ตลาดสินค้า “แม่และเด็ก” ในไทยยังมาแรง แม้เกิดวิกฤต COVID-19 และจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลง เนื่องจากเหล่าคุณแม่ยังคงใช้จ่ายสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูก โดยเทรนด์ช่วงที่ผ่านมา พบว่าสินค้าระดับพรีเมียมยิ่งขายดี รวมถึงสินค้าออร์แกนิคตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย ด้านเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภค เหล่าแม่ๆ ยอมรับช่องทาง “ออนไลน์” มากขึ้นในทุกมุมมอง
ข้อมูลจาก “ธนาคารกรุงเทพ” ระบุว่าตลาดสินค้า “แม่และเด็ก” ในไทยมีมูลค่าแตะ 40,300 ล้านบาท และปี 2564 กลายเป็นตลาดที่น่าจับตามองเพราะมูลค่าตลาดเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากพ่อแม่ยุคใหม่มีการวางแผนเตรียมตัวก่อนมีลูกมากขึ้น มีการวางงบประมาณเลี้ยงดูบุตร จึงทำให้ครอบครัวยุคใหม่พร้อมจ่ายสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ดีและมีเทคโนโลยีสูงสำหรับเด็ก
ตลาดแม่และเด็กนั้น คนมักจะคิดถึงเฉพาะของกินของใช้ แต่ “ธนาคารกสิกรไทย” สำรวจตลาดพบว่า สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับเด็กนั้นมีหลากหลายขึ้นมาก โดยแบ่งออกเป็น 7 กลุ่ม ได้แก่ เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายเด็ก, อาหารและขนมเด็ก, ของเล่นเสริมพัฒนาการ, ของใช้สำหรับเด็ก, เครื่องสำอางสำหรับเด็ก, สถาบันเสริมทักษะสำหรับเด็ก และสินค้าเพื่อความปลอดภัยสำหรับเด็ก (เช่น นาฬิกาข้อมือติดตามตำแหน่ง)
เห็นได้ว่า ตลาดเปิดกว้างมากสำหรับกลุ่มแม่และเด็ก โดยข้อมูลจาก “นิธินันท์ อัศวทร” กรรมการ บริษัท ทิคเคิลด์ มีเดีย จำกัด และผู้จัดการประจำประเทศไทยของ TheAsianparent มองตรงกันว่าตลาดแม่และเด็กปี 2564 ยังคงเติบโต
นิธินันท์กล่าวว่า แม้ว่าจำนวนเด็กเกิดใหม่จะลดลง 2% แต่กำลังซื้อต่อคนของคุณแม่ไม่ได้ลดลงและกลับเพิ่มขึ้นด้วย ยกตัวอย่าง งาน Baby Fair Central x TheAsianparent 2021 ที่จัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ยอดขายภายในงานเติบโตถึง 6 เท่าเทียบกับปีก่อน ซึ่งนอกจากจะเกิดจากกำลังซื้อที่พร้อมแล้ว น่าจะเกิดจากมู้ดผู้บริโภคช่วงนั้นเกิด ‘Revenge Spending’ ด้วย หลังผ่านการล็อกดาวน์นานหลายเดือน
สินค้าพรีเมียมรุ่ง แม่ๆ ยอมเปย์ให้ลูก
ข้อมูลจาก Mintel สำรวจตลาดของใช้ส่วนตัวสำหรับเด็กในไทย พบว่ากลุ่มที่มาแรงคือสินค้า “พรีเมียม” ที่ปลอดภัยกับเด็ก รวมถึงตอบโจทย์ด้านเวลเนสและไลฟ์สไตล์ได้ด้วย
สอดคล้องกับข้อมูลของนิธินันท์ที่เล็งเห็นพฤติกรรมคุณแม่ การเลือกสินค้าให้ลูกไม่ได้เลือกที่ถูกที่สุด แต่เลือกสิ่งที่ดีที่สุด ยิ่งสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เช่น รถเข็นเด็ก คุณแม่ยินดีที่จะจ่ายราคาแพงกว่าเพื่อให้ได้เทคโนโลยีดีกว่า โดยมองว่าเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง
การใช้จ่ายกับสินค้าพรีเมียมสะท้อนในยอดขายชัดเจน ยกตัวอย่างแบรนด์เสื้อผ้าเด็ก Arpanetgirl ซึ่งเป็นแบรนด์ระดับกลางถึงระดับบน พบว่ายอดใช้จ่ายต่อบิลปีนี้ขึ้นไปถึง 10,000 บาทต่อบิล และคาดว่าปีหน้ายอดขายบริษัทจะโต 20-30% จากกำลังซื้อกลุ่มกลางถึงไฮเอนด์ที่ยังคงมีสม่ำเสมอ
ผลิตภัณฑ์ “ออร์แกนิค” มาแรง
ด้านกลุ่มสินค้าที่มาแรงปีนี้ นิธินันท์มองว่ากลุ่มผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคยิ่งมาแรงมากขึ้น แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ดีมานด์ยังคงโตต่อเนื่อง ซึ่งไม่ใช่แค่อาหารหรือเครื่องดื่ม แต่รวมถึงของใช้ของเด็กด้วย เช่น ครีมอาบน้ำ เสื้อผ้า กระทั่งคอกกั้นเด็กคุณแม่ก็ต้องการวัสดุสารเคมีต่ำ เนื่องจากกังวลเรื่องเด็กอาจมีอาการแพ้ได้
สอดคล้องกันกับข้อมูลของ Mintel ที่พบว่าของใช้เด็กนั้น สิ่งสำคัญที่คุณแม่มองหาคือ ต้องทำมาจากส่วนผสมที่เป็นธรรมชาติและปลอดภัยกับเด็ก โดยมีแม่ๆ 75% ที่ให้ปัจจัยนี้เป็นอันดับหนึ่งในการเลือกสินค้า
“ออนไลน์” พฤติกรรมใหม่ของคุณแม่
TheAsianparent ยังระบุถึงอีกเทรนด์พฤติกรรมของคุณแม่หลังเผชิญวิกฤต COVID-19 นั่นคือการยอมรับการใช้ชีวิต “ออนไลน์” ทั้งของตนเองและลูกๆ เช่น ยอมรับการเรียนออนไลน์อยู่กับบ้านของลูกมากขึ้น เนื่องจากกังวลว่าลูกจะได้รับเชื้อมากกว่าหากกลับไปเรียนออนไซต์
คุณแม่ยังนิยมซื้อสินค้าออนไลน์ให้กับลูก จากพฤติกรรมก่อนหน้านี้ คุณแม่จะต้องการจับต้องสินค้าก่อนตัดสินใจซื้อ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ขนาดใหญ่ เช่น รถเข็น คอกกั้น ต้องได้ทดลองใช้ก่อน แต่ปัจจุบันยอมที่จะซื้อออนไลน์ เพราะกังวลเรื่องความสะอาดหากต้องออกจากบ้านไปทดลองใช้สินค้าที่หยิบจับร่วมกับผู้อื่น
รวมไปถึงการพบแพทย์ Telemedicine กลายเป็นช่องทางที่นิยมมากขึ้น จากเดิมเด็กๆ ที่มักจะป่วยง่าย เมื่อเกิดเจ็บป่วย พ่อแม่มักเร่งรีบพาไปโรงพยาบาล แต่ยุคนี้หากเป็นไปได้ คุณแม่ก็ยอมรับที่จะพบแพทย์ออนไลน์มากขึ้นเพื่อรักษาในเบื้องต้นด้วยตนเอง
ทั้งหมดคือเทรนด์ของตลาดสินค้า “แม่และเด็ก” ในปีนี้และมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นต่อเนื่องจนถึงปีหน้า!