เปิดเเผน ‘ศรีสวัสดิ์ แคปปิตอล’ สู่ Tech Leasing ดันสินเชื่อเเตะหมื่นล้าน เข้าตลาดหุ้นปี 65

เปิดเเผน ‘ศรีสวัสดิ์ แคปปิตอล’ กับหมุดหมายการเป็น Tech Leasing ดันยอดสินเชื่อเเตะหมื่นล้าน โตไม่น้อยกว่า 60% พร้อมเข้าจดทะเบียนตลาดฯ ในปี 65 เร็วกว่าที่คาด

ในวิกฤตโรระบาด ความต้องการ ‘สินเชื่อ’ ทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับสถานะเงินตึงตัวมากขึ้นของประชาชน ทำให้ธุรกิจ ‘Non-Bank’ เติบโต ด้วยความที่เน้นปล่อยสินเชื่อขนาดเล็กเจาะรายย่อย มีความคล่องตัว เเละมีความยืดหยุ่นในการพิจารณาสินเชื่อมากกว่าธนาคารพาณิชย์

หนึ่งในนั้นคือ ‘ศรีสวัสดิ์ แคปปิตอล’ หรือ SCAP บริษัทลูกสายตรงของ ‘ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น’ (SAWAD) ซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่ 65%

หลักๆ เเล้ว SCAP ให้บริการด้านสินเชื่อกับ ‘ลูกค้ารายย่อย’ ทั้งลูกค้าบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เปิดให้บริการเข้าสู่ปีที่ 3 ปัจจุบันให้บริการด้านสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ป้ายแดงในสัดส่วนถึง 70% และส่วนที่เหลือเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

วิชิต พยุหนาวีชัย กรรมการผู้จัดการ บจก. ศรีสวัสดิ์ แคปปิตอล กล่าวว่า ในปี 2564 ที่ผ่านมา ถือเป็นช่วงเเห่งการ ช่วง ’ขยายกิจการ’ เพิ่มช่องทางการเข้าถึงของลูกค้า เเละเพิ่มจำนวนพนักงานสินเชื่อ หรือตัวเเทนจำหน่าย (ดีลเลอร์) ไปทั่วประเทศ ขณะเดียวกันก็ทุ่มลงทุนในเทคโนโลยี ปรับปรุงระบบการทำงาน เพื่อปูทางไปสู่การเป็น Tech Leasing เต็มตัว

สำหรับในปี 2565 มองว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะดีขึ้น จากการคลายล็อกดาวน์เเละความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มฟื้นตัว เอกชนกล้าลงทุนเเละประชาชนกล้าจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

ขยับสู่ชุมชน ปรับนโยบายปล่อยสินเชื่อ 

โดยเเผนกลยุทธ์ในการขยายสินเชื่อของปีนี้ จะเน้นไปที่การเข้าถึงชุมชนให้ได้มากที่สุด จากระดับจังหวัดสู่ระดับอำเภอ

ในส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ป้ายแดง จะมีการเพิ่มพนักงานขายในท้องถิ่น เพิ่มจำนวนดีลเลอร์ สร้างสัมพันธ์ที่ดีกับดีลเลอร์เพื่อขยายฐานลูกค้า และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานด้วยการนำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้ตั้งเเต่ต้นจบ ทั้งการยื่นขอสินเชื่อ ส่งเอกสาร วิเคราะห์สินเชื่อเเละการอนุมัติ ชำระเงิน และการติดตามหนี้

“เทคโนโลยีที่เข้ามาช่วย นอกจากจะช่วยในการยื่นและอนุมัติสินเชื่อได้ได้รวดเร็วเเล้ว ยังจะช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน และเพิ่มผลประกอบการที่ดีให้บริษัท”

ด้านสินเชื่อส่วนบุคคล จะใช้กลยุทธ์เพิ่มจำนวนพนักงานขาย ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ เเละเพิ่มผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย พร้อมปรับเปลี่ยนนโยบายสินเชื่อให้สอดรับกับลูกค้าหลายกลุ่ม

จากเดิม SCAP จะเจาะกลุ่มลูกค้าสินเชื่อส่วนบุคคล ที่มีรายได้ประจำตั้งแต่ 30,000 บาทต่อเดือน จึงจะมีขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้นเเละมีความสามารถในการกู้เพิ่มขึ้น อย่างกลุ่ม SMEs

วางเป้าปี 65 ยอดสินเชื่อเเตะ 1 หมื่นล้าน 

ในปีนี้บริษัทตั้งเป้าสินเชื่อปล่อยใหม่ เติบโต 60% จากปีก่อนที่ปล่อยสินเชื่อใหม่ไป 5 พันกว่าล้านบาท หรือเติบโต 150% ในปี 2564 ซึ่งคาดว่ายอดสินเชื่อคงค้างในพอร์ตจะแตะ 10,000 ล้านบาทในปี 2565

โดยมองการเเข่งขันในตลาดนี้สูงมาก ทั้งสินเชื่อส่วนบุคคลให้วงเงินที่สูงขึ้น-ดาวน์น้อยลง มีการลดดอกเบี้ยเพื่อดึงดูดลูกค้า ซึ่งก็จะมีการปรับเงื่อนไขการอนุมัติสินเชื่อให้ง่าย เพื่อให้ดีลเลอร์ขายรถได้มากขึ้น

ทั้งนี้ ตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของ SCAP อยู่ในปัจจุบันอยู่ที่ระดับใกล้เคียง 2%  ซึ่งบริษัทมองว่ายังต่ำ และประเมินว่าในปีนี้น่าจะที่ไม่เกิน 2.5%

Photo : Shutterstock

ปูทาง Tech Leasing เตรียมพร้อมเข้าตลาดหุ้น 

สำหรับการเตรียมความพร้อมสู่ Tech Leasing Company นั้น บริษัทเริ่มทำมาตั้งแต่ปีที่แล้ว อย่างเช่น การวิเคราะห์การให้สินเชื่อเเบบ ‘Credit Scoring’ ซึ่งจะช่วยการอนุมัติสินเชื่อได้รวดเร็ว เเละแม่นยำขึ้น ลดภาระให้พนักงานขาย ดีลเลอร์ก็มีความพึงพอใจ

การตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโร ผ่านระบบ e-Consent ที่ทำงานร่วมกับกรมการปกครอง และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ เพื่อให้การตรวจสอบเป็นไปอย่างง่ายดาย นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาระบบ ‘SFast’ อนุมัติสินเชื่อได้ภายใน 15 นาที ช่วยให้ดีลเลอร์ได้รับค่ารถภายใน 1 วัน และระบบ Field collector ที่ดูแลเรื่องการติดตามทวงหนี้ เเละกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาเเนวทางการใช้ระบบบล็อกเชนเเละสินทรัพย์ดิจิทัลเข้ามาสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจเพิ่มเติมในอนาคตด้วย

สุดท้ายกับ อีกหนึ่งเป้าหมายใหญ่ในปี 2565 ของ SCAP คือการเข้าจดทะเบียนเข้าสู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งนับว่าเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากเดิมวางเป้าหมายเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ช่วงปี 2566-2567 เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่เริ่มทยอยฟื้นตัวดีขึ้น เเละบริษัทก็มีอัตราการเติบโตของธุรกิจ ซึ่งเป็นโอกาสที่จะขยายธุรกิจ โดยมีวัตถุประสงค์ในการระดมทุนเพื่อนำเงินไปใช้รองรับการปล่อยสินเชื่อ การขยายธุรกิจ และการพัฒนางานบริการด้านดิจิทัล