ถ้าคนศึกษาประวัติศาสตร์จีนจะทราบว่าสมัยก่อนวัฒนธรรมจีนมีอิทธิพลอย่างมหาศาล ขนาดที่ว่าญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม และอีกนานาประเทศในแถบเอเชียได้มีการเลียนแบบหลากหลายภาคส่วนของวัฒนธรรมจีนมาใช้กับประเทศตัวเอง อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ยุคปฏิวัติวัฒนธรรมช่วงปี 1966 – 1976 ที่นำโดยเหมา เจ๋อตง นั้น วัฒนธรรม ศิลปะจีน กลับดูเป็นเรื่องล้าหลัง น่าอับอาย ครั้งหนึ่งขนาดที่ว่าตัวอักษรจีนก็เกือบจะหายไป
หลายสิบปีผ่านไปคลื่นกระแสความนิยมในวัฒนธรรมจีนได้หวนกลับมาอีกครั้ง และในยุคที่จีนเหมือนเป็นกึ่งๆ ทุนนิยมนี้ กระแสการกลับมาในรอบนี้กลับมาในรูปแบบของการผสมผสานระหว่างรากเหง้าวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีนกับสินค้าและบริการต่างๆ ในยุคใหม่โดยคลื่นกระแสนี้ถูกเรียกว่า 国潮 (กั๋วเฉา) หรือ China-Chic Concept ในภาษาอังกฤษ
ถ้าถามว่ากระแสนี้มีผลต่อผู้บริโภคแค่ไหนก็ต้องตอบว่า 93% ของผู้บริโภคจีนมีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้า และบริการเหล่านั้นเพิ่มขึ้นหากมันเป็น 国潮 โดยเหตุผลที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ 国潮 นี้ได้รับความนิยมอย่างมาก หลักๆ ก็เป็นเพราะคนจีนในยุคปัจจุบันมีความต้องการที่จะนำกลับมาซึ่งความยิ่งใหญ่ของชนชาติจีนในอดีต พร้อมกับกระแส ‘ชาตินิยม’ ที่ก่อตัวรุนแรงขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ ปัจจุบันสามารถพบเห็นสินค้าประเภทนี้ได้ในหลากหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่อุตสาหกรรมประเภทแฟชั่น เครื่องสำอาง อาหาร เทคโนโลยี หรือกระทั่ง อุตสาหกรรมรถยนต์
อ้างอิงจากข้อมูลจาก AliResearch ช่วงปี 2018 ผู้บริโภคชาวจีนได้มีการค้นหาคำที่เกี่ยวกับ 国潮 นี้ถึง 1.26 หมื่นล้านครั้ง ในแพลตฟอร์มอาลีบาบา และเพียง 7 เดือนแรกของปี 2019 ตัวเลขนี้ก็เพิ่มขึ้นถึง 393% หนึ่งในตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ 国潮 ที่หลายคนอาจนึกถึงคือ 汉服Hanfu หรือก็คือเสื้อผ้าย้อนยุคของจีน เฉพาะแค่ใน Tmall ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้เองมียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 500% ในปี 2020 เมื่อเทียบกับปี 2019 และมีการคาดการณ์ว่าสิ้นปี 2021 นี้ เฉพาะแค่ตลาดของ 汉服Hanfu นี้จะมีมูลค่าถึง 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว
จริงๆ แล้วไม่เพียงแค่เสื้อผ้าย้อนยุค แต่วงการแฟชั่นจีนเองก็มีการประยุกต์ดีไซน์สมัยใหม่กับองค์ประกอบสไตล์จีน ทำให้เกิดรูปแบบแฟชั่นแนวใหม่ที่มีลักษณะความเป็นจีนอยู่อย่างเด่นชัด หลากหลายแบรนด์ และดีไซเนอร์จีน อาทิเช่น BanXiaoxue, Li Ning, Feiyue, Minghuatang, Guo Pei และ Zhang Turan ได้ผงาดขึ้นมาในเวทีระดับประเทศและเวทีระดับโลกจากคอนเซ็ปต์การดีไซน์ในรูปแบบนี้
ความนิยมใน 国潮 นี้ทำให้หลากหลายแบรนด์ต่างชาติต้องมีการปรับตัวตาม ซึ่งก็มีทั้งแบรนด์ต่างชาติที่ทำได้ดีและทำได้ไม่ดี ในแบรนด์ที่ทำได้ไม่ดีมักจะเกิดจากการตีความถึงความเป็น “จีน” ในลักษณะที่ตื้นเขินเกินไป ในขณะที่แบรนด์ที่ทำได้ดีนั้นจะแสดงถึงความเข้าใจในความเป็น “จีน” ได้ลึกซึ้งกว่า เช่น ไนกี้ที่มีการรคอลแลปส์กับศิลปินอย่าง Jason Deng ที่แสดงออกถึงวัฒนธรรมอาหารของประเทศจีน หรืออย่าง Dior ที่ได้สร้างป๊อปอัพสโตร์โดยมีการผสมผลานระหว่างการดีไซน์หุ่นล้ำยุคกับอาคารโบราณรวมไปถึงตึกระฟ้าอันทันสมัยในประเทศจีน
จากผลการสำรวจของ China Market Research Group and Fidelity International ปัจจุบัน 85% ของผู้บริโภคชาวจีนชื่นชอบ และให้น้ำหนักแบรนด์จีนมากกว่าแบรนด์ต่างชาติ ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นเยอะมากหากเทียบกับสมัยก่อนที่คนจีนเองยังไม่เชื่อถือในผลิตภัณฑ์ของตัวเองด้วยซ้ำ
โดยในปี 2016 มีเพียง 60% และ 2011 มีเพียง 15% ที่จะเลือกซื้อสินค้าจีนก่อนสินค้าต่างชาติ จริงๆ แล้วในหมู่คนจีนด้วยกันเองมีคำเรียกสินค้าจีนสมัยก่อนว่า 山寨(ซันไจ้) หรือก็คือพวกสินค้าก๊อปนั่นเอง แสดงให้เห็นว่าเพียงไม่กี่สิบปีก่อนหน้า คนจีนเองยังดูแคลนผลิตภัณฑ์ของประเทศตัวเองอยู่เลย ดังนั้นจะเห็นได้ว่าจีนมาได้ไกลมากๆ ทั้งในแง่การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และทำให้ประชาชนรู้สึกภูมิใจในชาติ และผลิตภัณฑ์ของตัวเอง
หากหันกลับมามองที่ไทยเราดูเหมือนไม่ว่าผ่านไปกี่ปี แบรนด์ สินค้า และบริการต่างชาติก็ดูเหมือนจะได้รับความนิยมในหมู่คนไทยเรา มากกว่าแบรนด์ไทยเองมาโดยตลอด อาจต้องใช้เวลาและความร่วมมือจากหลากลายภาคส่วน อีกหลายปีกว่าที่จะทำให้คนไทยส่วนใหญ่หันมานิยมภูมิใจในแบรนด์ไทย และเลือกซื้อเลือกใช้สินค้าไทยก่อนแบรนด์ต่างชาติได้