ข่าวเชิงวิเคราะห์ “ชำแหละ Bitkub ยูนิคอร์นสายพันธ์ุอันตราย??” ความยาวทั้งหมด 5 ตอน อัปเดตทุกวันจันทร์ ตอนที่ 4 โดย iBit
เบื้องหลัง แบงก์ชาติ-ก.ล.ต. ออกกฎเกณฑ์ คุมเข้าธุรกิจคริปโตฯ เพราะ Bitkub สวนทาง “Regulator” อย่างบ้าคลั่งทำป่วนวงการ จับตาผลกระทบ สั่งห้ามใช้คริปโต ฯ ชำระค่าสินค้า-บริการ ห้ามแบงก์พาณิชย์ลงทุนเกิน 3% กระเทือนธุรกิจหลากหลาย หรือ แม้แต่ดีล SCBX ก็อาจจะต้องทบทวน!
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ประกาศควบคุมการทำธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้นซึ่งเป็นการส่งสัญญาณอย่างมีนัยสำคัญว่า หลังจากได้เฝ้าติดตามการดำเนินธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมาตั้งแต่เริ่มต้นจนวันนี้นั้น Regulator มองเห็นอะไรในความเป็นไปของวงการคริปโตเคอร์เรนซีของไทย
การส่งสัญญาณนี้ย่อมจะมีผลต่อทิศทางธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่น่าสนใจว่า เบื้องหลังคำสั่ง และการควบคุมที่เข้มงวดนั้น สะท้อนให้เห็นถึงอะไร?
แน่นอนว่า เหรียญมีสองด้าน สินทรัพย์ดิจิทัลด้านหนึ่งคือประโยชน์ในการพัฒนาวงการตลาดเงินตลาดทุน แต่อีกด้านหนึ่งคือโทษมหันต์ซึ่งน่ากังวลถึงอันตรายอย่างยิ่ง
เหมือนที่ “วิทาลิก บูเทริน” ผู้ก่อตั้ง Ethereum แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในวงการคริปโตฯเป็นไปในด้านมืดมากกว่าด้านดี กล่าวคือ มีใครหรือกลุ่มคนพยายามใช้ “กระแส” และ ”Disruption” มาขายฝัน “ความเชื่อ” ใช้ คริปโตฯ ที่ได้ชื่อว่า เป็น “Easy Money” หรือ ”เครื่องมือทางการเงิน” เพื่อสร้างความร่ำรวยมั่งคั่ง สนับสนุนให้ศูนย์ซื้อขายฯ เป็นบ่อนพนัน การเก็งกำไร แหล่งฟอกเงิน เลี่ยงภาษี หรือ ธุรกรรมอื่นๆ ที่เสี่ยงต่อการละเมิดกฎหมาย
ก.ล.ต. – แบงก์ชาติ เข้มดับไฟ
มาดูกันว่า Regulator ออกกฎเกณฑ์อะไรบ้าง ล่าสุด สำนักงาน ก.ล.ต. รายงานว่า หลังจากที่ประชุมเมื่อวันที่ 3 มี.ค. มีมติเห็นชอบหลักการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในการจำกัดการให้บริการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ ซึ่งปรับปรุงตามข้อเสนอแนะที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง (ระหว่างวันที่ 25 ม.ค. – 8 ก.พ. 2565) ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น
หลังจากได้ทำการตรวจสอบมาในระยะเวลาหนึ่ง และเห็นถึงตัวเร่งที่สำคัญที่จะทำให้ความเสี่ยงในการใช้เหรียญชำระค่าสินค้า และบริการมีเพิ่มมากขึ้น โดยตัวเร่งดังกล่าวมาจากการทำธุรกรรมทางการเงินที่ง่ายขึ้น มีการสแกนคิวอาร์โค้ดชำระค่าสินค้า และบริการเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต ซึ่งการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment) อาจจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจ รวมถึงความเสี่ยงต่อประชาชนหรือผู้ลงทุนและธุรกิจ
เพราะฉะนั้น ธปท. และ ก.ล.ต. จำเป็นต้องเข้ามากำกับดูแล โดยหลักเกณฑ์การกำกับดูแลในครั้งนี้ โดยระบุว่าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทุกประเภท จะต้องไม่ให้บริการ สนับสนุนหรือส่งเสริมการชำระค่าสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล ดัง 6 ข้อต่อไปนี้
- ไม่โฆษณา ชักชวน หรือแสดงตนว่าพร้อมเป็นผู้ให้บริการรับชำระค่าสินค้าและบริการ
- ไม่จัดทำระบบ หรือเครื่องมือในการชำระค่าสินค้าและบริการ
- ไม่เปิด Wallet เพื่อนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ
- ไม่ให้บริการโอนเงินบาท ซึ่งเป็นการโอนจากบัญชีของลูกค้าไปยังบัญชีของบุคคลอื่น
- ไม่ให้บริการโอนสินทรัพย์ดิจิทัลจากบัญชีของลูกค้าไปยังบัญชีอื่น
- ไม่ให้บริการอื่นใดที่มีลักษณะเป็นการสนับสนุนการรับชำระค่าสินค้าและบริการ
โดยหลักเกณฑ์กำกับการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 เป็นต้นไป ซึ่งผู้ประกอบการที่ให้บริการอยู่ก่อนและพบว่าเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์ จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ประกาศมีผลบังคับใช้ และหากลูกค้ามีบัญชีเปิดไว้สำหรับซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อนำไปใช้ในการชำระสินค้าและบริการให้ผู้ประกอบการ ทาง ก.ล.ต. จะมีการส่งข้อความเพื่อแจ้งเตือน หากยังดำเนินการอยู่จะต้องถูกดำเนินการรวมถึงถูกระงับการใช้บริการชั่วคราว หรือยกเลิกการให้บริการ
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องตรวจสอบบัญชีต่างๆ ว่ามีพฤติกรรมเข้าข่ายการใช้บัญชีเพื่อรับชำระค่าสินค้าและบริการหรือไม่ พฤติกรรมเหล่านี้ เช่น การรับสินทรัพย์ดิจิทัลเข้ามาและขายออกทันที หรือการถอนสินทรัพย์ดิจิทัลออกไปและกลับเข้ามาในอีกบัญชีในตัวเงินใกล้เคียงกัน
นั่นเพราะความเสี่ยงที่เกิดจากการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ในการชำระค่าสินค้าและบริการ ทำให้เกิดผลกระทบ 2 กลุ่มคือประชาชนและผู้ประกอบการที่ราคาอาจผันผวน เนื่องจากยอดการใช้จ่ายของผู้ซื้อหรือรายรับของผู้ขายมีความไม่แน่นอนซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการฟอกเงินและเสี่ยงต่อการถูกโจรกรรม และอีกกลุ่มคือระบบเศรษฐกิจการเงินซึ่งเป็นผลกระทบใหญ่ที่ทำให้แบงก์ชาติจะไม่สามารถเข้ามาดูแลภาวะการเงินได้ เนื่องจากคนจะถือครองเงินบาทน้อยลง ซึ่งแบงก์ชาติไม่สามารถปล่อยสภาพคล่องในรูปแบบที่ไม่ใช่เงินบาทได้ ขณะที่ ธปท.ได้ควบคุมธนาคารพาณิชย์ โดย
1. ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset : DA) ที่ได้รับการอนุญาตและมีหน่วยงานการกำกับดูแล เช่น DA exchange, Broker, dealer ธนาคารพาณิชย์ลงทุนได้ไม่เกิน 3% ของเงินกองทุน กรณีที่เป็นกลุ่มธุรกิจการเงิน (โฮลดิ้ง) ลงทุนได้เกิน 3% ของเงินกองทุน แต่จะนำส่วนเกินไปหักเงินกองทุน ทำให้เงินกองทุนลดลงได้
2. ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset : DA) ที่ไม่มีการกำกับดูแล เช่น Metaverse และ Defi ธปท. กำหนดให้ทำอยู่ในขอบเขต (Sandbox) โดยจะมีการพิจารณา 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนการรับเข้าทดสอบ จะพิจารณาถึงประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ และต้นทุนลดลง และขั้นตอนหลังการทดสอบก่อนจะให้บริการวงกว้าง จะพิจารณาประโยชน์ต่อภาพรวมหรือไม่ โดยการทดสอบดังกล่าวยังคงอยู่ในเพดาน 3%
จับตาสะเทือนถึงดีล SCBX
จากประกาศของ ก.ล.ต. และ ธปท. คราวนี้จะส่งผลกระทบต่อ “ซูเปอร์ดีล” ระหว่าง SCBX และ บิทคับ หรือไม่อย่างไร? คนในวงการวิเคราะห์ว่า ดูเหมือน Regulator จะเน้นไปที่การป้องกันความเสี่ยง โดยเฉพาะเรื่องของการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปชำระราคาสินค้าและบริการ ขณะเดียวกันแบงก์ชาติกังวลต่อการลงทุนของธนาคารพาณิชย์ในธุรกิจนี้โดยจำกัดการลงทุนไว้ไม่เกิน 3% ของกองทุน แม้จะไม่ถึงกับทำให้ดีลล่ม
แต่การดำเนินธุรกิจของ SCBX ที่เข้าไปแบกรับเอาธุรกิจของบิทคับมาด้วยมูลค่าลงทุน 17,800 ล้านบาทนั้น ย่อมไม่เป็นไปตามแผนที่วาดหวังไว้สวยหรูขยายนู้นทำนี่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นทำให้เกิดคำถามว่า Due diligence ที่ทำไป ตัวแปร ปัจจัยเปลี่ยน เกิดโอเวอร์แวลู หรือ มูลค่าที่แพงเกินจริง ตามมา ใครจะรับผิดชอบ?
ขณะที่มีรายงานจาก ธปท. แจ้งว่า ขณะนี้แม้กลุ่มธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์จะเข้ามาคุยกับแบงก์ชาติถึงการลงทุนในบิทคับ แต่ยังไม่มีการยื่นขออนุญาตลงทุนอย่างเป็นทางการ ดังนั้น ธปท. จึงยังไม่ได้พิจารณากรณีนี้ ซึ่งคาดว่า SCBX รอดูความชัดเจนของเกณฑ์การกำกับดูแลของแบงก์ชาติ และระหว่างนี้ทั้งสองบริษัทยังอยู่ระหว่างทำ Due diligence โดยยังไม่รู้ว่า ท้ายที่สุดราคาตกลงซื้อขายจะอยู่ที่เท่าไหร่
บิทคับ ยูนิคอร์นไม่กลัวน้ำร้อน
ตัวอย่างดังกล่าว เป็นปฏิบัติการล่าสุด แต่ที่ผ่านมา แบงก์ชาติ และ ก.ล.ต. นอกจากควบคุมและตรวจสอบ (อ่านรายละเอียดในตอนที่ 3) พบว่า การทำธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของไทย มีปัญหา “ไม่รัดกุม” และ ทำธุรกิจไม่มีประสิทธิภาพ ต้องสั่งการและแก้ไขเพื่อควบคุมในหลายเรื่อง
ยิ่งเกิดปรากฏการณ์การเติบโตของ “Bitkub” กับ “Kub” เหรียญของบิทคับที่ออกมาเทรดในตลาดของตัวเอง จากมูลค่าที่มีปัจจัยอ้างอิงเพียง 30 บาทต่อเหรียญและเป็นเหรียญมีสิทธิประโยชน์เพื่อใช้เป็นส่วนลดค่าธรรมเนียมในการซื้อขายคริปโตฯ ในตลาดของตัวเอง กลับซื้อขายเก็งกำไรปั่นราคาขึ้นไปเหรียญละ 400-500 บาท หรือ 1,800% ซึ่งตอบคำถามไม่ได้ว่า ทำไมมูลค่าเกินจริงไปมากขนาดนั้น? ใครทำราคา ใครได้ประโยชน์? ยิ่งทำให้ แบงก์ชาติ และ ก.ล.ต. ยิ่งต้องหาทางดับไฟแต่ต้นลม
แต่จากตัวอย่างที่ Kub ราคาพุ่ง มูลค่าเหรียญแพงระยับกลับกลายเป็นแม่เหล็กที่ใช้ดึงดูด ธุรกิจที่คิดจะออกเหรียญตัวเอง หรือ คนดัง คนมีชื่อเสียงในวงการต่างๆ ที่คิดจะเชื่อมต่อตัวเองเข้ากับโลกการเงินดิจิทัล โดยมองเห็นด้านความมั่งคั่ง ร่ำรวย มาก่อนตามอย่าง โดยที่ บิทคับเอง ก็มองเห็นโอกาสที่จะใช้ Kub เป็นตัวกลางในชำระการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า หรือ ทำธุริกจให้บริการแก่คนกลุ่มต่างๆ
ตลอดเวลาที่ผ่านมา บิทคับ แม้จะถูกกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดของ แบงก์ชาติ และ ก.ล.ต. สกัด แต่ก็ไม่ได้ทำให้ บิทคับ ชะงักงัน เช่น “Bitkub NFT” ซึ่งเป็น Official Project แพลตฟอร์มใหม่ล่าสุดของ Bitkub Chain เป็นตัวปลุกปั้นใช้ดึงดูดพันธมิตรจำนวนมากให้เข้ามาร่วมวงศ์ไพบูลย์กับกลุ่ม “Bitkub” ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ช่วยทำให้ KUB Coin และ Bitkub Exchange ถูกเพิ่ม “ราคา” และ “ความเชื่อ” ขึ้นไปอีก ในทำนอง หากใครไม่เข้าร่วม เดี๋ยวอาจตกขบวนไปไม่ทัน
ไม่เพียงเท่านี้ ในโลกโซเชียลมีเดีย พบว่า ท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งบิทคับ ได้มีการพบปะเจรจาหรือรับประทานอาหารกับกลุ่มชนชั้นสูง อาทิ เจ้าของธุรกิจ ไฮโซ ดาราที่มีชื่อเสียง อย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่เป็นที่แน่ชัดถึงหัวข้อในการสนทนา แต่ที่ชัดเจนคือกลุ่มคนเหล่านี้ซึ่งมียอดผู้ติดตามในโลกโซเชียลในจำนวนที่สูง แสดงความเห็นถึงผลการพูดคุยหรือพบปะผู้บริหารของ Bitkub ล้วนออกไปในทางที่ชื่นชม
ผลสำเร็จ หรือส่อให้เห็นถึงโอกาสในการเกิดการร่วมทุนเพื่อลงทุนหรือทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Bitkub เพื่อรอรับผลตอบแทนจากการลงทุนในระดับสูง ซึ่งส่อถึงเจตนาโฆษณาแฝงผ่านบุคคลที่มีชื่อเสี่ยงเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากกลุ่มผู้ติดตาม
ทว่า หลังจากที่ ธปท. และ ก.ล.ต. คุมเข้มธุรกิจคริปโตฯ มากขึ้นเรื่อยๆ ก็มีคำถามตามมาว่า บรรดากลุ่มที่เข้าทำธุรกิจกับ บืทคับ จะเดินหน้ากันอย่างไร?
ปัจจุบันพบว่ามีบริษัทจำนวนมากจากหลากหลายธุรกิจเข้าร่วมการเป็น Node Validator ในโลกของ Bitkub Blockchain ซึ่งหมายถึง บุคคลที่มีหน้าที่ ‘Validate & Verify’ ตรวจสอบและยืนยันธุรกรรม โดยธุรกรรมที่ได้รับการยืนยันแล้วจะถูกบันทึกลงบัญชีใน Blockchain และกลายเป็นการบันทึกข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (Distributed ledger) แม้กฎเกณฑ์การควบคุมจากหน่วยงานรัฐจะยังคลุมเครือ หรือไม่มีความชัดเจน จนอาจมีผลต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคตก็ตาม
จากข้อมูลที่รวบรวม พบว่า กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นกลุ่มแรกๆ ที่สนใจในธุรกิจนี้ โดยหลายรายให้ความสนใจต่อการรับแลกสกุลเงินดิจิทัล เพื่อเพิ่มช่องทางในการซื้อบ้านและคอนโดฯ ให้กับลูกค้าในทุกโครงการของบริษัท
นอกจากนี้บางบริษัทมองเห็นช่องทางในการเข้าถึงแหล่งเงินเพิ่มเติมผ่าน ICO (Initial Coin Offering) กับ Bitkub หรือการเสนอขายเหรียญดิจิทัลครั้งแรกแก่ประชาชนซึ่งแตกต่างจากวิธีการเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไป หรือที่เรียกว่า IPO (Initial Public Offering) เนื่องจากเหรียญดังกล่าวนี้ไม่ใช่สิทธิการเป็นเจ้าของ ผู้ลงทุนจึงไม่ได้รับเงินปันผล สิทธิเข้าร่วมประชุม หรือสิทธิอื่นๆ ที่จะได้รับในฐานะหุ้นส่วน
โดยบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ตัดสินใจเข้ามาร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ธุรกิจกับกลุ่ม Bitkub เช่น บมจ.แสนสิริ, บมจ.ไซมิส แอสเสท (SA), บมจ.ชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์ (CI), บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN), บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ (ORI), บมจ.ริชี่เพลซ 2002 (RICHY) และ บมจ.เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ (MJD) หรือแม้แต่กลุ่มธุรกิจโรงแรมและอาหารอย่าง บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT)
กลุ่มบันเทิงไม่น้อยหน้า
ถัดมาคือกลุ่มธุรกิจบันเทิง มีรายงานว่า GMM Grammy มองว่านี่คือจิ๊กซอว์สำคัญต่อการเติบโตของธุรกิจเพลงในรูปแบบ MUSIC NFT เพื่อรับกระแสโลกในยุคปัจจุบัน โดยเชื่อว่าจะเป็นน่านน้ำรายได้ใหม่ของแกรมมี่ในระยะยาว จึงได้จับมือกับ Bitkub เพื่อจะวางสินค้าให้เข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์ม MUSIC NFT
ขณะที่ บมจ.อาร์เอส (RS) ประกาศเปิดตัว Popcoin สมาร์ท มาร์เก็ตติ้ง แพลตฟอร์มด้วยการใช้เทคโนโลยี Blockchain มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจ
ค้าปลีก – ร้านอาหารกลัวตกขบวน
มีรายงานว่า บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ได้จับมือกับ “บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์” ร่วมทุนจัดตั้ง บริษัท บิทคับ เอ็ม จำกัด ขึ้น ในสัดส่วน 50:50 ซึ่งเดอะมอลล์ มีแผนจะเปิดให้มีการนำสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Currency) มาแลกสินค้าและบริการที่ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าในเครือเดอะมอลล์ กรุ๊ป โดยไม่มีค่าธรรมเนียม เพื่อกระตุ้นยอดขายในห้างสรรพสินค้าของกลุ่ม
ขณะที่ บมจ.ทีพีซีเอส (TPCS) ในเครือสหพัฒน์ ผู้ดำเนินธุรกิจการผลิตและจำหน่ายสินค้าประเภท B2B และ B2C ได้ร่วมเป็นหนึ่งในผู้ตรวจสอบธุรกรรม (Validator Node) ของ Bitkub Chain เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้งานบล็อกเชนบนภาคธุรกิจจริง
ไม่เพียงเท่านั้น “ลาซาด้า” (Lazada) เว็บชอปปิ้งรายใหญ่ได้จับมือ “ยืมมั้ย” (Yuemmai) และ Bitkub เปิดตัว “LazMall YES Official Store” ครั้งแรกบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย สร้างมิติใหม่ ของการชอปสมาร์ทโฟนออก Bundle Deal สุดพิเศษ ที่ได้ทั้งโทรศัพท์มือถือ และ “YES” (เยส) สกุลเงินคริปโตฯ ใหม่ล่าสุด เพื่อนำไปใช้ลงทุนบน Bitkub Exchange โดยตั้งเป้าขายโทรศัพท์มือถือ 100,000 เครื่อง มูลค่ากว่า 400 กว่าล้านบาท ภายในปีนี้
ด้าน บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด เจ้าของแบรนด์ “บาร์บีคิวพลาซ่า” ก็ได้จับมือกับ Bitkub Chain ออก GO(N)FT ที่มาในรูปแบบ Loyalty Campaign มอบสิทธิพิเศษ ผ่าน GO(N)FT ให้สมาชิก
ลัทธิบิทคับตัวการทำป่วน?
กล่าวได้ว่าที่ผ่านมา Bitkub เดินหน้าเกมการตลาดอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างอิมแพกต์ให้กับแบรนด์ของตน ให้เป็นที่ยอมรับและเชื่อถือจากนักลงทุนไทย ผ่านเกมการตลาดทั้งการโฆษณาชวนเชื่อว่าเงินลงทุนเพียงแค่เล็กน้อยก็มีโอกาสคว้ากำไรเม็ดงามจากการลงทุนได้ หรือการดึงพันธมิตรภาคเอกชนเข้ามาช่วยสานต่อหรือขยายเครือข่ายทางธุรกิจ เพิ่มความน่าเชื่อถือ ไม่เว้นแม้แต่การพบปะผู้มีชื่อเสียงเพื่อฉายภาพการเติบโตของสินทรัพย์ดิจิทัลที่หากไม่เข้าร่วมอาจพลาดโอกาสสร้างตัว หรือ กำไรก้อนโต
ท๊อป จิรายุส เคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาบริหารธุรกิจ บิทคับ ภายใต้ความเชื่อ ไม่แตกต่างจาก “ลัทธิ” หรือ พูดให้ง่าย ๆ บิทคับ คือ ลัทธิ ลัทธิบิทคับ วันนี้เติบโตขึ้น จาก 3 ปีก่อนที่มีพนักงานไม่กี่ร้อยขยับเพิ่มมาอยู่ที่ 1,600 คน และคาดว่าจะเปิดรับเพิ่มเพื่อเป้าหมายที่วางไว้ 2,000 คน
เมื่อปีที่แล้ว บริษัทจ่ายโบนัสให้พนักงานกว่า 12 เดือน ทำให้ถูกโจษจันไปทั่วว่า บิทคับเป็นบริษัทในฝันของคนรุ่นใหม่ ออฟฟิศที่คนอยากทำงาน เป็นสตาร์ทอัปที่ติดอันดับท็อปเทนเคียงข้างบริษัทใหญ่ที่คนอยากทำงานมากที่สุด
ทว่า ในโลกโซเชียล ก็มีคำกล่าวอีกด้านว่า แม้ Bitkub คือ เงินดีมาก โบนัสปัง แต่ถ้าคนที่ทำงานไม่อินความเป็น “Bitkuber” ภายใน 3 เดือนคือโดนไล่ออก คือ ทำเป็นลัทธิกันเลยทีเดียว
Bitkuber เป็นคำเรียกกันของกลุ่มบิทคับที่แทนความหมายว่า “หนึ่งในพวกเรา” ตรงกันข้ามกับ Bitkubie คนที่ไม่แน่ใจว่าจะใช่เป็นพวกเราหรือไม่ ที่เป็นไปตาม “ทัศนคติ” และปรัชญาการมองคนของกลุ่มผู้ก่อตั้งที่เจตนาให้เป็นเช่นนี้ หรือ ไม่ต่างกับการเป็น “ลัทธิ” นั่นเอง
ตามความเชื่อของกลุ่มบิทคับมองว่า พนักงาน หรือ คนที่จะทำงานให้บิทคับต้องเชื่อในเรื่องเดียวกัน เป็นลัทธิเดียวกัน วิธีคิดแบบนี้เลียนแบบมาจากสตาร์ทอัปที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ ในความคิดของพวกเขา เห็นว่า บริษัทที่ยิ่งใหญ่ต้องมีลักษณะคล้ายลัทธิ
“คนที่บิทคับคือคนส่วนน้อยที่เชื่อมั่นในอะไรบางอย่างเหมือนกัน เชื่อว่า เทกแอ็กชันทุกวันจะเปลี่ยนแปลงสังคม เปลี่ยนแปลงโลกได้ ยกตัวอย่าง ความเชื่อในคริปโตฯ และ เทคโนโลยีบล็อกเชน เมื่อทำงานไปได้ระยะหนึ่งก็จะประเมินว่า ลัทธิตัวเองแข็งแกร่งแค่ไหนแล้ว จะมีคำที่ใช้เรียกของลัทธิตัวเอง เช่น Bitkuber หรือคนที่เป็น one of us และ Bitkubie คือ คนที่ไม่ชัวร์จะเป็น Bitkuber” ท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บิทคับ เคยกล่าวไว้
ในกลุ่มของผู้ก่อตั้ง ท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บิทคับ เป็นคีย์แมนที่ถูกผลักดันให้ออกหน้า หรือ “เจ้าลัทธิ” บิทคับ ด้วยวัยเพียง 30 ต้นๆ แต่มีอาณาจักรธุรกิจมูลค่ากว่า 3.3 หมื่นล้าน เชี่ยวชาญเรื่องโลกดิจิทัล คริปโตฯ จึงทำให้เขากลายเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มบิทคับ จึงมีภาพของเขาไปปรากฏกับเซเลบ คนดัง พร้อมกับคนทั่วไปตั้งแต่อยู่ในบ้านและออกนอกบ้านมองไปทางไหนจะมี โฆษณาของบิทคับ และภาพของท๊อป จิรายุส ตามไปทุกที่
แนวคิด “ลัทธิ” เดียวกันนี้ถูกนำไปใช้กับธุรกิจของ Bitkub ทำการตลาดอย่างบ้าคลั่ง ซึ่งทำให้ผู้เข้าร่วมต่างมีความเชื่อ มีความหวังว่า จะเป็นอนาคตใหม่ของธุรกิจ หลาย ๆ แห่งทุ่มเงินงบประมาณ หรือ เตรียมการปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยที่ตอนนั้นไม่มีปัญหาเรื่องของกฎเกณฑ์ ธปท.หรือ ก.ล.ต. ออกมากำหนด ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น เมื่อกฎเกณฑ์ทุกอย่างเปลี่ยนไป แผนการทำธุรกิจที่จะดำเนินไปย่อมมีปัญหาสะดุดหรือหยุดชะงักไป ซึ่งตอนนี้ เริ่มมีคำถามว่า ผลกระทบความเสียหายจะเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด
ยกตัวอย่างเช่น การชำระแลกเปลี่ยนสินค้าด้วยคริปโตฯ ไม่ได้ ห้ามโฆษณา ห้ามโอนสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้ จะทำอย่างไรกันสำหรับกลุ่มธุรกิจที่ดำเนินการไปแล้ว
บรรดากลุ่มทุนต่างๆ ที่ร่วมกับบิทคับย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า ผลกระทบกระเทือนต่อธุรกิจนี้เพราะ บิทคับ “เล่นใหญ่” เดินเกมอย่าง “บ้าคลั่ง” อีกทั้ง การทำให้ Kubcoin หรือ ศูนย์การซื้อขายคริปโตฯ ถูกมองเป็นตลาดที่เต็มไปด้วยการเก็งกำไร เป็น “ตลาดซิ่ง” ที่เกิดความสงสัยในความน่าเชื่อถือตามหลักธรรมาภิบาลไปแล้ว แทนที่การพัฒนาจะเป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งน่าเสียดายสำหรับประโยชน์จองสินทรัพย์ดิจิทัล เรียกว่า ทำตัวเอง ทั้งสิ้น
เรื่องนี้คงโทษว่า ธปท.กับ ก.ล.ต. เห็นจะไม่ได้ ในฐานะ Regulator ย่อมต้องมอง “ความเสี่ยง” ของธุรกิจ และ ประชาชนมาก่อน บิทคับต่างหากที่ต้องทบทวนและถามตัวเองว่า แนวทางที่บิทคับดำเนินธุรกิจนั้นเป็นอย่างไร?
การกระทำที่ผ่านมาเข้าข่ายขัดแย้งกับเกณฑ์ควบคุมและข้อห้ามของฝั่ง ก.ล.ต. และแบงก์ชาติ ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาจำนวนมากที่จะตามมาในอนาคต ทั้งต่อธุรกิจ และ คนที่เข้าร่วมขบวนรถไฟเกาะเทรนด์คริปโตฯ โดยที่ไร้ประสบการณ์ ความรู้ความเข้าใจ และ ความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างต่อระบบเศรษฐกิจได้ทุกเมื่อ หรือไม่อย่างไร?
กฎเกณฑ์ทั้งหลายย่อมสะท้อนภาพเบื้องหลังทำไม แบงก์ชาติ และ ก.ล.ต. จึงออกมาคุมเข้มกับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมาก หรืออีกนัยหนึ่ง ทั้งหมดทั้งมวลนี้เพราะ ลัทธิบิทคับ เป็นตัวป่วนวงการ ทำตัวเอง และกำลังทำให้ธุรกิจอื่นๆ เกิดปัญหาเดือดร้อนตามมาใช่หรือไม่?
ขณะที่ต่อให้บิทคับจะไม่กระทบในแง่ผลประกอบการ แต่รอยด่างที่ทำให้วงการธุรกิจคริปโตฯ ปั่นป่วน เพราะความอหังการคิดเพียงจะ “WIN” ในธุรกิจ จนทำให้ Regulator ต้องเทกแอ็กชันครั้งแล้วครั้งเล่านี้จะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาวงการการเงินอย่างไม่ต้องสงสัย
อ่านต่อ
- ตอนที่ 1 ดีล SCBX ฮุบ Bitkub เริ่มเสี่ยง… ได้ไม่คุ้มเสีย?
- ตอนที่ 2 KUBCOIN เจ้ามือรวย แมงเม่าม้วยมรณา
- ตอนที่ 3 Bitkub ยูนิคอร์น สายพันธุ์อันตราย?!