โก! ว้าว (Go! Wow) น้องใหม่ในตลาด “สินค้าเบ็ดเตล็ด” แต่มีแบ็กอัปคือกลุ่มทุนใหญ่อย่างเซ็นทรัล หลังเปิดตัวปีก่อนกระจาย 15 สาขาแรก ปี 2565 จะเปิดให้ครบ 70 สาขา และเริ่มสาขา “สแตนด์อโลน” อยู่นอกห้างฯ เพื่อทดลองโมเดลใหม่ หาสูตรที่ใช่ในธุรกิจ
ยังเป็นแบรนด์เล็กๆ ในเครือใหญ่ แต่โอกาสของ “โก! ว้าว” (Go! Wow) ก็น่าจับตามอง “สุทธิสาร จิราธิวัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีอาร์ซี ไทวัสดุ จำกัด วางตัวร้านสินค้าเบ็ดเตล็ดนี้เป็นหนึ่งในกลยุทธ์เพื่อหาตลาดใหม่ของเครือ แม้วันนี้โก! ว้าวยังมีสัดส่วนรายได้เป็นเลขหลักเดียวในธุรกิจมูลค่ามากกว่า 30,000 ล้านของซีอาร์ซี ไทวัสดุ แต่วันข้างหน้าอาจขยายได้อีก
สุทธิสารตอบสั้นๆ กับ Positioning ถึงโอกาสของโก! ว้าวว่า สามารถเปิดได้ถึง 1,000 สาขาทั่วประเทศ เพราะโมเดลธุรกิจใกล้เคียงกับ “ร้านทุกอย่าง 20 บาท” ซึ่งมีเปิดอยู่ทุกหัวระแหงในไทย
หลังเปิดตัวเมื่อปีก่อน โก! ว้าวประเดิมด้วย 15 สาขาแรก ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในศูนย์การค้าเครือเซ็นทรัล หรือบีเอ็นบี โฮมที่เป็นร้านสินค้าตกแต่งบ้านในเครือซีอาร์ซี ไทวัสดุ ซึ่งสุทธิสารระบุว่า ไม่ได้ตั้งใจจะเกาะอยู่กับศูนย์การค้าเท่านั้น แต่เป็นการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีในเครือเพื่อเริ่มต้นธุรกิจ
ทำให้ปี 2565 โก! ว้าวตั้งเป้าขยายเพิ่มเป็น 70 สาขาภายในสิ้นปี และจะมีการตั้งสาขา “สแตนด์อโลน” อยู่นอกศูนย์การค้ามากขึ้น เพื่อทดลองโมเดลทำเลแบบอื่นว่าจะ ‘เวิร์ก’ หรือไม่
คอนเซปต์ของโก! ว้าวที่สุทธิสารมองว่าจะเป็นกุญแจตีตลาดคือ “ร้านใหญ่กว่า” โดยขนาดร้านจะอยู่ที่ 400-800 ตร.ม. เทียบกับเจ้าอื่นจะอยู่ที่ 200-300 ตร.ม. ทำให้วางสินค้าได้หลากหลาย มีให้เลือกมากกว่า ในร้านมีของจิปาถะสารพัดตั้งแต่ของใช้ในบ้าน เครื่องครัว ของใช้สำนักงาน ของใช้ในการเดินทาง ของเล่น ฯลฯ รวมทั้งหมดกว่า 14,000 SKUs
อีกส่วนคือการเทียบราคา ลูกค้าต้องรู้สึกว่าได้ของราคาถูก ทำให้โก! ว้าวตั้งราคาเริ่มต้นที่ 5 บาท จนถึงของราคาหลักร้อยบาท
“70 สาขานี่ยังเล็กมากในตลาด จริงๆ ร้านแบบนี้ไปได้ทั่วหมด ไปในแหล่งชุมชน ให้เขาสะดวกซื้อ ปีนี้เราจะทดลองโมเดลหลายๆ แบบ” สุทธิสารกล่าว
หากพูดถึงตลาดสินค้าเบ็ดเตล็ดเจ้าใหญ่ และชนกับโก! ว้าวโดยตรงคือ “MR.DIY” (มิสเตอร์ดีไอวาย) ซึ่งเป็นเชนจากมาเลเซีย หลังเข้าไทยมา 6 ปี ปัจจุบันขยายไป 450 สาขา มีทั้งบนศูนย์การค้าและในตลาดหรือแหล่งชุมชน
ที่บอกว่าตลาดจะแข่งขันกันโดยตรงเพราะเน้นการขายสินค้าราคาถูกเช่นกัน ราคาเริ่มต้นต่ำตามสโลแกน ‘Always Low Price’ และสินค้ามีความคล้ายกัน มีเครื่องมือช่าง ของใช้ในบ้าน เครื่องครัว
อีกเจ้าหนึ่งที่อยู่มานานในไทยคือ “Daiso” (ไดโซ) จากญี่ปุ่น ปัจจุบันมี 107 สาขา แต่จะมีความต่างด้วยราคาสินค้าที่พรีเมียมกว่า ราคาเริ่มต้นที่ 60 บาท และสินค้ามีกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่นสูง มีสินค้าบางกลุ่มที่แตกต่าง เช่น เครื่องสำอาง รวมถึงทำเลก็จะเลือกอยู่บนศูนย์การค้าหรือคอมมูนิตี้ มอลล์
ส่วนธุรกิจท้องถิ่นของไทยก็มีอีกหลายเจ้าที่เปิดขายแฟรนไชส์ร้านทุกอย่าง 20 บาท หรือที่เปิดแบบไม่มีแบรนด์ก็อีกมาก ทำให้เห็นโอกาสชัดเจนว่าทำไมตลาดสินค้าเบ็ดเตล็ดกลายเป็นมหาสมุทรที่เจ้าใหญ่หมายตา