ปัจจุบันการ ‘ลงทุนในสินทรัพย์’ นั้นง่ายเเละรวดเร็วกว่าสมัยก่อนมาก ด้วยเทคโนโลยีที่เข้าถึงผู้คน ค่าธรรมเนียมที่ถูกลง สามารถเริ่มลงทุนได้ตั้งเเต่เงินก้อนน้อยๆ พร้อมโอกาสในการเเสวงหาตลาดใหม่ๆ ในต่างประเทศ
เเม้ความต้องการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศของคนไทย จะเพิ่มขึ้นอย่างมากตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เเต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ไม่น้อย เเละการมาของ ‘WealthTech’ เหมือนจะเป็น ‘ตัวช่วย’ เเละ ‘ทางเลือก’ ให้ก้าวผ่านกำเเพง
อุปสรรคการลงทุนเเบบเดิมๆ ที่มีมาในอดีตได้
วันนี้เราจะมาพูดคุยกันถึงภาพรวมของอุตสาหกรรม WealthTech กับ “ทิม – ยศกร นิรันดร์วิชย” CFA กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน สแทชอเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ StashAway แพลตฟอร์มบริหารการลงทุนเจ้าใหญ่ในเอเชีย พร้อมเป้าหมายที่หวังจะเเก้ Pain Point เปิดประตูให้คนทั่วไปเข้
WealthTech เปลี่ยนเกมการลงทุน
ยศกร เริ่มต้นด้วยการอธิบายถึงความสำคัญของ WealthTech ต่อผู้คนทั่วโลกให้ฟังว่า เป็นเทคโนโลยีการลงทุนบริหารความมั่งคั่งที่จะมาดิสรัปวงการผู้จัดการกองทุน โดยมีหน้าที่เเละบทบาทหลักๆ 4 ประการ คือ
- ทำให้การลงทุนเป็นเรื่องง่าย
สมัยก่อนผู้คนอาจมองว่าการลงทุนเป็นเรื่องไกลตัว รวมถึงการเข้าถึงที่ปรึกษาทางการเงินที่ต้องมีค่าใช้จ่าย เเต่ทุกวันนี้ ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเข้าถึงคำเเนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเเละข้อมูลข่าวสารที่เปิดกว้าง ค่าธรรมเนียมที่ถูกลง ทำให้เราเข้าถึงการลงทุนได้จากแอปพลิเคชันมือถือ
- มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในยุคที่มีข้อมูลอยู่มหาศาล เทคโนโลยีจะเป็นตัวช่วยทำให้เราสามารถวิเคราะห์การลงทุนได้กว้างเเละลึกมากขึ้น นอกจากนี้ ยังสามารถตัดสินใจลงทุนบนพื้นฐานของข้อมูลได้ เพราะศัตรูที่เลวร้ายที่สุดของการลงทุนคือ ‘อารมณ์’ ซึ่งก็มีคนจำนวนไม่น้อย ที่ตัดสินใจลงทุนจากอารมณ์มากกว่าการยึดถือด้านข้อมูลเป็นหลัก
- ค่าธรรมเนียมที่ถูกลง
เเพลตฟอร์ม Wealth Tech ทั่วโลกนั้นจะมีอัตรา ‘ต่ำกว่า’ ผู้เล่นดั้งเดิม ซึ่งบางเจ้าถูกลงกว่า 10 เท่า โดยค่าธรรมเนียมนั้นมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในระยะยาวที่จะมีผลโดยตรงต่อค่าตอบเเทน
- เข้าถึงได้มากขึ้น
เทคโนโลยีทำให้ผู้คนเริ่มลงทุนได้โดยไม่ต้องมีขั้นต่ำ เเละใช้จำนวนเงินที่ไม่สูงมากจึงเข้าถึงคนหมู่มากได้ในเวลาที่รวดเร็ว
โดยกระเเสของ ‘WealthTech’ เริ่มต้นมาจากโซนสหรัฐอเมริกาเเละเเคนาดา ก่อนที่จะเข้ามายังเอเชีย ซึ่งในช่วงเเรกผู้เล่นส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มสตาร์ทอัพหรือบริษัทเทคฯ เเต่ปัจจุบันเริ่มเห็นผู้เล่นรายใหญ่อย่างกลุ่มธนาคารพาณิชย์ระดับโลก ขยับมาเข้าซื้อกิจการบริษัท WealthTech มากขึ้น
อีกเทรนด์ที่มาเเรงก็คือ ‘คริปโตเคอร์เรนซี’ หรือสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งบริษัท WealthTech ทั้งหลายต่างให้ความสนใจมากขึ้น เเละมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนต่างๆ เกี่ยวกับคริปโตฯ อย่างเช่น StashAway ที่สิงคโปร์ก็มี Crypto Offering มากขึ้น
“ในประเทศไทย เราก็หวังว่าจะเอาเข้ามาได้ในเร็วๆ นี้ เเต่ก็ต้องผ่านขั้นตอนกระบวนการขออนุญาตต่างๆ ก่อน”
เงินทุนไหลเข้า เติบโตอย่าง ‘ก้าวกระโดด’
ภาพรวมอุตสาหกรรม WealthTech มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เเละมีการประเมินว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเติบโตได้ถึง 15-35%
บางสำนักข่าวระบุว่า WealthTech ทั่วโลกมีการบริหารเงินทั้งหมดอยู่ราว 2.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ตัวเลขจากทาง CNBC ระบุว่า เเค่เฉพาะในสหรัฐอเมริกา WealthTech ก็มีการบริหารเงินรวมกว่า 1.1 ล้านล้าน
เหรียญเเล้ว (คิดเป็นกว่า 2 เท่าของจีดีพีไทยทั้งประเทศ)
ส่วนในเเง่ของการระดมทุนนั้น เมื่อย้อนไปช่วงทศวรรษก่อนต้องยอมรับว่า ‘ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก’ เพราะนักลงทุนยังไม่ค่อยเข้าใจใน Business Model เเต่ตอนนี้กลับได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก
โดยในปี 2019 อุตสาหกรรม Wealth Tech มียอดการระดมทุนที่ราว 3.5 พันล้านเหรียญ ต่อมาในปี 2021 มีการเติบโตเเบบก้าวกระโดด ด้วยยอดการระดมทุนกว่า 1.6 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากอานิสงส์ด้านบวกในวิกฤตโควิด
“ในช่วงเเรก StashAway ระดมทุนได้ยาก เเต่ช่วงหลังๆ มานี้ เรากลายเป็นฝ่ายที่เป็นผู้เลือกนักลงทุน สะท้อนให้เห็นเกมธุรกิจที่เปลี่ยนไป”
ด้านการเเข่งขันนั้น มีผู้เล่นรายใหม่กระโจนเข้ามาในวงการนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดย StashAway จะมีคู่เเข่งหลักเฉลี่ยประมาณ 2-5 บริษัทในเเต่ละประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ตลาดใหญ่อย่างสิงคโปร์ ก็จะมีผู้เล่นหลัก 3-4 บริษัท ส่วนในไทยมีประมาณ 4-5 บริษัท
“ในทุกวิกฤตใหญ่ของโลก จะเป็นช่วงที่คนเราสนใจเเละพิจารณาวางเเผนการเงินมากที่สุด จากผลกระทบทางรายได้เเละความรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิต จึงต้องคิดหาทางว่าจะบริหารการเงินอย่างไรเพื่อให้รอดพ้นวิกฤต เเละรองรับเหตุที่ไม่คาดฝันอื่นๆ ที่จะอาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตด้วย”
StashAway ปักธงเเก้ Pain-Point การลงทุน
สำหรับ StashAway เป็นเเพลตฟอร์มบริหารการลงทุนรายเเรกๆ ในภูมิภาคอาเซียน ที่เกิดขึ้นจาก Pain-Point ของผู้ก่อตั้งอย่าง Michele Ferrario ที่ต้องการมองหาโซลูชันการลงทุนที่เหมาะกับตัวเอง อีกทั้งยังต้องเจอ ‘ค่าธรรมเนียม’ ที่ค่อนข้างสูงเเละตัวเลือกน้อย
เขาจึงมีเเรงบันดาลใจที่จะสร้างเเพลตฟอร์มเพื่อเเก้ไขปัญหาเหล่านี้ขึ้นมา โดยร่วมมือผู้ร่วมก่อตั้งอีก 2 คน คือ Freddy Lim และ Nino Ulsamer ที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเเละมีประสบการณ์ด้านการบริหารสินทรัพย์ระดับโลก ต่อยอดขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้
StashAway เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มบริหารการลงทุนในรูปแบบแอปพลิเคชัน ที่เปิดให้นักลงทุนเข้าถึงสินทรัพย์ทั่วโลกได้ผ่านการลงทุนใน ETF โดยมีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) มากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ภายในระยะเพียง 4 ปี ซึ่งเร็วกว่าที่แพลตฟอร์มบริหารการลงทุนรายใหญ่ของโลกอย่าง Betterment และ Wealthfront
เปิดให้บริการแล้วใน 5 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง ไทย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เเละมีพนักงานราว 200 คน ผ่านการระดมทุนมาแล้ว 6 รอบ (Series D) โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุน Venture Capital ระดับโลกอย่าง Sequoia Capital India, Eight Roads Ventures และ Square Peg เเละมีทุนชำระแล้ว (Paid-Up Capital) รวม 61.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (ปี 2021)
“อุตสาหกรรม Wealth Tech นั้นเป็นตลาดที่ใหญ่มากๆ เเค่ใน 5 ประเทศที่เราอยู่ก็มี financial wealth มูลค่ามากกว่า 5.5 ล้านล้านเหรียญเเล้ว จึงมีโอกาสที่จะเติบโตได้อีกเยอะมาก เเละนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น โดย StashAway ตั้งเป้าจะเป็นเเพลตฟอร์มอันดับหนึ่งในเอเชียให้ได้”
วางกลยุทธ์สู่ Top of Mind ของคนไทย
StashAway จะเน้นชูจุดเด่นด้าน ‘กลยุทธ์การลงทุน’ ที่พัฒนาโดยผู้เชี่ยวชาญระดับโลก การปรับพอร์ตให้เข้ากับสถานการณ์เศรษฐกิจอยู่เสมอ วิเคราะห์สัญญาณของตลาดด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมลงทุนด้วยความเสี่ยงที่เหมาะสม มีความหลากหลาย เเละค่าธรรมเนียมต่ำ
การที่คนไทยมีสัดส่วนการถือครองเงินสดถึง 47% ขณะที่ในสหรัฐฯ ประชาชนจะถือเงินสดเพียง 14% ก็เป็นอีกอุปสรรคหนึ่งในการเข้
“ตลาดไทยค่อนข้างใหญ่ มูลค่าเฉพาะกองทุนรวมมีถึง 5 ล้านล้านบาท เเละยังมีคนถือเงินสดอยู่อีกกว่า 47% นับเป็นโอกาสของธุรกิจ WealthTech ดังนั้นการเเข่งขันที่ดุเดือดจึงเป็นเหมือนการร่วมกันสร้างตลาดให้ใหญ่ขึ้น มีจุดเด่นที่เเตกต่างกันไป เป็นการเพิ่มทางเลือกให้นักลงทุนมากขึ้น”
โดยมีเเนวโน้มที่คนไทยจะหันไปลงทุนหุ้นต่างประเทศมากขึ้น เพราะหากเอาสินทรัพย์มาถือไว้ที่ตลาดไทยจะเป็นความเสี่ยงอย่างมาก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังซบเซา เนื่องจากพึ่งพาภาคท่องเที่ยวเป็นหลักจึงฟื้นตัวยาก อีกทั้งยังไม่มีหุ้นบิ๊กเทคคอมพานีระดับโลก
หลัง StashAway เปิดให้บริการในไทยอย่างเป็นทางการมาตั้งเเต่ช่วงเดือนก.ย. 2021 ผลตอบรับดีกว่าที่คาด โดยจากนี้ จะมุ่งกลยุทธ์การตลาดไปที่การสร้างความน่าเชื่อถือ สร้างความเชื่อมั่น ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลา เพราะการลงทุนเป็นสิ่งที่ต้องคิดให้รอบคอบ พร้อมให้ความสำคัญกับ ‘ทีมดูเเลลูกค้า’ ที่จะคอยซัพพอร์ตอยู่เสมอ ทำการตลาดเพื่อเพิ่มการรับรู้ผ่านทางออนไลน์เเละออฟไลน์ไปพร้อมๆ กัน
“เราให้ความสำคัญกับทีมเเละการพัฒนาคนมากๆ เลือกคนที่ถูกเเละใช่ ขั้นต่ำต้องสัมภาษณ์กัน 4 รอบ เราไม่ได้เน้นหาคนที่มีประสบการณ์ตรง เเต่เน้นหาคนเก่ง เชื่อใน mission ของบริษัทเเละมีไฟในการทำงาน พร้อมมี Growth Mindset ที่จะเติบโต ให้ความยืดหยุ่นอย่างการให้ทำงานจากที่ไหนก็ได้ เเละลากี่วันก็ได้ในหนึ่งปี เน้นไปที่ความรับผิดชอบในงานเป็นหลัก”
เป้าหมายของ StashAway ในตลาดไทย คือการได้เข้าไปอยู่ใน top of mind ของคนไทย เป็นเพื่อนคู่คิดช่วยให้คนไทยลงทุนต่างประเทศได้ง่ายขึ้น พร้อมมีการวางเเผนการเงินที่ดีเพียงพอต่อการเกษียณ
โดยผู้บริหาร StashAway มีคำเเนะนำถึงนักลงทุนหน้าใหม่ที่จะเข้ามาลงทุนว่า
“เราต้องตระหนักว่าการลงทุนเป็นสิ่งที่ต้องทำ ให้เงินของเราทำงานไปพร้อมๆ กับที่เราทำงาน โดยควรจะเน้นไปที่การลงทุนระยะยาว ด้วยพลังของผลตอบเเทนทบต้นซึ่งจะต้องใช้เวลา พร้อมกระจายการลงทุน อย่าเก็บไว้ในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งมากเกินไป เลือกระดับความเสี่ยงที่เหมาะสม อย่าหลอกตัวเอง ซิ่งหนักก็อาจจะเจ็บได้ เเละต้องรักษาวินัยในการลงทุนอยู่เสมอ”
- จับตา ยุค ‘ตื่นทอง’ ของสตาร์ทอัพอาเซียน เงินระดมทุนเพิ่มขึ้นเท่าตัว ปั้นยูนิคอร์นรุ่นใหม่
- ส่องกระเเสลงทุน ‘ฟินเทค’ เมกะเทรนด์ใกล้ตัว เปลี่ยนการใช้ชีวิตของคนยุคใหม่
- 3 เคล็ดลับสร้างผลตอบแทน ฝ่าวิกฤตการลงทุน สไตล์ Ray Dalio