ชนวนความฮิตของคนติดใจจักรยาน

กระแสและแฟชั่นของคนรุ่นใหม่
นอกจากจะกลับมาเป็นสินค้าที่ใช้ประโยชน์ในเชิงพาหนะเพราะกระแสโลกร้อนแล้ว จักรยานยังการแสดงออกทางในเชิงศิลปะ ทั้งด้วยการประกอบและตกแต่งจักรยานแบบ Customize, DIY ของใครของมัน หรือด้วยกระแสนิยมในวัฒนธรรมวินเทจของคนยุคใหม่ อย่างที่เชียงใหม่นั้น จักรยาน Fixed Gear นั้นฮอตฮิตสำหรับเด็กมหาวิทยาลัย พอๆ กับ First Jobbers ในกรุงเทพฯ ที่คลั่งไคล้ Fixed Gear เสมือนหนึ่งตัวแทนแห่งแฟชั่น

เป็นตัวแทนของภาพลักษณ์ที่ดี ระดับ B ขึ้นไป
“ฮาร์เล่ย์ไม่ใช่มอเตอร์ไซค์ ฮาร์เล่ย์ก็คือฮาร์เล่ย์ เหมือนกัน Bianchi (เบียงคี่) ไม่ใช่จักรยาน เราไม่ได้ขายจักรยาน แต่ขายไลฟ์สไตล์ของคนที่มีอันจะกิน คือมีตังค์แล้วต้องการจะมีสุขภาพที่ดี” คเณศ มีแก้ว กรรมการผู้จัดการ TCA Group ผู้นำเข้าเฉพาะจักรยานเชิงไลฟ์สไตล์ไฮเอนด์จากต่างประเทศกล่าวถึง Bianchi

“ผมปั่นมาออฟฟิศเป็นประจำ วันนึงมีมอเตอร์ไซค์มาปาดหน้าผมสองรอบ เขาถามว่านี่ไบค์ฟลายเดย์หรอครับ เจ๋งอ่ะพี่” คเณศ เล่าถึงประสบการณ์เท่ๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่กี่วัน แม้เขาจะอยู่ในวัยเกษียณ แต่งตัวธรรมดา แต่การขี่จักรยานสวยๆ ก็ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีได้

ทั้งนี้ ราคาเริ่มต้นของจักรยานเชิงไลฟ์สไตล์ส่วนใหญ่เริ่มต้นที่สองหมื่นบาทขึ้นไป ใกล้เคียงกันกับการซื้อกล้องถ่ายรูป โน้ตบุ๊ก หรือโทรศัพท์มือถือ จึงเป็นราคาที่คนทั่วไปสามารถจ่ายได้

นอกจากนี้ การหันมาขี่จักรยาน ไม่ว่าจะเป็นการนำมาใช้งานหรือเพื่อเป็นงานอดิเรก ยังสอดคล้องกับกระแส Let’s Green หรือกระแสลดโลกร้อนซึ่งกำลังเป็นเทรนด์สำคัญของคนยุคนี้ ที่ต้องการแสดงออกถึงการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จนกลายเป็นหนึ่งในแคมเปญยอดฮิตที่บรรดาแบรนด์ต่างๆ หยิบยกขึ้นมาใช้ ด้วยคนส่วนใหญ่สามารถมีส่วนร่วม และรู้สึกถึงการแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ด้วยตนเองอย่างเป็นรูปธรรม

ยุคทองของคอมมูนิตี้
ปัจจุบัน อะไรที่เป็นคอมมูนิตี้ หรือเครือข่ายทางสังคมต่างจะแพร่กระจายและได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว คเณศเองก็มองว่า “คนไทยสมัยก่อนอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่นะ แต่คนเมืองสมัยนี้ต้องใช้ชีวิตโดดเดี่ยว เลยโหยหาอะไรที่เป็นคอมมูนิตี้ เห็นได้ชัดเวลาเราจัดกิจกรรมอะไร คนจะเข้าร่วมเยอะ เพราะเขารู้สึกว่ามีพวกนะ มีเพื่อน มีสังคม ทำให้รู้สึกว่ามีตัวตนในสังคม แล้วในวงการจักรยานนี่มันดีอย่างหนึ่งคือ ทุกคนถอดหัวโขนออกหมด มาสนุกด้วยกัน บางทีนายพล ผู้พิพากษา อัยการมานั่งคุยด้วย แรกๆ ก็ไม่รู้หรอก แต่เราก็เป็นเพื่อนกัน ให้เกียรติกัน”

สีสันใหม่ของกิจกรรมในโลกออฟไลน์
การขี่จักรยานเป็นกิจกรรมการออกกำลังกายที่เป็นอิสระ ท้าทาย ได้กินได้เที่ยวในช่วงวันทำงาน ได้เพื่อนใหม่ไม่ซ้ำ ไร้ขีดจำกัดในเรื่องเวลาและสถานที่ ช่วยให้หายเบื่อจากพื้นที่กว้างคูณยาวของฟิตเนส สระว่ายน้ำ หรือคอร์ท ไม่ต้องจองคิว จองเวลา

วิชญ ผู้บริหารหนุ่มเล่าถึงที่มาของการปั่นจักรยานว่า “ผู้บริหารคนอื่นเขาชอบตีกอล์ฟกัน แต่ผมไม่ชอบไง แต่เรานั่งนาน นอนดึก เลยต้องหากิจกรรมทำ พอมาปั่นจักรยานก็ติด ขี่เสร็จก็ร้อน ก็เหนื่อยนะ ถามตัวเองว่าขี่ทำไมวะ ผ่านไปไม่กี่วันก็ขี่อีกแล้ว คือมันได้ทั้งเพื่อนใหม่ และก็เจอเพื่อนเก่า อย่างสงกรานต์ผมก็ปั่นคนเดียวจากบ้านที่ทองหล่อไปอาร์ซีเอ ก็เล่นน้ำกันสนุกสนาน”

ทัวร์ลูกโซ่ การเสพติด และอิทธิพลใหม่ของชีวิต
แชร์ลูกโซ่ทำให้ติดคุก แต่ทัวร์ลูกโซ่ของรถจักรยานมีแต่ติดใจ “มาขี่ด้วยกันมั้ย” จึงเป็นคำฮิตติดปากประโยคแรกของคนปั่นจักรยาน แม้ไม่รู้จักกัน

การจัดกิจกรรมที่รองรับ Bike Lover อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการจัดทริปในลักษณะ “ชวนปั่น” ของกลุ่มนักปั่นกันเอง ทำให้ความนิยมในการปั่นจักรยานแพร่หลายอย่างรวดเร็ว ด้วยเสน่ห์ในตัวเองของจักรยานที่เมื่อใครได้ลองก็ย่อมติดใจ จากที่ออกจากบ้านไปปั่นโดยไม่รู้จักใคร แต่พอจนทริปคุณจะได้เพื่อนกลับมาอย่างมากมาย “เรามีความรู้สึกว่าเราหัวอกเดียวกันมั้ง อาจจะมาปั่นด้วยกันนิดๆหน่อยๆ แต่จริงๆ แล้วเป็นการหาเรื่องจักรยานมาคุยกันมากกว่า เหมือนกลับมาเป็นเด็กที่บ้าหุ่นยนต์อีกครั้ง” นักปั่นหน้าใหม่รายหนึ่งเล่า

“จักรยานแล้วมันจะมีอิทธิพลกับชีวิตเรามากเลยนะ เดี๋ยวนี้เวลาซื้อรถ ผมจะบอกเซลส์เลยว่า ถ้าใส่จักรยานไม่ได้ ผมไม่ซื้อ มีคนเป็นแบบผมเยอะมาก อีกอย่างที่จักรยานเข้ามาเปลี่ยนชีวิตเราคือ เราจะหน้าด้านใส่กางเกงแหนมตุ้มจิ่วอย่างนี้ (กางเกงขาสั้นรัดรูป) ได้ทั้งวัน แถมพกไฟฉายด้วยนะ” วิชญเล่าพลางหัวเราะไป

จักรยานเป็นสิ่งล่อตาล่อใจจนอยากลอง
จากตาต่อตา ปากต่อปาก เมื่อชาวกรุงได้เห็นดาราหรือกลุ่ม Trend Setter ปั่นจักรยานเท่ๆ เก๋ๆ ผ่านสื่อหรือผ่านสายตาตัวเองขณะติดแหง็กอยู่บนท้องถนน ก็ทำให้จักรยานเป็นที่สนใจของคนเมืองมากขึ้น กลุ่มนักปั่นในอดีตที่เดิมปั่นแต่เขตรอบนอกกรุงเทพฯ ก็หันมาปั่นกันใจกลางกรุงมากขึ้น กระทั่งสามารถขี่เสือภูเขามาตระเวนกินเที่ยวในเมืองได้อย่างไม่เคอะเขิน

เป็นคอมมูนิตี้ที่ไม่เป็นพิษเป็นภัย ไม่มีข่าวในทางลบ
ด้วยเป็นสังคมของความมีน้ำใจนักกีฬาอย่างแท้จริง วัตถุประสงค์ของการมาเจอกันคือมิตรภาพ มิใช่ชัยชนะ จึงไม่เคยปรากฏข่าวการใช้จักรยานเป็นพาหนะในการปาดกัน เขม่นกัน ชักปืนไล่ยิง หรือสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น