อีกหนึ่งบทเรียนการตลาดที่ล้ำเส้นจริยธรรม แฮชแท็ก #แบนลาซาด้า ยังคงร้อนแรงต่อเนื่อง จากคลิปและภาพโปรโมตจากอินฟลูเอนเซอร์ “นารา เครปกะเทย” หมิ่นเหม่พาดพิงบุคคล และเป็นการล้อเลียนลักษณะทางร่างกายที่เกิดจากความเจ็บป่วย ล่าสุดทั้งเอเจนซี่โฆษณาและลาซาด้าแถลงการณ์ขออภัยต่อสังคมแล้ว แต่ดูเหมือนกระแสยังไม่จางไปง่ายๆ
ตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค. 2565 แพลตฟอร์ม “ลาซาด้า” (Lazada) มีแคมเปญโปรโมตต้อนรับเทศกาลลดราคาวันเลขคู่ 5.5 และหนึ่งในคลิปที่จัดทำขึ้นมาจากการจ้างงาน “นารา เครปกะเทย” อินฟลูเอนเซอร์คนดัง กลายเป็นปัญหาครั้งใหญ่ของแอปพลิเคชัน
ภาพและคลิปที่ปรากฏ นอกจากนาราแล้วยังมี “หนูรัตน์” ซึ่งเป็นอินฟลูเอนเซอร์ทางอินเทอร์เน็ตอีกรายเข้าร่วมด้วย โดยปัญหาหลักอยู่ที่หนูรัตน์ที่แต่งตัวในชุดไทยนั่งบนรถวีลแชร์ และแสดงออกถึงลักษณะของผู้ป่วย จุดประสงค์ต้องการให้ตลกขบขัน
แต่กระแสสังคมตีกลับ เพราะกังขาว่าภาพที่ปรากฏเป็นการล้อเลียนบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือไม่ ที่สำคัญคือการล้อเลียนผู้ป่วยนั้นเห็นได้ชัดและไม่ใช่สิ่งที่สังคมยอมรับได้
จากคลิปนี้ทำให้สังคมโซเชียลผุดแฮชแท็ก #แบนลาซาด้า ที่เริ่มเป็นกระแสตั้งแต่วันที่ 5 พ.ค. 65 ต่อเนื่องถึงวันที่ 6 พ.ค. 65 ปัจจุบันยังคงเป็นเทรนด์ในประเทศไทย มีการทวีตบนทวิตเตอร์ไปกว่า 97,000 ครั้ง เรียกร้องความรับผิดชอบจากแพลตฟอร์มต่อโฆษณาที่สะเทือนสังคม และรณรงค์ให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยลบแอปฯ หยุดการใช้งานแพลตฟอร์มนี้
“เอเจนซี่-ลาซาด้า” ขออภัยในความไม่รอบคอบ
ในวันที่ 5 พ.ค. 65 หลังเกิดกระแสเชิงลบ ทาง บริษัท อินเตอร์เซคท์ ดีไซน์ แฟคทอรี่ จำกัด ในฐานะเอเจนซี่ผู้ติดต่อประสานงานกับนารา เครปกะเทย ได้ออกแถลงการณ์น้อมรับผิดแต่เพียงผู้เดียว และทำการลบคลิปทันที พร้อมยืนยันว่าไม่มีเจตนาล้อเลียนพฤติกรรมหรือสภาพร่างกาย หรือพาดพิงบุคคลใด รวมถึงจะปรับปรุงให้ความสำคัญกับเนื้อหาและรายละเอียดอย่างรอบคอบมากขึ้น
ต่อมาในวันที่ 6 พ.ค. 65 จากกระแสที่ยังไม่สงบ ทำให้ “ลาซาด้า” ต้องออกแถลงขออภัยต่อความผิดพลาดเช่นกัน โดยรับทราบว่าคลิปดังกล่าว “สร้างความกระทบกระเทือนจิตใจต่อสังคมและลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์” และแม้ว่าเอเจนซี่ผู้รับผิดชอบประสานงานจะขอโทษต่อสาธารณชนแล้วแต่ “เหตุการณ์ที่ผิดพลาดอย่างรุนแรงในครั้งนี้เป็นผลมาจากความไม่รอบคอบของทางลาซาด้าอย่างปฏิเสธไม่ได้” พร้อมขอโทษต่อสังคมและจะปรับปรุงกระบวนการทำงานให้รัดกุมยิ่งขึ้น
จากการแถลงของทั้งสองบริษัท เป็นไปได้ว่าความผิดพลาดครั้งนี้เกิดจากการจ้างงานที่ค่อนข้างหละหลวมในแง่การดูแลเนื้อหาของอินฟลูเอนเซอร์ที่รับงาน ทำให้เนื้อหางานที่หมิ่นเหม่นี้ถูกปล่อยผ่านได้
อย่างไรก็ตาม ฝั่งนารา เครปกะเทยซึ่งเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ ยังคงยืนยันความบริสุทธิ์ใจว่าไม่มีเจตนาพาดพิงบุคคลใด และ ยืนยันว่าทางแอปฯ (ลาซาด้า) ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการบรีฟเนื้อหางานครั้งนี้
“สมาคมโฆษณา” ประณามชิ้นงานไร้รสนิยม
ประเด็นนี้ทาง “สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย” มีการออกแถลงการณ์เพื่อแสดงจุดยืนต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน เนื่องจากเป็นห่วงว่าเหตุการณ์นี้จะบั่นทอนเกียรติ ศักดิ์ศรี และความเชื่อมั่นต่อเพื่อนร่วมวิชาชีพ จึงขอยืนยันถึงหลักจรรยาบรรณวิชาชีพในการโฆษณา 3 ส่วนที่สมาคมฯ สนับสนุน ดังนี้
- การโฆษณาทุกชิ้นต้องถูกกฎหมาย มีเกียรติ ซื่อสัตย์ และนำเสนอความจริง
- การโฆษณาไม่ควรมีความขัดแย้งกับศีลธรรมอันดีและระเบียบสังคม ในการสร้างสรรค์งานโฆษณา ควรกระทำด้วยการตระหนักถึงการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และอยู่ภายใต้หลักของการแข่งขันที่ยุติธรรม ที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปในวงการธุรกิจ
- การโฆษณาต้องไม่ทำให้สาธารณชนเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจในการโฆษณา
สมาคมฯ ยังระบุด้วยว่า “การกระทำใดๆที่ปราศจากความรับผิดชอบ ยุยงต่อต้านสังคม ไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดูหมิ่นบุคคลหรือกลุ่มบุคคล แสดงรูปแบบใดๆของการเหยียดหรือเลือกปฏิบัติ ถือเป็นการกระทำที่ปราศจากรสนิยมและความตั้งใจอันดี สร้างความเสียหายต่อวิชาชีพ สังคมและผู้บริโภคมีสิทธิพิจารณาความเหมาะสมที่จะยุติการสนับสนุนต่อไป”
“ผู้ทำหน้าที่ผลิตชิ้นงานหรือบริษัทตัวแทนโฆษณา ตลอดจนนักการตลาดผู้ทำหน้าที่บริหารจัดการกิจกรรมการตลาดของแบรนด์และผลิตภัณฑ์ สมควรจะแสดงความรับผิดชอบอย่างเปิดเผยและจริงใจโดยทันที”
อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม
- สรุปดราม่า #แบนfoodpanda ให้พนักงานที่ไปชุมนุมพ้นสภาพ
- กรณีศึกษา : ดราม่า “Burger King” วันสตรีสากล เจอกระแสตีกลับประเด็น “เหยียดเพศ”