รู้จัก “ZORT” สตาร์ทอัพไทยช่วย “จัดการคำสั่งซื้อ” ร้านออนไลน์ หวังบินไกลถึงตลาดอาเซียน

ZORT
สวภพ ท้วมแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซอร์ทเอาท์ จำกัด (ZORT)
จากจุดเริ่มต้นการก่อตั้งบริษัทเพราะเผชิญปัญหา ‘excel’ ไม่ตอบโจทย์การขายออนไลน์ จนวันนี้ระดมทุน Series A ได้สำเร็จ “ZORT” (ซอร์ทเอาท์) เตรียมขยายตลาดทั่วประเทศ และปักหมุดเข้าสู่ตลาดอาเซียน พร้อมขยายฟีเจอร์ให้ครบลูปการขายออนไลน์ของ SMEs ตั้งแต่นับสต็อกจนถึงระบบ CRM รักษาฐานลูกค้า

“จุดเริ่มต้นของเราคือตัวเองก็เคยทำธุรกิจมาก่อน สมัยนั้นเราก็ใช้โปรแกรม excel ซึ่งพบว่ามันยุ่งยากในการลงข้อมูล และมีโอกาสที่ออร์เดอร์จะหล่นหายสูงมาก ต่อมาพี่ๆ ในวงการธุรกิจก็มาคุย ต้องการจ้างเราซึ่งจบวิศวะเพื่อจะให้ทำโปรแกรมจัดการการขายและสต็อกให้ ซึ่งเราพบว่าทุกคนมี pain point แบบเดียวกัน เราเลยคิดว่า ถ้าอย่างนั้นเราก็ทำเป็นโปรดักส์เลยดีกว่าเพราะทุกคนต้องการใช้เหมือนกันหมด” สวภพ ท้วมแสง หนึ่งในผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซอร์ทเอาท์ จำกัด (ZORT) กล่าวถึงการก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 2559

ปัญหาที่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ทุกคนต้องเผชิญ คือการขายปัจจุบันมีหลายช่องทาง เช่น Shopee, Lazada, JD Central, Facebook, Line แต่เมื่อมีลูกค้าสั่งซื้อ การตัดสต็อกที่ ‘ไม่เรียลไทม์’ พร้อมกันทุกช่องทาง ทำให้บางครั้งเกิดอาการสินค้าหมด ต้องบอกยกเลิกออร์เดอร์ลูกค้า ทำให้เสียความน่าเชื่อถือและเสียโอกาสการขาย

ZORT จึงเข้ามาแก้ปัญหานี้ ทำหน้าที่เป็นซอฟต์แวร์กลางในการทำระบบให้ ‘sync’ กัน ตัดสต็อกอัตโนมัติและอัปเดตพร้อมกันทุกช่องทางขาย

จากนั้นต่อยอดจนกลายเป็น แพลตฟอร์มบริหารออร์เดอร์และสต็อกครบวงจร (Seller Management Platform) ทำได้ทั้ง 6 ส่วนสำคัญต่อธุรกิจค้าออนไลน์ คือ จัดการสต็อก, จัดการคำสั่งซื้อ, ทำบัญชีรับจ่าย, การรับชำระเงิน, จัดการแพ็กสินค้า และขนส่ง

หลังก่อตั้งมา 6 ปี ปัจจุบัน ZORT มีฐานลูกค้า 3,000 ราย โดยมีคำสั่งซื้อที่ผ่านระบบสะสม 84,000 ล้านบาท จำนวน 45 ล้านรายการ สามารถลดต้นทุนให้ลูกค้าได้เฉลี่ย 30% และพร้อมจะขยายตัวมากกว่านี้

ZORT
ทีมผู้บริหาร บริษัท ซอร์ทเอาท์ จำกัด

 

รับเงินลงทุน 55 ล้านบาทในรอบ Series A

จากฐานธุรกิจที่มีทำให้ดึงดูดใจนักลงทุน โดยซอร์ทเอาท์สามารถระดมทุนรอบ Series A ได้แล้วด้วยมูลค่าการลงทุนรวม 55 ล้านบาท มี lead investor คือ กองทุน Finnoventure Fund ของ กรุงศรี ฟินโนเวต (โดยซอร์ทเอาท์เป็นสตาร์ทอัพรายแรกที่กองทุนนี้ร่วมลงทุน) ร่วมด้วย บริษัท บัซซี่บีส์ จำกัด รุ่นพี่เทคสตาร์ทอัพ รวมถึงมี angel investor 3 ราย นำโดย “โคบี้ บุญบรรเจิดศรี” นักลงทุนอิสระ

“แซม ตันสกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด กล่าวว่า ธนาคารกรุงศรีอยุธยามีฐานลูกค้า SMEs อยู่แล้วนับแสนราย และมีการแนะนำ ZORT ให้ลูกค้าใช้งาน ซึ่งพบว่าลูกค้าตื่นเต้นกับเทคโนโลยีนี้ ทำให้เชื่อมั่นว่าสตาร์ทอัพรายนี้จะโตไปพร้อมกับการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ และไม่ใช่แค่ในไทย แต่สามารถไปในระดับอาเซียนได้ โดยกรุงศรีซึ่งอยู่ในเครือ MUFG พร้อมจะผลักดัน

“ปลายทางคือเราจะแต่งตัว ZORT ให้เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ในที่สุด คิดว่าไม่เกิน 3-5 ปีข้างหน้า” แซมกล่าว

ZORT
พิธีลงนามร่วมลงทุน Series A กับซอร์ทเอาท์

ด้าน “ณัฐธิดา สงวนสิน” กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท บัซซี่บีส์ จำกัด กล่าวว่า เนื่องจากอยู่ในธุรกิจที่ใกล้เคียงกันโดยบัซซี่บีส์ถนัดด้านการทำระบบ CRM ให้กับลูกค้าองค์กรใหญ่ ทำให้บริษัทเล็งเห็นว่าฟีเจอร์ของซอร์ทเอาท์จะตอบ ‘need’ หรือความจำเป็นของลูกค้า SMEs และเห็นศักยภาพว่ามีโอกาสขึ้นเป็นอันดับ 1 ได้เพราะการใช้งานง่าย สะดวก และโมเดลพร้อมสเกลอัพ

 

เล็งขยายเข้าตลาดอาเซียน

หลังได้รับเงินลงทุน และที่สำคัญกว่านั้นคือได้ “พาร์ทเนอร์เชิงกลยุทธ์” สวภพกล่าวว่า บริษัทจะนำเงินลงทุนใน 3 ด้าน คือ

1.พัฒนาโปรดักส์ เพื่อให้เป็น Seller Management Platform ที่ทำได้ครบวงจรมากขึ้น สิ่งที่จะเพิ่มเข้ามาคือ “การทำ CRM” ซึ่งส่วนนี้บัซซี่บีส์จะเข้ามาประสานพลังได้อย่างลงตัว

ณัฐธิดากล่าวเสริมว่า การทำ CRM จะกลายเป็นส่วนสำคัญมากของธุรกิจในอนาคต เนื่องจากการลงโฆษณาโดยใช้ Targeted Ad จะทำได้ยากขึ้นเพราะติดกฎหมายปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ทำให้แต่ละธุรกิจต้องเก็บฐานลูกค้าของตัวเองไว้ เพื่อทำการตลาดและสร้างความภักดีต่อแบรนด์

นอกจากนี้ สวภพกล่าวว่าบริษัทจะมีเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ ให้ครอบคลุมเทคนิคการขายแบบใหม่ยิ่งขึ้น เช่น Live Commerce การไลฟ์สดขายสินค้าจะต้องนำมา sync กับระบบของแพลตฟอร์มได้

shopping online ecommerce

2.ขยายตลาด สำหรับในไทยยังมีโอกาสอีกมาก เพราะมีผู้ประกอบการจำนวนมากที่ต้องการปรับมาขายออนไลน์ และบริษัทจะทำการตลาดกระจายตัวออกจากกรุงเทพฯ เน้นต่างจังหวัดมากขึ้น หลังพบว่าอีคอมเมิร์ซกระจายฐานไปอยู่ต่างจังหวัดสูงขึ้น เพราะการขนส่งทำได้ทั่วถึงทั้งประเทศ

รวมถึงจะขยายตลาดอาเซียนด้วย โดยบริษัทสำรวจแล้วพบว่าพฤติกรรมการซื้อขายของชาวอาเซียนคล้ายกับคนไทย และอาเซียนเป็นตลาดที่ใหญ่มาก ขณะนี้กำลังศึกษาประเทศแรกที่จะเข้าไป เป็นประเทศที่คนท้องถิ่นพูดภาษาอังกฤษได้เพื่อลดกำแพงทางภาษาในการทำงาน รวมถึงเป็นประเทศที่ขนาดตลาดใหญ่ แต่คู่แข่งยังน้อยอยู่

สำหรับการเข้าสู่อาเซียน จะมีกรุงศรีเป็นพี่เลี้ยงในการลุยตลาดใหม่ เหมือนดั่งที่กรุงศรีพา Flash Express เข้าสู่ตลาดฟิลิปปินส์และลาวมาแล้ว

3.พัฒนาทีมงาน โดยจะจัดการพัฒนาทักษะของทีมงานซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของบริษัท และจะเพิ่มทีมงานให้ตอบรับกับจำนวนลูกค้าที่สูงขึ้น จากปัจจุบันมีทีมงานเพียง 40 คน

เป้าหมายของปี 2565 ซอร์ทเอาท์ต้องการขยายฐานลูกค้าเป็นเท่าตัวคือ 6,000 ราย และอีก 3 ปีคาดว่าจะโตเป็น 18,000 ราย (*ยังไม่รวมลูกค้าในต่างประเทศ)

สวภพมองว่า ปัจจุบันการทำความเข้าใจกับลูกค้า ‘ไม่ยาก’ เท่ากับ 4-5 ปีก่อนแล้ว เพราะลูกค้ารับได้และชินกับการสมัครใช้ซอฟต์แวร์แบบรายเดือน เข้าใจถึงความจำเป็นใช้งาน โจทย์ธุรกิจขณะนี้จึงเป็นการสเกลให้ลูกค้าเข้ามาใช้มากขึ้น และอยู่กับแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่องมากกว่า

“คู่แข่งมีเยอะไหม? ก็มีเข้ามาเรื่อยๆ ทั้งสัญชาติไทยและต่างชาติ แต่จุดเด่นของแต่ละรายต่างกัน อย่าง ZORT จะเด่นเรื่องมาร์เก็ตเพลส แต่ต่อไปเราต้องทำให้เราทำได้หมดทุกระบบ รวมทั้ง Facebook, Instagram, Line เข้ามาได้หมด เมื่อตอบโจทย์เขาได้แล้ว เขาก็จะไม่ย้ายแพลตฟอร์ม” สวภพกล่าว