จีนเพิ่งประกาศแผนยุทธศาสตร์พัฒนาการท่องเที่ยวฉบับที่ 14 ระยะ 5 ปีออกมา ไฮไลต์ของแผนนี้จะเน้นดึงคนจีนเที่ยวในประเทศ กระจายความเจริญสู่ชนบท เน้นการท่องเที่ยวกลางแจ้ง กีฬา และวัฒนธรรม รวมถึงการอัปเกรด “ห้องน้ำ” ให้สะอาดถูกสุขอนามัย พร้อมเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก
บทความข่าวจาก South China Morning Post รายงานรายละเอียด “แผนยุทธศาสตร์พัฒนาการท่องเที่ยวฉบับที่ 14” ของประเทศจีน โดยจะมีระยะ 5 ปี ประกาศเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2022 มีเป้าประสงค์ที่จะวางคอนเซ็ปต์การพัฒนาใหม่ เพื่อให้ความต้องการการท่องเที่ยวระดับแมสได้รับการตอบสนองได้ดีขึ้น โดยเฉพาะการท่องเที่ยวแถบชนบท รวมถึงกิจกรรมสันทนาการกลางแจ้งและด้านวัฒนธรรม จะได้รับการพัฒนาเป็นสำคัญ
ด้านกลุ่มเป้าหมายของแผนจะเน้น “นักท่องเที่ยวภายในประเทศ” ซึ่งไม่น่าแปลกใจนักเพราะเป็นแผนที่ออกมาในช่วงหลังการระบาด ดังนั้น การพัฒนาที่จะเกิดขึ้นจะเน้นขนส่งมวลชนภายในประเทศ และมีการพัฒนาเครื่องมือทางเทคโนโลยีทุกประเภท เช่น มอนิเตอร์การจราจร, อุตุนิยมวิทยา, การสำรวจและทำแผนที่, โทรคมนาคม 5G, บิ๊กดาต้า, คลาวด์คอมพิวติ้ง ทั้งหมดจะถูกนำมาใช้เพื่อให้ชาวจีนเดินทางได้แบบไม่มีสะดุด
ลำดับต่อมาคือโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น ที่จอดรถ, ถนน, สถานที่ตั้งแคมป์, ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว และ “ห้องน้ำ” จะถูกพัฒนาพร้อมกัน ประเด็นห้องน้ำนี้น่าสนใจเพราะถูกกล่าวถึงบ่อยครั้งในแผน แสดงให้เห็นว่าจีนเข้าใจความสำคัญของห้องน้ำที่สะอาดว่าเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ท่องเที่ยวที่ดี
ส่วนไหนที่ “จีน” จะให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยว
ภายในแผนครั้งที่ 14 มีการกล่าวถึงประเภทหรือสถานที่ท่องเที่ยวที่จีนต้องการโปรโมตหลายรูปแบบ ดังนี้
- “การท่องเที่ยวสีแดง” ซึ่งหมายถึงโปรโมตสถานที่ท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับประวัติ “พรรคคอมมิวนิสต์”
- สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น อุทยานแห่งชาติ
- การท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรม เรียนรู้วัฒนธรรม สนับสนุนความงดงามของหมู่บ้านหรือเมืองเล็กในชนบท
- กิจกรรมและกีฬากลางแจ้ง เช่น เส้นทางจักรยาน กีฬาฤดูหนาว
รายงานยังมีการยกต้นแบบของการพัฒนาการท่องเที่ยวในจีนด้วย นั่นคือ “เมืองกุ้ยหลิน” ซึ่งสามารถยกระดับตัวเองเป็นฮับของการท่องเที่ยว “ระดับโลก” ไปแล้ว ทำให้ตัวอย่างเส้นทางหรือพื้นที่เหล่านี้จะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นไฮไลต์ในการพัฒนาการท่องเที่ยวตามแบบ ดังนี้
- เทือกเขาอู่หลิง – ฟ่านจิ้งซาน ยอดเขาที่ตั้งวัดพุทธโบราณ ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
- เทือกเขาไท่หาง – เส้นทางชมทิวทัศน์ธรรมชาติและตาน้ำพุ 8 จุด ตั้งอยู่ในมณฑลซานซี
- พื้นที่เขตเมืองปักกิ่ง เทียนจิน และเหอเป่ย
- พื้นที่เข็มขัดเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซีเกียงและสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ
- ที่ราบลุ่มแม่น้ำฮวงโห (แม่น้ำเหลือง)
- เข็มขัดการท่องเที่ยว วัฒนธรรม และกีฬา ปักกิ่ง-จางเจียโข่ว (ประตูสู่มองโกเลีย)
- ระเบียงการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมบาชู (ฉงชิ่ง-เฉิงตู)
- เทือกเขาหวงซาน มณฑลอันฮุย
- เข็มขัดการท่องเที่ยวชายแดนทิเบต-ยูนนาน-กวางสี
- เส้นทางสายไหมโบราณขนส่งชาและม้าระหว่างยูนนาน-ทิเบต
- แชงกรีลา ทิเบต
- เมืองใหม่สงอัน มณฑลเหอเป่ย
- เกาะไห่หนานหรือผิงถาน จังหวัดฝูเจี้ยน
โดยสรุปแล้ว แต่ละพื้นที่ของจีนจะมีบทบาทแตกต่างกันในการท่องเที่ยว เช่น พื้นที่ชายทะเลตะวันออกจะเน้นการท่องเที่ยวแบบสมัยใหม่ และเป็นแกนกลางในการแข่งขันระดับโลก ขณะที่พื้นที่ทางตะวันตกจะได้ประโยชน์จากธรรมชาติ วัฒนธรรมพื้นเมือง และวิวทิวทัศน์ ซึ่งฝั่งนี้จะได้รับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการท่องเที่ยวมากขึ้น
มีอีกส่วนหนึ่งที่น่าจับตาหลังการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวผ่านไป การท่องเที่ยวด้านกีฬาฤดูหนาว จะถูกผลักดันขึ้นบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ
น่าสนใจว่ารายงานแผนครั้งนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับ “ฮ่องกง” มากนัก โดยกล่าวถึงเพียงว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “เขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า” ซึ่งจะเป็นจุดหมายปลายทางระดับโลก และเป็น “แหล่งแลกเปลี่ยนด้านศิลปวัฒนธรรมของจีนกับต่างชาติ”
อนาคตยกระดับ “เวิลด์คลาส” รับต่างชาติ
แม้ว่าขณะนี้จีนจะเน้นการท่องเที่ยวในประเทศก่อน เพราะการระบาดของ COVID-19 ทำให้ยังคุมการเข้าออกอย่างเข้มงวด แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย จีนจะเตรียมต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติสู่ระดับเวิลด์คลาส
สิ่งที่จีนจะพัฒนารอการกลับมาของนักท่องเที่ยวเขาเข้า คือ การฝึกไกด์ทัวร์ให้พูดได้หลายภาษา และสามารถ “บอกเล่าเรื่องราวของจีนได้เป็นอย่างดี ทั้งยกระดับและส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวระดับประเทศ”
การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ๆ จะถูกโปรโมตมากขึ้น เช่น เรือสำราญล่องแม่น้ำในประเทศ, ขับรถท่องเที่ยวเอง, กีฬาฤดูหนาว, นั่งเฮลิคอปเตอร์ชมวิว, พาราไกลดิ้ง, พาราชูต, นั่งบอลลูน
ทางการจีนยังมองผลในลักษณะ “ซอฟต์ พาวเวอร์” ด้วย เพราะเมื่อเปิดประเทศได้แล้ว จะมีทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาและชาวจีนออกเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งไม่ว่าจะทางไหนก็จะทำให้ต่างชาติได้สัมผัสกับภาพลักษณ์และวัฒนธรรมจีน
ท้ายที่สุดแล้ว จีนต้องการจะเป็นขุมพลังใหม่แห่งการท่องเที่ยวระดับโลกภายในปี 2035 การท่องเที่ยวจะต้องเป็นตัวช่วยสนับสนุนความกลมเกลียว ความศิวิไลซ์ และความรุ่งโรจน์ของประเทศจีนให้จงได้