‘คลัง’ ยันไม่เลื่อนเก็บ ‘ภาษีคริปโต’ เร่งสรุปเเนวทางเก็บภาษีหุ้น ‘เเบงก์ชาติ’ จ่อห้ามใช้สินทรัพย์ดิจิทัลชำระสินค้า

‘คลัง’ ยันไม่เลื่อนเก็บ ‘ภาษีคริปโต’ พร้อมเร่งสรุปเเนวทางเก็บ ‘ภาษีหุ้น’ ในลำดับต่อไป ด้านเเบงก์ชาติ จ่อออกกฏควบคุมการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลชำระสินค้าเเละบริการ 

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความกังวลของนักลงทุนในการจัดเก็บภาษีจากการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ คริปโตเคอร์เรนซีว่า ขณะนี้กรมสรรพากรกำลังเร่งจัดทำแนวทางปฏิบัติในส่วนของการยื่นเสียภาษีเงินได้ของคริปโตฯ ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยจะเร่งให้เสร็จเรียบร้อยทันปีภาษีนี้ หรือภายในเดือนมกราคมนี้

ในปี 2564 ที่ผ่านมา ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีเม็ดเงินหมุนเวียนจำนวนมาก และเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด มีทั้งนักลงทุนในรูปแบบเดิม และนักลงทุนหน้าใหม่ เข้าไปลงทุนเป็นจำนวนมาก

จากการที่ภาคเอกชนได้ยื่นเสนอให้มีการยกเว้น 1-2 ปีนั้น ทางกระทรวงการคลัง ขอยืนยันว่า จะไม่มีการเลื่อนการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาออกไป เพราะถือเป็นเงินได้ที่เสียกันมาตั้งแต่กฎหมายบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2561 แล้ว โดยขณะนี้มุ่งหวังที่จะทำให้เกิดความเข้าใจ มีความชัดเจนของมาตรการภาษีดังกล่าวมากขึ้น

“การยื่นแบบเงินได้คริปโตเคอร์เรนซี ถือว่าเป็นการประเมินรายได้ของตัวผู้ยื่นแบบนักลงทุนเอง โดยปีนี้จะคาดว่าจะทำให้ชัดเจนขึ้นว่า รายได้ที่เกิดจากการซื้อขายมีจำนวนเท่าไหร่ มีการทำบัญชีแบบค่าเฉลี่ยอย่างไร เพื่อให้นักลงทุนและผู้ยื่นแบบภาษี มีการเสียภาษีในแบบฟอร์มได้ง่ายขึ้น โดยยังคงมีระยะเวลาในการยื่นแบบถึง 31 มี.ค. 2565 ซึ่งไม่ได้มีการเลื่อนเวลาเก็บภาษีออกไป”

ส่วนความคืบหน้าแนวทางการเก็บ ‘ภาษีหุ้น’ กระทรวงการคลังกำลังอยู่ในช่วงศึกษาเเละหารือ รับฟังความเห็นร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งตลาดหุ้น ก.ล.ต. โบรกเกอร์ นักลงทุน ฯลฯ

โดยในปัจจุบัน ประเทศที่มีตลาดหุ้นเกือบทุกประเทศมีการจัดเก็บภาษีหุ้นกันหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ หรือส่วนต่างกำไร หรือ Capital Gain ซึ่งในส่วนของประเทศไทย คาดว่าจะมีข้อสรุปรูปแบบการจัดเก็บภาษีที่ชัดเจนในเร็วๆนี้

ด้าน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยืนยันไม่สนับสนุนใช้ ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ เป็นช่องทางชำระเงิน โดยระบุว่า ปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้ขยายขอบเขตการประกอบธุรกิจในลักษณะให้บริการ ชักชวนหรือแสดงตน ว่าพร้อมจะให้บริการแก่ร้านค้าและผู้ประกอบการในธุรกิจต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น จัดทำระบบและโฆษณาเชิญชวนร้านค้า ซึ่งการที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในลักษณะดังกล่าว อาจส่งผลให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการเป็นวงกว้าง นอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวม

รวมถึงเป็นความเสี่ยงต่อประชาชนและธุรกิจ อาทิ ความเสี่ยงจากการสูญมูลค่าที่เกิดจากความผันผวนของราคา ความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล หรือการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน

หน่วยงานกำกับดูแลต่างตระหนักถึงความเสี่ยงและผลกระทบดังกล่าว จึงพิจารณาใช้อำนาจตามกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าหรือบริการในวงกว้าง และจะมีแนวทางกำกับดูแลที่เหมาะสม สำหรับบริการที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลบางประเภทที่เป็นประโยชน์ต่อนวัตกรรมทางการเงินและไม่สร้างความเสี่ยงเชิงระบบที่กล่าวถึงข้างต้น

สำหรับร่างหลักเกณฑ์ห้ามมิให้ผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการนำทรัพย์สินดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ มี 6 ข้อ ดังนี้

1.ไม่โฆษณาเชิญชวนว่าพร้อมให้บริการแก่ร้านค้า ว่าสามารถรับชำระด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลได้
2.ไม่จัดทำระบบหรือเครื่องมืออำนวยความสะดวกแก่ร้านค้าเพื่อรับชำระด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล
3.ไม่ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (wallet) แก่ร้านค้าเพื่อรับชำระ
4.การขายสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเงินบาท ต้องโอนเข้าบัญชีตัวเองเท่านั้น
5.ไม่ให้บริการโอนสินทรัพย์ดิจิทัล / เงิน จากบัญชีของผู้ซื้อขาย ไปยังบัญชีรายอื่นหรือบุคคลอื่นใด เพื่อวัตถุประสงค์ของการรับชำระค่าสินค้าเเละบริการ
6.ไม่ดำเนินการอื่นใดที่จะเป็นการสนับสนุนหรือส่งเสริมการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลมาเป็นสื่อกลางการชำระค่าสินค้าและบริการ

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธปท. กล่าวว่า ธปท. คำนึงถึงทั้งความเสี่ยงและประโยชน์ของสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงเทคโนโลยีเบื้องหลัง และมองว่า “ณ ขณะนี้การนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการอย่างแพร่หลายจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศ”

ดังนั้น จึงควรมีการกำกับดูแลที่ชัดเจน ขณะที่เทคโนโลยีและสินทรัพย์ดิจิทัลบางประเภทที่ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงดังกล่าวก็ควรได้รับการสนับสนุนโดยมีกลไกดูแลที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดนวัตกรรมและประโยชน์ต่อประชาชน

ขณะที่รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า จากการหารือร่วมกันกับ ธปท. และ กค. ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลควบคู่ไปกับการคุ้มครองผู้ซื้อขายอย่างเหมาะสม และให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จึงได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ เพื่อประกอบการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ต่อไป

.