“พฤกษา” เปิด VC ลงทุนสตาร์ทอัพ 3,500 ล้าน ปี 2565 ยังตรึงพอร์ตกลางถึงบนเป็นหลัก

“พฤกษา” วางกลยุทธ์ใหม่ตั้ง Corporate Venture Fund งบลงทุน 3,500 ล้านบาท เพื่อลงทุนในสตาร์ทอัพด้านอสังหาฯ สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม แผนอสังหาฯ ปี 2565 ยังตรึงพอร์ตในกลุ่มกลางถึงบน ตลาดล่างยังฟื้นยาก

หลังจาก “พฤกษา” ปรับตัวจัดองค์กรใหม่มาหลายปี ปีนี้ยังคงเดินตามเส้นทางเดิมเพิ่มเติมด้วยกลยุทธ์ใหม่ๆ ล่าสุดได้ผู้บริหารคนใหม่ “อุเทน โลหชิตพิทักษ์” นั่งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)

อุเทนแจกแจงกลยุทธ์ภาพใหญ่ของพฤกษาปี 2565 ประกอบด้วย 4 ข้อหลัก คือ

1.ลดพอร์ตคงค้าง จากเดิมมีพอร์ตสินค้าคงค้างมูลค่า 23,300 ล้านบาท ปัจจุบันเหลือ 7,500 ล้านบาท โดยใช้เวลา 2 ปี ปีนี้จะยังคงจัดสมดุลให้พอร์ตคงค้างไม่เพิ่มมากเกินไป รวมถึง เปลี่ยนเซ็กเมนต์หลักจากระดับกลางล่างเป็นระดับกลางจนถึงบน (ราคา 7 ล้านขึ้นไป)

2.บริหารแลนด์แบงก์ในมือที่มี 157 แปลง มูลค่ารวม 15,400 ล้านบาท

3.บริหารความร่วมมือ (synergy) ระหว่างพฤกษาและโรงพยาบาลวิมุต เช่น การตั้ง Vimut Health Center บริเวณพฤกษา อเวนิว บางนา-วงแหวน ซึ่งจะเปิดบริการปีนี้

4.สร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยนวัตกรรม โดยบริษัทมีการจัดตั้ง Corporate Venture Fund งบลงทุน 3,500 ล้านบาท เน้นการลงทุนในสตาร์ทอัพ 3 ด้านคือ อสังหาฯ (PropTech), สุขภาพ (HealthTech) และ สิ่งแวดล้อม นวัตกรรมจากสตาร์ทอัพเหล่านี้จะนำมาต่อยอดให้กับพฤกษาและโรงพยาบาลวิมุต โดยรับสมัครสตาร์ทอัพแล้วและมีผู้สมัครมากว่า 100 ราย บริษัทจะทำการคัดเลือกและจัดบูทแคมป์ให้กับผู้ผ่านการคัดเลือกต่อไป

พฤกษา

การลงทุนกับสตาร์ทอัพหรือบริษัทอื่นเพื่อนำนวัตกรรมมาใช้ พฤกษาไม่ได้มองเฉพาะในประเทศ แต่ยังมองไกลถึงต่างประเทศด้วย เช่น เมื่อต้นปีนี้ พฤกษามีการลงทุนกับบริษัทด้านห้องแล็บ ระบบสุขภาพบนดิจิทัล และแล็บจีโนมิค โดยเป็นบริษัทชั้นนำของสิงคโปร์

เห็นได้ชัดว่าพฤกษายังคงมุ่งมั่นสานต่อกลยุทธ์การ synergy ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจสุขภาพในทุกๆ ด้าน

“การ synergy กับฝั่งโรงพยาบาลวิมุต ทำอย่างไรให้ขยายตัวตามไซต์บ้านเราได้ทันต่อความต้องการ เป็นโจทย์ใหญ่เพราะเราต้องการจะให้สิ่งนี้เป็นจุดขายอันเป็นเอกลักษณ์ของพฤกษาให้ได้” อุเทนกล่าว

“การ synergy กับฝั่งโรงพยาบาลวิมุต ทำอย่างไรให้ขยายตัวตามไซต์บ้านเราได้ทันต่อความต้องการ เป็นโจทย์ใหญ่เพราะเราต้องการจะให้สิ่งนี้เป็นจุดขายอันเป็นเอกลักษณ์ของพฤกษาให้ได้”

นายแพทย์กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลวิมุต โฮลดิ้ง จำกัด เสริมว่า หลังจาก รพ.วิมุต ถ.พหลโยธิน เปิดบริการเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 โรงพยาบาลเป็นที่รู้จักจากการเป็นศูนย์ฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19

สำหรับปีนี้จะมุ่งขยายเข้าสู่ชุมชน โดย Vimut Health Center บริเวณพฤกษา อเวนิว บางนา-วงแหวน จะเปิดได้ในเดือนสิงหาคมนี้ รวมถึงเชื่อว่าสถานการณ์ COVID-19 ที่ดีขึ้น จะทำให้ประชาชนต้องการการรักษาโรคด้านอื่นมากขึ้น เป็นโอกาสการทำตลาด

 

ปรับพอร์ตได้ตามแผน

“ปิยะ ประยงค์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท สรุปผลการดำเนินงานปี 2564 สร้างยอดขาย 25,400 ล้านบาท และรับรู้รายได้ 28,000 ล้านบาท

โดยปฏิบัติการลดโครงการระหว่างขายของพฤกษาทำได้สำเร็จแล้ว ลดจากเดิมที่มีกว่า 200 โครงการ เหลือ 145 โครงการ และมีการเติมพอร์ตเปิดโครงการใหม่ปีละประมาณ 30 โครงการเท่านั้น เพื่อทดแทนโครงการที่ปิดการขายได้ทั้งหมด โดยที่ยังคงตัวเลขนี้ไว้ และให้พอร์ตพฤกษามีเฉพาะโครงการคุณภาพ

พฤกษาปรับพอร์ตเพิ่มสัดส่วนระดับกลางถึงบน

นอกจากนี้ การปรับเซ็กเมนต์จากกลางล่างไปเป็นกลางถึงบนมากขึ้นก็ทำได้ต่อเนื่อง นับตั้งแต่ไตรมาส 4/2563 จนถึงตลอดปี 2564 ยอดรับรู้รายได้จากเซ็กเมนต์กลางถึงบนขึ้นไปมีสัดส่วน 12-17% แล้ว จากในอดีตเคยมีสัดส่วน 5-8% เท่านั้น

การปรับตัวดังกล่าวร่วมกันการลดต้นทุนผ่านการใช้ระบบดิจิทัลทุกขั้นตอน และใช้เอาท์ซอร์สมากขึ้น ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น ณ ไตรมาส 4/64 อยู่ที่ 31.7% และอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 12.8%

 

ปี 2565 กลางถึงบนยังมาแรง

ด้านแผนดำเนินงานปี 2565 ปิยะระบุว่า พฤกษาจะเปิดโครงการใหม่ 31 โครงการ มูลค่ารวม 16,300 ล้านบาท โดยบริษัทยังเน้นเปิดโครงการขนาดเล็ก 20-30 ไร่เพื่อให้ปิดการขายทั้งโครงการได้เร็ว ทำให้มูลค่าไม่สูงนัก

โครงการเปิดใหม่เกือบทั้งหมด 22 โครงการจะเป็นสินค้าทาวน์เฮาส์ อีก 6 โครงการเป็นบ้านเดี่ยว และ 3 โครงการเป็นคอนโดมิเนียม ได้แก่ พลัม เซ็นทรัล รามอินทรา, ไพรเวซี่ เตาปูน อินเตอร์เชนจ์ เฟส 2 และพลัม คอนโด บางพลัด

ตัวอย่างโครงการ เดอะ ปาล์ม ของพฤกษา จับกลุ่มตลาดบน

ตลาดที่บริษัทเน้นปีนี้ยังคงเป็นตลาดกลางถึงบน รวมถึงคอนโดฯ ที่แม้จะเป็นแบรนด์พลัม แต่จะดันราคาของแบรนด์นี้ขึ้นมาเริ่มต้นที่ราวๆ 2 ล้านบาทขึ้นไป เนื่องจากกลุ่มลูกค้าที่ยังมีกำลังซื้อแข็งแรง สามารถกู้สินเชื่อบ้านได้ ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าพนักงานประจำรายได้ 50,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป หรือกลุ่มเจ้าของธุรกิจที่มีรายได้สูง

“เศรษฐกิจแบบนี้จะกระทบกับลูกค้ารายได้ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อเดือน เราก็จำต้องลดพอร์ตตรงนั้น” ปิยะกล่าว “อย่างคอนโดฯ พลัม ที่เคยเริ่มราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท กลุ่มนี้ตอนขายยอดจองสูงมากก็จริง แต่ยอดยกเลิกหรือถูกปฏิเสธสินเชื่อจากธนาคารก็สูงมากเหมือนกัน ทำให้โอนยาก ราคากลุ่มนี้เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี ลูกค้าก็ลำบาก ทำให้เราคงยังไม่กลับสู่ตลาดช่วงนี้”

(จากซ้าย) นายแพทย์กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลวิมุต โฮลดิ้ง จำกัด, “อุเทน โลหชิตพิทักษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และ “ปิยะ ประยงค์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท

ขณะที่เป้ายอดขายวางไว้ที่ 31,000 ล้านบาท เป้ารายได้ 33,000 ล้านบาท โดยมีแบ็กล็อกรอโอน 20,000 ล้านบาทซึ่งจะโอนในปีนี้ 17,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีคอนโดฯ สร้างเสร็จ 7 โครงการ ได้แก่ แชปเตอร์ เจริญนคร ริเวอร์ไซด์, เดอะ รีเซิร์ฟ สุขุมวิท 61, พลัม คอนโด รังสิต เฟรช, พลัม สุขุมวิท 62, พลัม คอนโด พระราม 2, เดอะ ไพรเวซี่ จตุจักร และแชปเตอร์ จุฬา-สามย่าน ซึ่งบริษัทจะเร่งการโอนให้เสร็จภายในสิ้นปี

ในระยะยาวต้องติดตามว่า “พฤกษา” จะพลิกโฉมไปอย่างไร หลังจากวางหมุดหมายการเป็นที่อยู่อาศัยพ่วงการดูแลสุขภาพ และเริ่มมีการลงทุนนวัตกรรมสูงขึ้น