“เต่าบิน” คาเฟ่ชงสดอัตโนมัติ 100 เมนูในตู้เดียว FORTH ต่อยอดจากตู้บุญเติม

ตู้ เต่าบิน
น้องใหม่ที่เข้าสู่ธุรกิจร้านชากาแฟทั่วไทย “เต่าบิน” ตู้ชงเครื่องดื่มอัตโนมัติที่ขอนิยามตัวเองว่าเป็น “คาเฟ่ในตู้ขนาด 1×1 เมตร” จุดไฮไลต์อยู่ที่การทำเครื่องดื่มได้มากกว่า 100 เมนู และเป็นการชงสดในตู้ ผ่านการ R&D และผลิตเครื่องเองในเครือ FORTH เจ้าของเดียวกับตู้บุญเติม ผ่านไปไม่ถึง 1 ปีมีบริการแล้วมากกว่า 300 จุด และกำลังรุกสู่ต่างจังหวัดให้มากขึ้น

กาแฟหอมๆ จากตู้ชงเครื่องดื่มอัตโนมัติ “เต่าบิน” ไม่ใช่กาแฟชงสำเร็จรูปที่เราคุ้นเคย แต่เป็นกาแฟสดที่เพิ่งบดเมล็ดออกมาชงให้ลูกค้าเหมือนมีบาริสต้าอยู่ในตู้ สร้างความประทับใจและความแปลกใหม่ให้กับผู้บริโภค จากเดิมการหากาแฟสดแบบนี้ดื่มต้องไปที่ร้านกาแฟเท่านั้น แต่วันนี้เต่าบินตั้งตู้ดักลูกค้าได้ในจุดที่ใกล้ตัวผู้บริโภคมากขึ้นไปอีก ไม่ว่าจะเป็นล็อบบี้คอนโดมิเนียม พื้นที่รอพบแพทย์ในโรงพยาบาล ใต้ตึกออฟฟิศ โรงงาน ห้างฯ สถานศึกษา สถานีรถไฟฟ้า ฯลฯ

Positioning มีโอกาสได้คุยกับ “สิทธิโชค อมตานนท์” ทายาทและกรรมการบริหาร บมจ. ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น (FORTH) และเป็นผู้คุมโปรเจกต์ “ตู้เต่าบิน” ภายใต้ บริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด ในเครือ โดยสิทธิโชคได้เล่าถึงความน่าสนใจของตู้เต่าบินและการวิจัยพัฒนาของบริษัทที่จะทำให้ตู้โดดเด่นในตลาด

ตู้เต่าบิน

ตู้เต่าบินเป็นตู้ชงเครื่องดื่มอัตโนมัติที่ทำงานได้ 24 ชั่วโมง เพราะไม่ต้องมีพนักงาน และใช้พื้นที่น้อยเพียง 1×1 เมตร รวมถึงเมนูที่ทำได้ไม่ใช่แค่กาแฟสด แต่มีเมนูมากกว่า 100 รายการ ครอบคลุมสารพัดหมวดเครื่องดื่มตั้งแต่ชา กาแฟ โซดา น้ำอัดลม มีแม้กระทั่ง น้ำเชื่อมผสมกัญชา และ เวย์โปรตีน!

เห็นได้ว่าตู้ที่ไม่ต้องมีพนักงาน ทำงานเวลาไหนก็ได้ และใช้พื้นที่วางน้อย ทำให้โอกาสวางตู้เต่าบินมีสูงขึ้นกว่าร้านชากาแฟปกติ ดักลูกค้าได้แบบใกล้ตัวมากกว่าเดิม

“สิทธิโชค อมตานนท์” ผู้คุมโปรเจกต์ “ตู้เต่าบิน” ภายใต้ บริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด

สิทธิโชคเปิดเผยว่า ตั้งแต่เปิดตัวเมื่อเดือนมีนาคม 2564 ปัจจุบัน “เต่าบิน” วางบริการไปแล้วกว่า 300 จุด ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล มีออกต่างจังหวัดบ้างแล้ว เช่น จ.ชลบุรี จ.ลำปาง จ.เชียงใหม่

ส่วนหนึ่งที่ขยายได้เร็วเพราะใช้ระบบเดียวกับตู้บุญเติม นั่นคือการวางระบบตัวแทน บริษัทตัวแทนที่เป็นพันธมิตรของฟอร์ท เวนดิ้งจะได้สิทธิบริหารหาจุดลงตู้และบริการดูแลตู้แต่เพียงผู้เดียวในขอบเขตพื้นที่ที่กำหนด ทำให้ฟอร์ทมีฐานพันธมิตรเดิมจากตู้บุญเติมอยู่แล้ว และมีรายใหม่ๆ เข้ามาด้วย

“คิดว่าเต่าบินน่าจะเป็นธุรกิจที่ทำกำไรให้บริษัทแม่ เป็นน้องใหม่ไฟแรงที่จะเป็น Hero Product ตัวใหม่คู่กับตู้บุญเติมได้” สิทธิโชคกล่าว

 

จุดแข็ง “เต่าบิน” พัฒนาเอง ผลิตตู้เอง

สิทธิโชคเล่าถึงที่มาของการผลิตตู้เต่าบิน เกิดจากการต่อยอด “ตู้บุญเติม” ที่ประสบความสำเร็จมาก และมองเทรนด์จากในต่างประเทศที่ตู้อัตโนมัติต่างๆ แพร่หลาย บริษัทจึงลองสั่งซื้อตู้ชงเครื่องดื่มที่มีอยู่แล้วในตลาดมาจากประเทศจีน แต่ปรากฏว่าระบบตู้ยังไม่ดีพอ กระบวนการทำงานในตู้ไม่มีคุณภาพเพียงพอ และมีปัญหาเสียง่าย

เอสเปรสโซร้อน ราคา 25 บาท ใช้กาแฟคั่วบดชงสด

สุดท้ายฟอร์ทจึงต้องวิจัยและพัฒนาเองทั้งหมด ซึ่งบริษัทมีทีมพร้อมจากตู้บุญเติมอยู่แล้วและมีโรงงานผลิตตู้ที่พุทธมณฑลสาย 5 จ.นครปฐม สิ่งที่เติมเข้ามาจึงเป็นการหาที่ปรึกษานักวิทยาศาสตร์การอาหารมาคิดค้นสูตรเครื่องดื่ม และร่วมมือกับแชมป์บาริสต้าระดับประเทศเพื่อคิดค้นสูตรกาแฟโดยเฉพาะ

นอกจากนี้ ยังพัฒนาติด ระบบเซ็นเซอร์ AI ภายในตู้ด้วย โดยเซ็นเซอร์นี้จะคอยตรวจเช็กสต๊อกวัตถุดิบในตู้ ทำให้ตู้แจ้งเตือนสินค้าหมดได้ทันที และส่งข้อมูลแจ้ง ‘Route Man’ หรือพนักงานเติมวัตถุดิบให้เบิกสต๊อกมาล่วงหน้า ไม่ต้องเทียวไปเทียวมาหลายรอบ

 

คู่แข่งเข้าตลาด…ไม่ง่าย

“เต่าบิน” ใช้เวลา 2 ปีกว่าที่จะพร้อมออกสู่ตลาด โดยมีความท้าทายที่บริษัทตั้งโจทย์คือ ตู้จะต้องชงเครื่องดื่มได้มากกว่า 100 เมนู ทำได้ทั้งร้อน เย็น ปั่น เพื่อให้ครอบคลุมความต้องการผู้บริโภคทุกกลุ่มจริงๆ และยังต้องมีขนาดตู้ไม่เกิน 1×1 เมตร เพื่อให้ตั้งบริการได้ง่าย

“ผมพูดได้เลยว่า ไม่มีที่ไหนบนโลกที่ทำได้เกิน 100 เมนูในตู้เดียวแบบนี้ มีชาวต่างชาติมาดูงานยังตกใจว่าคนไทยทำได้” สิทธิโชคกล่าว

หนึ่งในกลุ่มเมนูยอดนิยม “บ๊วยมะนาวโซดาเย็น”

การพัฒนาเอง ผลิตเอง ซ่อมเองได้ จะเป็นจุดแข็งของเต่าบินในระยะยาวด้วย เพราะสิทธิโชคมองว่าขณะนี้คู่แข่งน่าจะเริ่มมองหาโปรดักส์มาแข่งกับตู้เต่าบินแล้ว จากกระแสผู้บริโภคบอกปากต่อปาก ผลตอบรับดี มีกระแสรีวิวในโซเชียลมีเดียจำนวนมาก

แต่ถ้าหากคู่แข่งไม่ได้พัฒนาเอง เป็นการสั่งตู้จากต่างประเทศ อาจมีปัญหาเรื่องการซ่อมแซมตู้ แก้ปัญหาการใช้งาน และพัฒนาต่อยอด ยกตัวอย่างเต่าบินเองมีการพัฒนาต่อเนื่อง มีการเพิ่มเมนูใหม่ๆ และอนาคตอาจจะมีฟีเจอร์ใหม่ เช่น ชาไข่มุก ดังนั้น กำแพงป้องกันการเข้าสู่ธุรกิจก็ยังมีอยู่บ้าง

 

เป้าหมาย 2565 ขึ้นสู่ “หลักพัน” ตู้

สำหรับเป้าหมายของตู้เต่าบิน สิทธิโชคหวังว่าปี 2565 จะขยับขึ้นไปเป็นหลักพันตู้ โดยมองเทียบกับตู้บุญเติมเองก็พุ่งเกิน 1 แสนตู้ไปแล้ว จึงน่าจะทำได้

อย่างไรก็ตาม กลุ่มเป้าหมายของตู้บุญเติมกับตู้เต่าบินเป็นคนละกลุ่มกันอย่างชัดเจน ด้วยราคาเครื่องดื่มเต่าบิน ยกตัวอย่าง เอสเปรสโซร้อนราคา 25 บาท อเมริกาโนเย็น 35 บาท ทำให้กลุ่มตลาดที่จับจะเป็นตลาดระดับกลาง การไปตั้งตู้ในต่างจังหวัดก็จะอยู่ในจุดที่คล้ายคลึงกับกรุงเทพฯ

“ผมพูดได้เลยว่า ไม่มีที่ไหนบนโลกที่ทำได้เกิน 100 เมนูในตู้เดียวแบบนี้ มีชาวต่างชาติมาดูงานยังตกใจว่าคนไทยทำได้”

ปัจจุบันการตอบรับของลูกค้าค่อนข้างดี ตู้ที่ขายดีที่สุดคือที่ “โรงพยาบาลศิริราช” ซึ่งเคยทำสถิติสูงสุด 200 แก้วต่อวัน มองว่าพื้นที่ “โรงพยาบาล” ถือเป็นทำเลทอง เพราะมีคนเข้าออกมาก และโดยเฉพาะบริเวณนั่งรอเรียกคิว ผู้บริโภคมักจะไม่ต้องการเดินออกไปไกล ทำให้ตู้อัตโนมัติคือคำตอบที่ใช่

รองลงมาคือพื้นที่ “คอนโดฯ” เนื่องจากสร้างความสะดวกให้ลูกค้าทันที ผู้บริโภคมักจะซื้อก่อนออกเดินทางไปทำงาน ดื่มระหว่างขับรถ โดยไม่ต้องหาแวะจอดที่ปั๊มน้ำมันอีก

อนาคตของเต่าบิน จะมีการพัฒนาสินค้าใหม่เรื่อยๆ อย่างล่าสุดมีเมนูใหม่คือ “โอรีโอ้ปั่นภูเขาไฟ” โชว์ความสามารถตู้ที่ทำเมนูปั่นได้แล้ว และในระยะต่อไปอาจจะมีโปรดักส์ตู้อัตโนมัติแบบใหม่ที่ “ทำอาหาร” ได้ แต่จะเป็นเมนูอะไรนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนา

 

เกร็ดข้อมูลเรื่อง “เต่าบิน”
  • “เต่าบิน” เป็นชื่อที่เลือกจากการระดมความคิดกับพนักงาน โดยชื่อนี้มาจากชื่อเล่น “เต่า” ของคุณพ่อ พงษ์ชัย อมตานนท์ ประธานกรรมการบริหาร FORTH และเป็นความแปลกมหัศจรรย์ที่เต่าสามารถบินได้ เหมือนกับตู้นี้
  • Top 6 หมวดเครื่องดื่มขายดีของเต่าบิน ได้แก่ กลุ่มโซดา, กลุ่มกาแฟ, กลุ่มเครื่องดื่มใส่นม, กลุ่มชา, กลุ่มเครื่องดื่มผลไม้ และกลุ่มเวย์โปรตีน
  • เมล็ดกาแฟสดของตู้เต่าบินมาจากแหล่งปลูกในประเทศไทยกับเอธิโอเปีย และใช้นมผงเกรดพรีเมียมนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อให้รสคล้ายนมสดให้มากที่สุด