สนามการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปี 2554 มีปรากฎการณ์ของ “โซเชี่ยลมีเดีย” อย่างเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ที่พรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคกำลังแข่งกันอย่างหนัก แย่งเซ็กเมนต์เดียวกัน จนทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีสีสันชวนติดตามว่ากระบวนการสร้าง Like ดึง Follower ในปลายทางจะได้ Vote หรือไม่ นาทีนี้ “พรรคการเมืองหรือนักการเมือง” ก็ไม่ต่างอะไรจากสินค้าที่หวังว่ากลุ่มเป้าหมาย จะซื้อ ใช้แล้วชอบ พร้อมบอกต่อ และยอดขายที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องคือฐานคะแนนเสียงที่แข็งแรงเพื่อนำไปสู่การเป็นพรรครัฐบาลหรือผู้นำประเทศในอนาคต
ขอ Like จาก “First Voter”
ทำไมต้องทุ่มเวลาและการคิดยุทธศาสตร์เพื่อใช้โซเชี่ยลมีเดียมาช่วยหาเสียง? คำตอบคือนี่คือการเข้าถึงเซ็กเมนต์ที่ใช่ และเป็นฐานคะแนนเสียงในอนาคต คือผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก (First Voter) พรรคการเมืองและนักการเมืองก็ไม่ต่างกับสินค้า ที่อยากได้ลูกค้าที่ยังไม่เคยใช้สินค้าแบรนด์ใดมาก่อน เพราะความภักดีต่อแบรนด์จะเกิดขึ้นได้ง่ายหากลูกค้ามีประสบการณ์กับแบรนด์ตัวเองก่อนแบรนด์คู่แข่ง
นี่คือสิ่งที่ทุกพรรคการเมืองคิด แต่ที่ทุ่มเต็มที่ในสนามโซเชี่ยลมีเดียในการเลือกตั้งรอบนี้มีแค่ 2 พรรคเท่านั้นคือ เพื่อไทยและประชาธิปัตย์ เพราะทั้งสองพรรคชัดเจนว่ามีฐานคะแนนเสียงที่เข้าถึงโลกโซเชี่ยลมีเดีย โดยเฉพาะประชาธิปัตย์ที่ได้คะแนนสูงในกรุงเทพ ฯ และภาคใต้ในการเลือกตั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา ส่วนเพื่อไทยแม้จะมีฐานเสียงตามชนบท แต่กลุ่มธุรกิจตั้งแต่เล็กถึงใหญ่ก็ให้ความชื่นชอบไม่น้อย แม้จะมีพรรคเล็กปนบ้างอย่าง ”ภูมิใจไทย” แต่ก็เล่นคำว่า Like กับป้ายหาเสียงริมถนนมากกว่าเอาจริงในเฟซบุ๊ก
การพยายามได้ First Voter ในโลกออฟไลน์ ”ประชาธิปัตย์” ทำมานานแล้วกับโครงการยุวประชาธิปัตย์ และโครงการก้าวแรกสู่การเมือง กับอินเทิร์นชิพ ประชาธิปัตย์ แต่เมื่อพฤติกรรมการใช้สื่อของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไป เข้าไปอยู่ในโลกออนไลน์มากขึ้น ทำให้ ”ประชาธิปัตย์” เร่งเต็มที่โดยเฉพาะโซเชี่ยลมีเดีย เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่าคนกลุ่มนี้จำนวนมากหันหลังให้กับการเมืองมานาน และที่สำคัญ ”อภิรักษ์ โกษะโยธิน” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และหัวหน้าทีมโซเชี่ยลมีเดียของพรรค บอกว่ากลุ่มนี้ไม่ชอบนักการเมือง เพราะภาพลักษณ์นักการเมืองไม่ดี และความจริงบางคนก็ไม่ดีอย่างที่ถูกมอง
พฤติกรรมคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ไม่รับสื่อทีวี เมื่อมีข่าวการเมือง เกี่ยวกับนักการเมืองก็จะไม่สนใจ ดังนั้นหน้าที่ของพรรคการเมืองคือการเข้าถึงในสื่อที่เขาใช้ เพื่อให้สามารถสื่อสารนโยบายและความตั้งใจของพรรคให้ได้
โอกาสของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งคือจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในปี 2554 ทั่วประเทศ 47.3 ล้านคน คะแนนเสียงจากโซเชี่ยลมีเดียมาจากคนใช้อินเทอร์เน็ตปัจจุบันประมาณ 18.1 ล้านคน จำนวนนี้ใช้เฟซบุ๊กประมาณ 10 ล้านคน และใช้ทวิตเตอร์เกือบ 1 ล้านคน นี่คือตัวเลขของประชาคมในโลกโซเชี่ยลมีเดียที่พรรคการเมืองไม่อาจมองผ่าน
กลุ่ม First Voter ที่เป็นวัยรุ่นมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งครั้งแรกหรืออายุ 18 ปีมีประมาณ 10 ล้านคนทั่วประเทศ กลุ่มอายุ 18-24 ปี อยู่ในเฟซบุ๊กถึงกว่า 3 ล้านคน หากรวมกลุ่มที่อายุถึง 35 ปีก็มีอยู่กว่า 6 ล้านคน หรือแม้แต่กลุ่มที่อายุน้อยกว่า 18 ปี ก็มีจำนวนมาก นี่คืออนาคตที่ประชาธิปัตย์พยายามเข้าถึงมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ขณะที่เพื่อไทยปัญหาของ ”สีแดง” ทำให้เพิ่งมารุกโซเชี่ยลมีเดียในช่วงเลือกตั้ง (ยกเว้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ใช้ทวิตเตอร์เป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมืองมาโดยตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา) แม้เพื่อไทยเริ่มช้าและมีฐานแฟน Like น้อยกว่า แต่การต่อสู้ก็เข้มข้น ชนิดแคมเปญต่อแคมเปญกันอย่างไม่มีใครยอมใคร จนดูเหมือนว่าการเลือกตั้งครั้งนี้กำลังเปิดศึกกันอีกหนึ่งสนามกันเลยทีเดียว
สตาร์ทด้วย Celebrity Marketing
เครื่องมือโซเชี่ยลมีเดียที่ใช้กันมากในเวลานี้คือทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก ที่ใช้สื่อสารนโยบายของพรรค ลิงค์เข้าเว็บเพจของพรรค ดูคลิปวิดีโอ ถ่ายทอดสด และรับฟังความเห็น แต่กว่าจะได้ฐานแฟนเพจและคนตามจำนวนมากนั้น มีบทสรุปที่ชัดเจนคือทั้งพรรคประชาธิปัตย์ และเพื่อไทย ต่างเริ่มต้นด้วยกลยุทธ์ Celebrity Marketing โดยเฉพาะประชาธิปัตย์เป็นโมเดลอย่างดีให้เพื่อไทย กำลังเดินตาม
ดาวเด่นของพรรคประชาธิปัตย์ คือ ”อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” “กรณ์ จาติกวณิช” และ ”อภิรักษ์ โกษะโยธิน” ที่มีไลฟ์สไตล์ส่วนตัวในการใช้โซเชี่ยลมีเดียมาตั้งแต่กระแสเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ดัง ทำให้ชาวทวีตภพ และโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คเป็นเพื่อนกับนักการเมืองทั้ง 3 จำนวนมากรวมแล้วเกือบ 1 ล้านคลิก (แน่นอนว่าบางคนเป็นแฟนของทั้ง 3 คนด้วย)
แต่พฤติกรรมของคนทั่วไปมักยึดติดที่ตัวบุคคลมากกว่า จึงทำให้แฟนเพจของพรรคยังน้อยกว่าดาวเด่นแต่ละคนอย่างมาก เช่น เฟซบุ๊กเพจของ ”กรณ์” มีแฟนอยู่ถึง 1.7 แสนคน “อภิรักษ์” มี 1.1 แสนคน “อภิสิทธิ์” ไม่ต้องพูดถึงทะลุไปกว่า 6 แสนคน ขณะที่เพจของพรรคมีอยู่แค่ 2.3 หมื่นคนเท่านั้น
สำหรับเพื่อไทยในช่วงแรกใช้ยุทธ์ศาสตร์ที่ ”คณวัฒน์ วศินสังวร” รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และหัวหน้าทีมสื่อออนไลน์ บอกว่าเน้น Corporate Marketing มากกว่าเน้นตัวบุคคล ตามกระแสของโพลที่พรรคเริ่มมีคะแนนนิยมกระเตื้องขึ้น เพราะต้องการขายนโยบายพรรคมากกว่าตัวบุคคล
แต่เมื่อพรรคประกาศชื่อของ ”ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นหัวหน้าพรรคและปาร์ตี้ลิสต์อันดับ 1 โฟกัสจึงมาหยุดลงที่น้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณคนนี้ แต่สิ่งที่พยายามคุม Theme กันคือการเน้นสื่อสารและเชื่อมต่อมายังพรรคให้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าคนในโซเชี่ยลมีเดียให้ความสนใจ ”ปู ยิ่งลักษณ์” มากกว่าพรรค เพราะในช่วงแรก ”ปู ยิ่งลักษณ์” ทั้งในทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กมีจำนวนแฟนน้อยกว่าพรรค แต่เพียง 1 สัปดาห์เมื่อยิ่งลักษณ์ประกาศตัวลงปาร์ตี้ลิสต์อันดับ 1 ยอดก็สลับกันอย่างเห็นได้ชัด
จำนวนทั้งหมด | 10,601,660 คน |
หญิงมากกว่าชาย | |
ชาย 47.4% | (4,481,620 คน) |
หญิง 52.6% | (4,978,600 คน) |
วัยรุ่นมากที่สุด | |
อายุ 13 ปีและน้อยกว่า | 2.0% |
อายุ 14-17 ปี | 17.2% |
อายุ 18-24 ปี | 34.3% |
อายุ 25-34 ปี | 30.3% |
อายุ 35-44 ปี | 10.3% |
อายุ 45-54 ปี | 3.7% |
อายุ 55-64 ปี | 1.1% |
อายุ 65 ปีและมากกว่า | 1.1% |
ที่มา : CheckFacebook.com |
โพสต์ แชร์ ยิ่งสนิท ยิ่งอยากเลือก
เมื่อได้แฟนมาเต็มเพจแล้ว สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ และเพื่อไทยเร่งทำในขณะนี้ไม่ต่างจากกิจกรรมที่แบรนด์สินค้าต่างๆ มีสูตรปฏิบัติในมือ คือการสร้างสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อเกิดความรู้สึกดีกับแบรนด์มากยิ่งขึ้น
“ปรเมศวร์ มินศิริ” ผู้บริหารเว็บไซต์กระปุกดอทคอม บอกว่าพรรคที่ใช้โซเชี่ยลมีเดียได้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะการเปิดรับฟังความคิดเห็น รับข้อเสนอไปพิจารณามีโอกาสเป็นที่ถูกใจ เพราะคนในโซเชี่ยลมีเดียรู้สึกว่ามีช่องทางที่พวกเขาสามารถติดต่อสื่อสารกับนักการเมืองเหล่านั้นได้
การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยการ Follow กลับของนักการเมืองไปยัง Influencer ในกลุ่มต่างๆ จึงปรากฏให้เห็นบ่อยครั้ง การพยายามตอบกลับของนักการเมืองที่ใช้โซเชี่ยลมีเดียเองจริง ไม่ใช่ทีมงานเท่านั้น จึงทำให้คนในโลกนี้ประทับใจได้ไม่น้อย และบอกต่อ ในทางตรงกันข้าม หากนักการเมืองคนใดไม่ได้ทวีตหรือโพสต์เองก็มักจะถูกถล่มอย่างหนัก
กระหน่ำจัดทั้ง Live ทั้ง Chat
ปฏิบัติการของพรรคการเมืองและนักการเมืองที่พยายามจับจุดพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่คือการ ”แชร์” มีให้เห็นในการใช้โซเชี่ยลมีเดียในแคมเปญหาเสียงครั้งนี้ชัดเจน ซึ่งการให้แฟนๆ โพสต์ที่หน้า Wall หรือทวีต Reply นั้นไม่พออีกต่อไป การสื่อสารแบบถ่ายทอดสด และการพูดคุยแบบสดๆ คือการแข่งขันกันอย่างหนักในเวลานี้
LiveVDOChat คือชื่อกิจกรรมของประชาธิปัตย์ ที่มาเหนือชั้นกว่าทั้ง ”วิดีโอลิงค์และ Skype“ ที่ ”ทักษิณ”เคยใช้ แต่นี่คือการฟังการหาเสียงของ ”อภิสิทธิ์” และถามคำถามจากหน้าจอกันสดๆ ทุกวันอาทิตย์เวลา 20.10 น. ผ่านแอพพลิเคชั่นบนหน้าเฟซบุ๊ก ”Livestream” และไม่กี่วันต่อมาเพื่อไทยก็เปิดถ่ายทอดสดกิจกรรมหาเสียงตามมา
“อภิรักษ์” บอกว่า LiveVDOChat ตอบสนองคนรุ่นใหม่ได้มากกว่าเมื่อเทียบกับเครื่องมืออื่น เช่น Youtube คือการดูแล้วทิ้งคอมเมนต์ไว้ แต่พฤติกรรมของคนเมื่อถามแล้วอยากได้คำตอบเร็วๆ เครื่องมือนี้จึงเป็นคำตอบที่ดีที่สุด และในแง่ความสะดวกของการหาเสียงที่แต่ละพื้นที่สามารถเชื่อมโยงสัญญาณไปได้นั้น ถือว่าลงตัวอย่างยิ่ง
นักการเมืองกับโซเชี่ยลมีเดียในแคมเปญหาเสียงเพื่อการเลือกตั้งที่ต่างทุ่มเทกันอย่างเต็มที่ จนมีเรื่องเล่ากันเกือบทุกวันตลอดช่วงการหาเสียงกว่า 40 วัน เมื่อแคมเปญจบปิดหีบนับคะแนนแล้ว จุดเริ่มต้นใหม่ก็กำลังเกิดขึ้น เพราะไม่ว่าแฟนใครได้ที่นั่งในสภา ได้เป็นรัฐบาล เป็นรัฐมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรี หากไม่ปรองดอง หรือไม่เดินไปข้างหน้าอย่างที่โพสต์ แชร์กันไว้ คงต้องตระหนักให้ดีว่าพลังของโซเชี่ยลมีเดียที่สามารถกดโหวตลงคะแนนให้เข้ามา ก็มีพลังอีกเช่นกันที่จะUnlike และ Unfollow ได้ทุกเวลา
ประชากรไทย | 63.9 ล้านคน |
คนใช้อินเทอร์เน็ต | 18.1 ล้านคน |
เฟซบุ๊ก | 10.60 ล้านคน |
ทวิตเตอร์ | 910,000 คน |
คนใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ | 12 ล้านคน |
เข้าโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คผ่านมือถือ | 50% |
ที่มา : Digital Media in Thailand |