วิกฤต “ล็อกดาวน์” ในจีนกระทบ “ซัพพลายเชน” การผลิตทุกประเทศ เศรษฐกิจโลก 2022 ระส่ำ

สถานการณ์ล็อกดาวน์แบบเบ็ดเสร็จในเซี่ยงไฮ้เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2022 (Photo: Shutterstock)
สินค้าจำนวนมากติดอยู่ในประเทศจีน ถึงจะผลิตได้แต่ไม่สามารถขนส่งออกมาได้ จากปัญหาการ “ล็อกดาวน์” โดยวัตถุดิบจากจีนเป็น “ซัพพลายเชน” การผลิตของสารพัดประเทศ เมื่อรวมกับปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนและเงินเฟ้อ ปี 2022 นี้เศรษฐกิจโลกน่าจะเป็นไปในเชิงลบกว่าที่เคยประเมิน

สินค้าที่ติดอยู่ในจีนเพราะการ “ล็อกดาวน์” อาจจะกลายเป็น “ปัญหาใหญ่” ของเศรษฐกิจโลกในไม่ช้านี้

“สิ่งของหลายๆ อย่างที่เราใช้อยู่ทั่วโลก มีองค์ประกอบบางส่วนมาจากจีนทั้งนั้น และเรากำลังจะเห็นปัญหาโลจิสติกส์ติดขัดครั้งใหญ่ที่จะทำให้ปัญหาคล้ายกันที่เคยเกิดขึ้นในปี 2020-2021 ดูเล็กเป็นคนแคระไปเลย” ริชาร์ด มาร์ติน กรรมการผู้จัดการบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ IMA Asia กล่าวกับ CNBC

“จีนเป็นตลาดรับซื้อที่คิดเป็นสัดส่วน 20% ของโลก แต่บทบาทของจีนในซัพพลายเชนการผลิตนั้นใหญ่ยิ่งกว่านั้นอีก” มาร์ตินเสริม

จากปัญหาซัพพลายเชนสะดุด ผนวกรวมกับปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ทำให้มีข้อกังวลเพิ่มขึ้นอีกมาก

“การคาดการณ์ที่คุณเคยมีเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกนั้นกำลังอับแสงลง ยุโรปเผชิญสงครามที่มาจ่อหน้าประตูบ้าน สหรัฐฯ เผชิญกับอัตราดอกเบี้ยสูงซึ่งจะกระทบทั้งผู้บริโภคในสหรัฐฯ และในจีน สิ่งเหล่านี้กำลังทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง” มาร์ตินกล่าว

 

เศรษฐกิจ “จีน” อ่อนแอมากหลังล็อกดาวน์

ในหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา จีนพยายามจะต่อสู้กับการระบาดครั้งใหญ่ที่สุดบนจีนแผ่นดินใหญ่ นับตั้งแต่การระบาดครั้งแรกเมื่อปี 2020

“จีนกำลังอ่อนแอมาก ณ ขณะนี้” ร็อบ ซับบารามาน หัวหน้าทีมนักเศรษฐศาสตร์และหัวหน้าทีมวิจัยตลาดเอเชียไม่รวมญี่ปุ่น จาก Nomura กล่าว

จากการสำรวจของ Nomura ต่อการต่ออายุล็อกดาวน์ไปทั่วประเทศจีน เขากล่าวว่า “หากเราเจาะลึกไปที่จังหวัดที่มีการล็อกดาวน์เต็มตัวหรือบางส่วน จังหวัดเหล่านี้คิดเป็นสัดส่วนถึง 40% ของจีดีพีประเทศจีน”

Photo : Shutterstock

ขณะนี้ “เซี่ยงไฮ้” ถือเป็นเมืองที่การระบาดและการล็อกดาวน์หนักที่สุด เพราะหน่วยราชการท้องถิ่นออกนโยบายให้อยู่กับบ้านอย่างเข้มงวด ห้ามการเดินทางไปไหนมาไหน รองลงมาที่น่าเป็นห่วงคือ “จี้หลิน” จังหวัดทางตอนเหนือที่เป็นแหล่งโรงงานรถยนต์จำนวนมาก แต่การระบาดในเมืองนี้ดูจะเริ่มลดระดับความรุนแรงลงแล้ว

นอกจากสองเมืองนี้แล้ว เมืองทางใต้อย่างกวางโจวที่เป็นแหล่งโรงงานเช่นกันก็ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และนโยบาย Zero-Covid ที่ทำให้หน่วยราชการท้องถิ่นรีบปิดเมืองทั้งหมด เพราะกลัวว่าการปล่อยให้ระบาดหนักไปกว่านี้ จะถูกรัฐบาลกลางลงโทษ

ซับบารามานกล่าวว่า การดิสรัปต์ของซัพพลายเชนกำลังเพิ่มระดับความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว จีนกำลังอ่อนแออย่างมาก และต้องการแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ

ตั้งแต่เริ่มการระบาด จีนสร้างนโยบาย Zero-Covid ขึ้นมาเป็นบรรทัดฐานและยังใช้อยู่จนปัจจุบัน สวนทางกับเพื่อนๆ ประเทศอื่นในโลกเริ่มเปลี่ยนนโยบายไป ‘ใช้ชีวิตอยู่กับ COVID-19’ แล้วและเริ่มเปิดการเดินทางระหว่างประเทศ

“คุณจะไม่ได้เห็นประธานาธิบดีสีจิ้นผิงลดการใช้นโยบาย Zero-Covid เพรานโยบายนี้เป็นเหมือนเครื่องแสดงมาตรฐานขั้นสูงของการบริหารประเทศไปแล้ว” มาร์ตินกล่าว

ขณะที่จีนคาดว่าจะสามารถต่อสู้กับไวรัสโอมิครอนที่ระบาดได้เร็ว การต่อสู้ครั้งนี้น่าจะแลกมาด้วยราคาของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจจีนและทั่วโลก

Source