LPN ยกเครื่ององค์กรระยะ 5 ปี ปรับโครงสร้าง-ปรับแบรนด์ให้ทันสมัย

LPN
สถานการณ์ธุรกิจเปลี่ยน ทำให้ LPN ต้องปรับ วางแผนระยะ 5 ปี (2565-2569) มุ่งเป้าปี 2569 ต้องทำรายได้ไม่ต่ำกว่า 16,000 ล้านบาท วางกลยุทธ์ปรับโครงสร้างองค์กร แยกบริษัท LPP ออกเป็นเอกเทศ และแยกการบริหารโครงการอสังหาฯ ตามเซ็กเมนต์ พร้อมเปิดแบรนด์ใหม่ทันสมัยโดนใจคนเจนวาย

“โอภาส ศรีพยัคฆ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN กล่าวว่า บริษัทมีการปรับแผนยุทธศาสตร์ใหม่จากเดิมวางระยะ 3 ปี (2564-66) เพิ่มเป็นระยะ 5 ปี (2565-2569)

โดยมีเป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืน สามารถโตต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 10% และทำให้ในปี 2569 บริษัทจะทำรายได้ไม่ต่ำกว่า 16,000 ล้านบาท (ทั้งนี้ รอบ 9 เดือนแรกปี 2564 บริษัทมีรายได้ 3,983 ล้านบาท)

LPN
“โอภาส ศรีพยัคฆ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)

การจะไปถึงเป้าหมายดังกล่าว บริษัทวางกลยุทธ์ไว้ 5 ประเด็น ดังนี้

1.เปลี่ยนแปลงโครงสร้างธุรกิจ

ปี 2565 บริษัทมีการแยก บริษัท แอล พี พี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด (LPP) ออกไปเป็นอิสระ ส่งมือบริหาร “สุรวุฒิ สุขเจริญสิน” เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LPP

โดย LPN ยังคงถือหุ้นในบริษัท LPP 100% แต่การแยกบริษัทกันจะทำให้การบริหารชัดเจนขึ้น LPN ดูแลงานด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และการขาย ส่วน LPP ดูแลงานบริการ จัดการโครงการหลังขาย ซึ่งการแยกบริษัทจะทำให้ LPP ขยายขอบเขตงานและสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้น

2.เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหาร

จากเดิม LPN แบ่งโครงสร้างตามหน้าที่การทำงาน (Functional Organization) ต่อมามีการปรับเปลี่ยนเป็นลักษณะหน่วยธุรกิจ (Business Unit) มาตั้งแต่ปี 2564 โดยแบ่ง BU ออกเป็น 3 หน่วย คือ หน่วยธุรกิจอาคารชุดพักอาศัย, หน่วยธุรกิจบ้านพักอาศัยราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท และ หน่วยธุรกิจบ้านพักอาศัยราคามากกว่า 10 ล้านบาท

การแบ่งตามเซ็กเมนต์ทำให้แต่ละหน่วยธุรกิจคล่องตัวกว่าในการออกแบบและพัฒนาโครงการ สามารถปรับให้ตรงความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มได้เร็วขึ้น

3.เปลี่ยนแปลงการพัฒนาโครงการ

ระยะ 5 ปีนี้ LPN มีเป้าหมายพัฒนาโครงการใหม่สะสมไม่ต่ำกว่า 70 โครงการ มูลค่ารวมสะสมไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้มียอดขายสะสมไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท

เฉพาะปี 2565 บริษัทตั้งเป้าพัฒนาโครงการ 16 โครงการ มูลค่ารวม 11,000 ล้านบาท เป้ายอดพรีเซล 13,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46% เทียบกับปี 2564 ซึ่งทำยอดขายได้ 8,900 ล้านบาท

4.เปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี

ตั้งแต่ปลายปี 2562 บริษัทเริ่มนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดขั้นตอนการทำงาน ลดค่าใช้จ่าย และเริ่มรวบรวมข้อมูลลูกค้ามาใช้เพื่อพัฒนาสินค้า ต่อยอดถึงปี 2565 มีการเริ่มใช้ดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการตลาด การขาย เช่น การเยี่ยมชมโครงการแบบ Virtual 360 องศา และเริ่มนำข้อมูลที่เก็บรวบรวมจนเป็นบิ๊กดาต้ามาใช้วิเคราะห์เพื่อหาความต้องการของลูกค้า

5.ปรับภาพลักษณ์แบรนด์
ลุมพินี เพลส รัชดา-สาธุ

ปี 2565 นี้ LPN จะให้ความสำคัญกับการรับรู้แบรนด์ในกลุ่มคนเจนวายอายุ 25-34 ปี ซึ่งคนกลุ่มนี้มีตั้งแต่กลุ่มวัยเริ่มทำงาน, ผู้ประกอบการ และสตาร์ทอัพ ซึ่งทำให้บริษัทจะมีการเปิดตัวแบรนด์ใหม่ทั้งในกลุ่มคอนโดฯ และบ้านแนวราบเพื่อให้สอดคล้องกับคนรุ่นใหม่

โอภาสกล่าวว่า ปีนี้มีทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบต่อภาคอสังหาฯ ปัจจัยบวกเช่นการผ่อนคลายเพดานอัตราส่วนการให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV ratio) เพิ่มขึ้นเป็น 100% จนถึงสิ้นปีนี้ และอัตราดอกเบี้ยยังต่ำ แต่ขณะเดียวกันปัจจัยลบได้แก่หนี้ครัวเรือนสูงกระทบกำลังซื้อ และความไม่แน่นอนของการระบาดของโรค COVID-19 ยังคงมีอยู่ แต่ LPN เชื่อว่าการปรับองค์กรที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2564 จะทำให้องค์กรเติบโตได้ตามเป้าหมาย

อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม