ธนาคารกลางนิวซีเเลนด์ ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ในรอบ 22 ปี ส่งสัญญาณว่าผู้กำหนดนโยบายทั่วโลกกำลังเพิ่มความพยายามที่จะควบคุมอัตราเงินเฟ้อ
ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่ม 0.50% สู่ระดับ 1.50% สูงสุดในรอบ 22 ปี นับตั้งแต่ปี 2000 โดยเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 4 ติดต่อกัน เพื่อลดผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก
RBNZ ระบุในเเถลงการณ์ว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ จะทำให้เกิดความยืดหยุ่นด้านนโยบายเพิ่มขึ้นในอนาคต ท่ามกลางภาวะแวดล้อมของเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอนสูง
อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกกำลังเร่งตัวขึ้น ท่ามกลางการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานและผลกระทบของการรุกรานยูเครนของรัสเซียที่มีต่อราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ โดยในนิวซีแลนด์และแคนาดาได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดในรอบ 3 ทศวรรษ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ อยู่ที่ 8.5% สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1981
การรุกรานยูเครนของรัสเซียทำให้อัตราเงินเฟ้อแย่ลง ขณะเดียวกันก็กระทบต่อความเชื่อมั่นและทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจชะลอลง หลังเพิ่งฟื้นตัวจากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19
นิวซีแลนด์ เป็นหนึ่งในประเทศที่มีนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดที่สุด โดยมีการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางแคนาดา เตรียมจะประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 0.5% สู่ระดับ 1% ในเร็วๆ นี้
ขณะเดียวกัน หลายฝ่ายต่างจับตาการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่จะมีขึ้นในช่วงต้นเดือนพ.ค.ที่จะถึงนี้ หลังเริ่มมีสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกรอบ เเละอาจจะปรับขึ้น 0.5% หากสถานการณ์มีความจำเป็น
Jarrod Kerr หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Kiwibank มองว่า เฟดก็กำลังจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% เช่นกัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของปัญหาอัตราเงินเฟ้อ
- อังกฤษ ‘ลดภาษีน้ำมัน’ สู้วิกฤต ‘ค่าครองชีพ’ หลังเงินเฟ้อพุ่งสูงสุดในรอบ 30 ปี
- ‘IMF’ คาด ‘เงินเฟ้อ’ จะชะลอตัวในปีหน้าเหลือ 4.7% สำหรับประเทศกำลังพัฒนา