T-Square ปฎิบัติการลดอายุ "ตั้งฮั่วเส็ง"

ตั้งฮั่วเส็ง เป็นห้างสรรพสินค้าเก่าแก่ห้างหนึ่งของบ้านเราที่ยืนยาวมาเข้าสู่ปีที่ 50 และเป็นห้างสรรพสินค้าที่ความเด่นชัดในหลายๆ เรื่อง เช่นซุเปอร์มาร์เก็ต อุปกรณ์เย็บ ปัก ถักร้อย ที่เป็นจุดแข็งของห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ จนผู้บริโภคให้การยอมรับ และนี่คือจุดที่ตั้งฮั่วเส็งนำมาต่อยอดอีกครั้ง

T – square สร้างลูกค้าใหม่แทนลูกค้าเก่า
จุดขายที่ชัดเจนของห้างแห่งนี้คือ เรื่องอุปกรณ์งานฝีมือ และสินค้าซูเปอร์ราคาถูก ทำให้ห้างสรรพสินค้าอยู่ได้ และมีลูกค้าประจำอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อถึงเวลาหนึ่งเมื่อลูกค้ากลุ่มนี้อายุมากขึ้น การซื้อหรือการมาเป็นลูกค้าก็จะลดน้อยลง รวมไปถึงวัยที่ร่วงโรยไป การทำงานฝีมือต่างๆ ก็คงไม่ได้มากมายเหมือนเช่นเดิม

ตั้งฮั่วเส็ง คงไม่สามารถปล่อยให้จำนวนลูกค้าลดน้อยลงตามวันเวลา

วิโรจน์ จุนประทีปทอง ประธานกรรมการและผู้จัดการใหญ่ บริษัทสรรพสินค้าตั้งฮั่วเส็ง จำกัด บอกว่า ลูกค้าของตั้งฮั่วเส็งขณะนี้ส่วนใหญ่อายุประมาณ 50 ปีขึ้นไป และเป็นลูกค้าที่ซื้อกันมานาน

เขาเลือกการปรับภาพลักษณ์ทั้งภายใน และภายนอกของตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี ที่มีอายุกว่า 20 ปี มาเป็นห้างสรรพสินค้าที่ดูทันสมัยขึ้น หน้าตาดีขึ้น และแน่นอนว่าต้องดึงดูดลูกค้ากลุ่มใหม่มากขึ้นเช่นกัน พร้อมๆ กับการเปลี่ยนชื่อของตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี เป็นT- square

“ลูกค้าใหม่เรียกชื่อ ตั้งฮั่วเส็ง ไม่ถูก ยาวเกินไป จึงย่อเอามาแต่ตัว T”

เขาไม่ได้มองว่านี่คือการ Re-branding ตั้งฮั่วเส็ง เพราะชื่อของตั้งฮั่วเส็งยังคงอยู่ต่อไปเช่นเดิม แต่เปลี่ยนวิธีการ Present ใหม่ให้ตรงกับลูกค้ากลุ่มใหม่ที่คาดหวังว่าจะเข้ามาใช้บริการมากกว่า

อาคารห้างสรรพสินค้าตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี จะปรับเปลี่ยนทั้งภายนอกและภายใน พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น T-square ที่เด่นชัด และต่อไปทุกคนจะเรียกตึกนี้ว่า T-square ไม่ใช่ตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี

ตั้งฮั่วเส็ง จะเป็นส่วนหนึ่งของ T-square เป็นห้างสรรพสินค้าในโครงการนี้ หรือเป็น Magnet หนึ่งในอาคาร และชื่อของตั้งฮั่วเส็งก็ยังติดอยู่บนยอดตึก ไม่ได้ถูกลบหายไปไหน

ชื่อของตั้งฮั่วเส็งยังคงมีมนต์ขลัง และเป็นที่รู้จักของลูกค้าและคนทั่วไป การถูกปล่อยให้หายไป คงทำได้ยาก

การเลือกใช้ชื่อ T-square ผ่านการคิดมาหลายขั้นตอน โดยมีชื่อที่อยู่ในข่ายพิจารณา T-center แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ชื่อแรก พร้อมๆ กับการออกแบบ การเลือกใช้สีในตัวโลโก้ใหม่

โลโก้ T-square เลือกใช้สีส้ม เพราะเป็นสีที่อยู่ในโโก้เดิมของตั้งฮั่วเส็ง ที่มีสีน้ำเงินกับสีส้ม การใช้สีเดิมที่มีอยู่ทำให้ไม่เกิดความแปลกแยกมากนัก อย่างน้อยก็คุ้นตากับโลโก้เดิม

ตัวอักษรมีเสนอมาให้เลือกแบบเดียว และเป็นที่ถูกใจกรรมการ จึงถูกรับเลือกโดยไม่มีข้อถกเถียง

เมื่อมองถึงสีส้มที่ถูกเลือกมาใช้ ทำให้มีความเป็นหนุ่ม เป็นสาวมากขึ้น ลดทอนอายุได้มากทีเดียว และดูมีชีวิต กระตือรือร้น

ชูจุดขาย Hobby Center
การปรับสาขาธนบุรีครั้งนี้ คือการปรับการใช้พื้นที่ใหม่ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมระหว่างพื้นที่ห้างสรรพสินค้าและพื้นที่เช่า

หลังจากปรับเป็น T-square แล้ว ทั้งโครงการมีพื้นที่ 32,000 ตารางเมตร แบ่งเป็นพื้นที่พลาซ่าให้เช่า 10,000 ตารางเมตร ส่วนของห้างสรรพสินค้ารวมซูเปอร์มาร์เก็ตประมาณ 22,000 ตารางเมตร จากเดิมพื้นที่ห้างสรรพสินค้าอยู่ที่ 25,000 ตารางเมตร

ซึ่งวิโจน์เองก็ยอมรับว่า ในส่วนของพื้นที่ห้างสรรพสินค้าตั้งฮั่วเส็งหลังจากปรับใหม่แล้ว มีพื้นที่น้อยลง เพราะก่อนการปรับได้ตั้งเป้าหมายว่า ห้างสรรพสินค้าต้องการใช้พื้นที่เท่าไหร่ ใช้ให้เพียงพอแล้วที่เหลือค่อยเปลี่ยนเป็นพื้นที่เช่า

ในส่วนของห้างสรรพสินค้าที่ลดน้อยลงนี้ ไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับตั้งฮั่วเส็ง เพราะว่าการปรับใหญ่ครั้งนี้ ตั้งฮั่วเส็งรู้ดีแล้วว่า จะต้องใช้จุดขายที่เป็น Magnet อะไรมาทำให้ห้างนี้คึกคักขึ้น

วิโรจน์ตัดสินใจเพิ่มพื้นที่ในส่วนของอุปกรณ์ เย็บ ปัก ถักร้อย เป็น 2 ชั้น จากเดิมที่มีเพียงชั้นเดียว และเรียกชื่อใหม่ว่า Hobby Zone

“งานอดิเรกของตั้งฮั่วเส็งแตกต่างจากงานอดิเรกของที่อื่น เพราะที่นี่เน้นการลงมือทำเอง ไม่ใช่การซื้อของสำเร็จรูปที่มีขายอยู่ตามห้างทั่วๆ ไป ที่นี่ต้องซื้อวัสดุ แล้วลงมือทำ จะได้งานออกมาที่ไม่เหมือนใคร และมีเพียงชิ้นเดียวในโลก”

วิโรจน์ให้นิยามความแตกต่างของงานอดิเรกในแผนกเย็บปัก ถัก ร้อย ของตั้งฮั่วเส็ง กับห้างสรรพสินค้าอื่นๆ ซึ่งเป็นแนวทางที่เขาทำมานานจนเป็นที่ยอมรับในกลุ่มผู้บริโภคอยู่แล้ว

เย็บปักถัก ร้อย ที่เคยทำมา อาจไม่เพียงพอหากตั้งฮั่วเส็ง ต้องการเพิ่มกลุ่มลูกค้าใหม่เข้ามา จึงต้องเพิ่มในส่วนของสินค้าตกแต่งบ้านเข้าไปอีกส่วนหนึ่ง แน่นอนว่าการเพิ่มสินค้ากลุ่มนี้ ก็ต้องมองถึงการขยายไปสู่กลุ่มผู้บริโภคที่เป็นผู้ชาย เพื่อจะได้มีกิจกรรมให้ทำระหว่างรอฝ่ายหญิงที่มาซื้ออุปกรณ์เย็บปัก ถัก ร้อย

สินค้ากลุ่มผู้ชายที่ถูกใส่เข้ามาในพื้นที่ Hobby Zone ยังมีกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์กีฬา แต่หัวใจหลักยังคงเป็นอุปกรณ์แต่งบ้าน เพราะจากทำเลย่านถนนสิรินธร เป็นพื้นที่ของที่พักอาศัยจำนวนมาก และส่วนใหญ่เป็นบ้านเดี่ยว ความต้องการแต่งบ้านน่าจะเป็นกลุ่มที่ถูกต้อง และเหมาะสม

“แนวคิดนี้มาจากห้างสรรพสินค้า Tokyu Hands ของญี่ปุ่น ที่มีสินค้าเกี่ยวกับงานช่าง งานฝีมือทุกประเภท สินค้าท่องเที่ยว”

วิโรจน์มองส่วนผสมของตั้งฮั่วเส็งกับ Tokyu Hands นำมารวมกัน ก่อนที่จะปรับมาเป็นแบบไทย ๆ ซึ่งเขาบอกว่าตั้งฮั่วเส็งยังทำไม่ได้ 10% ของ Tokyu Hands แต่ความหวังของเขาในอนาคตต่อไปก็คือจะเพิ่มให้มีความใกล้เคียงกันมากขึ้น เพราะดูแล้วน่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมและถูกกับตั้งฮั่วเส็ง

ตั้งฮั่วเส็งได้ปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมในส่วนของชั้น 5 พื้นที่ที่สร้างขึ้นใหม่ ให้เป็นส่วนของวิชาการ และศูนย์อาหาร เพื่อรองรับลูกค้ากลุ่มครอบครัวที่เข้ามาใช้บริการ และเป็นจุดแข็งอีกประการหนึ่งของตั้งฮั่วเส็งที่วิโรจน์มองแล้วว่าน่าจะนำมาพัฒนาต่อยอดได้

“ที่ชั้น 5 เราทำเป็นศูนย์อาหาร และเป็นที่ติวหนังสือของนักเรียน ที่รอผู้ปกครองมารับกลับบ้านพร้อมกัน”

ถ้าตั้งฮั่วเส็งต้องการเพิ่มกลุ่มลูกค้าก็ต้องเริ่มจากจุดนี้ ด้วยการสร้างฐานจากกลุ่มครอบครัวที่ต้องมาใช้พื้นที่ทำกิจกรรมระหว่างรอผู้ปกครอง ซึ่งความจริงสถานการณ์นี้ก็เกิดขึ้นอยู่แล้วในตั้งฮั่วเส็งเดิม แต่หลังจากนี้จะมีความชัดเจนมากขึ้น และจัดให้เป็นแหล่งสร้างรายได้ที่มั่นคงขึ้น

เพิ่มตัวเลขคนเข้าห้าง
การลงมือปรับเปลี่ยนสาขาธนบุรีครั้งใหญ่ในรอบ 20 ปีของตั้งฮั่วเส็ง วิโรจน์บอกว่าใช้เงินประมาณ 300 ล้านบาท เพื่อทำให้สาขานี้ดูทันสมัยขึ้น น่าสนใจขึ้น และแน่นอนว่าสิ่งที่เขาต้องการก็คือกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ที่จะเข้ามา พร้อมๆ กับตัวเลขคนเข้าห้างนี้เพิ่มขึ้นด้วย

“หลังปรับเปลี่ยนมีร้านหนังสือ ร้านอาหารเพิ่มเข้าไป คาดว่าจะมีลูกค้าระดับอายุ 20-40 ปีมากขึ้น และจำนวนคนที่เข้ามาในห้างวันธรรมดาเพิ่มเป็น 20,000 คน และเสาร์อาทิตย์เพิ่มเป็น 30,000 คน”

เดิมตัวเลขการเข้ามาใช้บริการในตั้งฮั่วเส็ง วันธรรมดาอยู่ที่ 8,000 คน และวันเสาร์-อาทิตย์ 10,000 คน มียอดค่าใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 600 บาท สิ่งที่วิโรจน์ต้องการก็คือ การเพิ่มขึ้นเป็น 100 % ทั้งตัวเลขคนเข้าห้าง และค่าใช้จ่ายเฉลี่ย

พร้อมๆ กับการปรับเปลี่ยนหน้าตา ทั้งภายในและภายนอกแล้ว ในส่วนของบุคลากรใหม่ๆ ที่จะเข้ามาเสริมก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน วิโรจน์บอกว่าได้หามืออาชีพรุ่นใหม่ๆ เข้ามาร่วมงาน ในขณะที่ในส่วนผู้บริหารที่เป็นลูกหลานก็เข้ามาช่วยงานมากขึ้น มีรุ่นที่ 3 เข้ามารับช่วงบ้างแล้ว และเขายืนยันว่าอายุของผู้บริหารที่นี่ไม่ได้สูงวัยเกินไป ยังอยู่ในระดับ 30-40 ปี

ส่วนตัวของวิโรจน์เอง ก็ยังทำหน้าที่เป็นผู้บริหารระดับสูงอยู่ต่อไป แม้จะเคยตั้งใจไว้ว่าจะหยุดงานเมื่ออายุ 55 ปี แต่ก็ล่วงเลยมาจนถึงทุกวันนี้

ส่วนจะได้หยุดพักเมื่อไหร่เขาบอกสั้นๆ ว่า “พระเจ้าเท่านั้นที่รู้”

ตั้งฮั่วเส็ง ถูกบังคับให้วิ่ง
ตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี ปักหลักที่บนถนนสิรินธรก่อนศูนย์การค้าอื่นๆ ทั้งๆ ที่ขณะนี้ความเจริญของเมืองย่านนี้ จนมาได้สักระยะหนึ่งห้างสรรพสินค้าเมอร์รี่คิงส์ ก็ตามมา แต่อยู่หัวถนนปิ่นเกล้าด้านใกล้ถนนจรัลสนิทวงศ์

จนถึงการเข้ามาของศูนย์การค้าขนาดใหญ่เซ็นทรัล พลาซ่า ปิ่นเกล้า ที่พกพาความใหญ่โตแบบครบวงจรมาที่นี่ ตามรูปแบบของศูนย์การค้าสมัยใหม่ จากนั้นก็ตามมาด้วย เมเจอร์ ซินีเพล็กซ์ ปิ่นเกล้า โรงหนัง Standalone แห่งแรกของวิชา พูลวรลักษณ์

คู่แข่งทั้งหมดนี้อยู่ห่างกันไม่เกิน 1 กิโลเมตร รวมตัวกันอยู่ ดักคน ดึงคนอยู่ตลอดเวลา ตั้งฮั่วเส็งที่อยู่ปลายถนนยืนยาวได้ระดับนี้ต้องบอกว่าลูกค้ายังให้ความเชื่อถือ

แต่ไม่ได้หมายความว่าวิโรจน์ และตั้งฮั่วเส็งจะอยู่เฉย รอรับเพียงฝ่ายเดียว ตั้งฮั่วเส็งก็พยายามทำในวิธีการของตัวเอง การแตกแบรนด์เล็กออกไปเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตอย่างซูเปอร์ ที หรือการไปเปิดสาขาตั้งฮั่วเส็งที่โครงการซิติ้พาร์ค ของกลุ่มเอ็มไทน ที่เมืองใหม่บางพลี ถนนบางนา-ตราดกิโลเมตรที่ 23 วิโรจน์ก็ลองทำมาหมดแล้ว แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

จากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นในย่านนั้น ตามการเติบโตของธุรกิจที่พักอาศัย นั่นคือโอกาสของผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าทุกรายที่ต้องดึงเอามาเป็นลูกค้าใหม่ได้ แต่จะด้วยวิธีใดเท่านั้นเอง

T-square คือคำตอบที่ตั้งฮั่วเส็งกำลังบอกกับคู่แข่งในย่านนี้ พร้อมๆ กับบอกลูกค้าทั้งเก่าและใหม่ว่า ตั้งฮั่วเส็งยังเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันในธุรกิจค้าปลีก และจะเป็นอยู่ต่อไป ในรูปแบบของตั้งฮั่วเส็งอย่างที่เป็นมาตลอด 49 ปี

นับถอยหลังพบ T-square
เริ่มปรับปรุง เมษายน 2554
กำหนดเสร็จ กลางปี 2555
งบประมาณ 300 ล้านบาท
แนวคิดการออกแบบภายนอก เป็นศูนย์การค้าแบบ Terrace Space
แนวคิดการออกแบบภายใน แบ่งเป็น 3 โซนคือ Department Store, Fashion Zone, Beauty Shop
การสัดสรรพื้นที่ภายใน – ชั้นใต้ดิน ซูเปอร์มาร์เก็ต และเซอร์วิส เซ็นเตอร์
– ชั้น 1 ร้านอาหารแบรนด์ต่างๆ ธนาคาร เครื่องสำอาง สปา ความงาม
– ชั้น 2 ศูนย์รวมแฟชั่นเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า บุรุษ และสตรี
– ชั้น 3 Hobby Center ศูนย์รวมงานฝีมือ ไลฟ์สไตล์
– ชั้น 4 Hobby Center กิจกรรมของคนในครอบครัว เครื่องใช้ไฟฟ้า กีฬา
– ชั้น 5 Learning Center ศูนย์การศึกษาและเรียนรู้สำหรับเด็ก ศูนย์อาหาร
สัดส่วนตลาดธุรกิจค้าปลีก
ประเภท 2553 2554
Modern Trade 40% 45%
Traditional Trade 60% 55%
ตลาดรวมปี 2553 1.4 ล้านล้านบาท
ตลาดรวมปี 2554 เพิ่มขึ้น 15% (ประมาณการ)
ที่มา : ส.พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกทุนไทย