโน้มการใช้บริการแบบ ไดรฟ์ทรู มากขึ้น หลังจากที่สามารถเดินทางไปหน้าร้านได้ โดยคิดเป็นสัดส่วน 25% ของคำสั่งซื้อออนไลน์ทั้งหมด เนื่องจากผู้บริโภคกังวลเรื่องการจัดส่งที่ล่าช้า ทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้บริการนี้เพิ่มมากขึ้น โดยจากผลการสำรวจของอะโดบี ชี้ว่า 65% ของผู้บริโภคมีความกังวลใจเกี่ยวกับความล่าช้าในการจัดส่งสินค้า

ของขวัญสะท้อนการใช้ชีวิตอยู่แต่บ้าน

จากผลการสำรวจของอะโดบีพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 51% มีแผนที่จะซื้อสินค้าที่จับต้องได้เป็นของขวัญให้แก่คนอื่น ๆ ในช่วงเทศกาลปลายปีนี้ ขณะที่ 17% มีแผนที่จะให้ของขวัญในรูปแบบของ ประสบการณ์ แทน อาทิ บริการสปา ทรีตเมนต์, ตั๋วคอนเสิร์ต, ตั๋วชมการแข่งขันกีฬา, ตั๋วเครื่องบิน และคอร์สเรียนทำอาหาร

ขณะที่ของขวัญยอดนิยม อาทิ ของเล่น, เครื่องเกม, Airpods Max, ถ้วยกาแฟอัจฉริยะ, หม้ออเนกประสงค์ Instant Pot, หม้อทอดไร้น้ำมัน, กระบอกน้ำอัจฉริยะ, โดรน และเครื่องเล่นแผ่นเสียง สะท้อนให้เห็นว่า ปัจจุบันผู้บริโภคใช้เวลาอยู่บ้านและทำงานหน้าแล็ปท็อปมากขึ้น