กรุงศรี วางเเผนใหญ่ขยายตลาดอาเซียน ทุ่ม 8 พันล้านพัฒนาดิจิทัล หนุนสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ มองปีนี้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว เป้าจีดีพี 3.7%
โดยแผนการดำเนินงานในปี 2565 ซึ่งเป็นแผนระยะกลาง 3 ปี (ตั้งแต่ปี 2564-66) ของกรุงศรีจะมุ่งเน้นไปที่กลยุทธ์ “Go ASEAN with Krungsri” จับมือพันธมิตรเพื่อพัฒนาด้านเทคโนโลยีเเละนวัตกรรมเพื่อลูกค้า
เซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จํากัด (มหาชน) กล่าวว่า ในวิกฤตโควิดเป็นช่วงที่ท้าทายในทุกธุรกิจ เมื่อย้อนกลับในปีแรกของแผนงานธุรกิจระยะกลาง ถือกรุงศรีประสบความสำเร็จอย่างดี ทั้งในเเง่การช่วยเหลือลูกค้าเชิงรุกด้วยมาตรการต่างๆ การทำผลกำไรเเละการดำเนินงาน รวมไปถึงการเป็นสถาบันการเงินไทยที่มีเครือข่ายในอาเซียนมากที่สุด
ทุ่ม 8 พันล้านเสริมดิจิทัล ปั้นรายได้อาเซียนเป็น 10% ใน 2 ปี
ล่าสุดกรุงศรีได้เข้าไปทำธุรกิจใน ‘เวียดนาม’ ซึ่งถือเป็นประเทศที่ 5 ในอาเซียนที่มีศักยภาพการเติบโตสูง ในระยะถัดไปตั้งเป้าว่าจะขยายตลาดให้ครอบคลุมอย่างน้อย 8 ประเทศในภูมิภาค
ในส่วนของการพัฒนาด้านดิจิทัลนั้น กรุงศรีตั้งเป้าลงทุนเพิ่มในปีนี้ราว 7-8 พันล้านบาท เชื่อมโยงกับพันธมิตรทั่วอาเซียน พร้อมสนับสนุนสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ เเละบริษัทที่ยังไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมถึงให้ความสำคัญกับ Digital Asset หลังได้เข้าลงทุนในเเพลตฟอร์มเทรดสินทรัพย์ดิจิทัลอย่าง ‘Zipmex’ ซึ่งจะมีการขยายตลาดไปในอาเซียนมากขึ้น
นอกจากนี้ จะมีการขยาย API เชื่อมโยงกับธนาคารพันธมิตรในอาเซียน สร้าง ‘AI Tech lab’ ร่วมกับบริษัทเเม่อย่าง MUFG เเละซูเปอร์เเอปฯ อย่าง Grab เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากที่สุด ควบคู่กับการเร่งสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในตลาดใหม่ ๆ ภายนอกประเทศ
โดยที่ธนาคารตั้งเป้าในช่วง 2 ปี สัดส่วนกำไรจากเครือข่ายของธนาคารในอาเซียน เพิ่มเป็น 10% ในอีก 2 ปีข้างหน้า จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 6%
- จับตา ยุค ‘ตื่นทอง’ ของสตาร์ทอัพอาเซียน เงินระดมทุนเพิ่มขึ้นเท่าตัว ปั้นยูนิคอร์นรุ่นใหม่
- กรุงศรีรายงานผลกำไรสุทธิปี 2564 จำนวน 33.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 46.7%
รุกธุรกิจโอน-ชำระเงินข้ามประเทศ
ไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจองค์กร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรุงศรีได้ให้บริการลูกค้าไปแล้วมากกว่า 500,000 บัญชี ในกัมพูชา สปป.ลาว และฟิลิปปินส์ รวมมูลค่าสภาพคล่องแล้วกว่า 64,000 ล้านบาท
สำหรับลูกค้าคนไทย จะยังคงเดินหน้าขยายโซลูชัน เพิ่มมูลค่าในการทำการค้าระหว่างประเทศ (cross-border value chain solutions) ในอุตสาหกรรมต่างๆ และบริการให้คำปรึกษาเพื่อช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจให้ลูกค้าธุรกิจไปเติบโตทั่วทั้งอาเซียน และอีกมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลกผ่านเครือข่ายของ MUFG
โดยในปีนี้จะมุ่งสร้างพันธมิตรในกลุ่มธุรกิจให้หลากหลาย ทั้งธุรกิจด้านพลังงาน โทรคมนาคม ประกัน อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจรายย่อยและเชิงพาณิชย์
“เรากำลังขยายบริการธุรกรรมการโอนเงินระหว่างประเทศ สำหรับลูกค้ารายย่อยและลูกค้าธุรกิจให้ครอบคลุมมากขึ้น จากเดิมที่มีการเชื่อมต่อบริการ 3 ประเทศในปีที่ผ่านมา ให้เป็น 8 ประเทศภายในปีนี้”
ทั้งนี้ มียอดธุรกรรมการชำระเงินและการโอนระหว่างประเทศในอาเซียนผ่านกรุงศรีแล้วมากกว่า 500,000 ครั้ง มูลค่ารวมมากกว่า 200,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐต่อปี
สำหรับการจัดตั้ง Virtual Bank หรือธนาคารพาณิชย์รูปแบบใหม่ที่ดำเนินธุรกิจบนช่องทางดิจิทัล ผู้บริหารกรุงศรียอมรับว่าเป็นเทรนด์เเห่งอนาคต ซึ่งธนาคารกำลังอยู่ระหว่างการศึกษา โดยได้เริ่มเเนวทางนี้เเล้วผ่านการเปิดตัวเเอปพลิเคชันออมเงินอย่าง ‘Kept’ ซึ่งมีเสียงตอบรับจากผู้ใช้ที่ดีมาก เเละหากมีความเหมาะสมก็จะนำมาต่อยอดเเละพัฒนาต่อไป
- อินไซต์ ‘ออมเงิน’ ของคนรุ่นใหม่ในเเอปฯ ‘Kept’ เเย้มโอกาสเพิ่มบริการออม ‘คริปโต’
- เปิดสูตร ‘ธุรกรรมการเงิน’ ของกรุงศรี กับภารกิจสร้าง ‘บริการดิจิทัล’ ที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้ทุกกลุ่ม
มองเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว เป้าจีดีพี 3.7%
ในปี 2565 กรุงศรี ตั้งเป้าการเติบโตเงินให้สินเชื่ออยู่ที่ 3-5% โดยมีสินเชื่อรายย่อยเติบโต 3-4% สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) อยู่ที่ 4-5% และธุรกิจขนาดใหญ่อยู่ที่ 3-4% รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยทรงตัวจากปีก่อน และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 3.1-3.3%
ค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ยต่อรายได้รวมคาดอยู่ในระดับกลางหรือราว 40% เเละมีสัดส่วนการตั้งสำรองต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 150-160 bps อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ราว 2.6% สำหรับอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 150% ภายใต้สมมติฐานที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโต 3.7% ในปีนี้
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายทางการเงินดังกล่าวเป็นการคาดการณ์ของธนาคารเบื้องต้น ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะเริ่มเห็นการฟื้นตัว หลังจากการแพร่ระบาดโควิดเริ่มคลี่คลาย การกระจายวัคซีนทั่วถึง กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศยังดำเนินได้ตามปกติ รวมไปถึงปัจจัยด้านการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะทำให้ภาคการส่งออกไทยขยายตัวได้ดีตามไปด้วย ขณะที่ภาคท่องเที่ยวยังไม่กลับมาได้ 100% เเต่จะมีการฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง
“ปีนี้เราคาดว่าจีดีพีน่าจะขยายตัวได้ระดับ 3.7% จากปีก่อนที่ขยายตัวเพียง 1.2%”
- วิถีมวยรองของ ‘Robinhood’ สู่เป้าหมายการลงทุน 5 พันล้าน เติบโตเป็น ‘ซูเปอร์เเอป’ อาเซียน
- ‘กสิกรไทย’ กับกลยุทธ์การเติบโต ฉบับ ‘THE METAMORPHOSIS’ พัฒนาเทค จับโอกาสตลาดอาเซียน