ดีแทค "โซเชี่ยลแอพฯ" แชต & แชร์ไม่เกิน 20 บาท

มาทีหลังก็ต้องเก็บสิ่งที่ยังเหลืออยู่ในตลาด เหมือนอย่าง “ดีแทค” ที่ไม่ทันกระแส Chat จนตลาดนี้เป็นของ “เอไอเอส” ไปแล้ว การขยับของดีแทครอบนี้จึงต้องมองหาลูกค้าที่เหลืออยู่ (แน่นอนว่าเหลือแต่ยังทำเงิน) อย่างกลุ่มติดเฟซบุ๊ก และโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค ด้วยเป้าหมายหวังผลใหญ่กว่าในอนาคต

ปัจจุบันคนจำนวนมากยังไม่ได้ใช้สมาร์ทโฟน แต่นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ออนไลน์ ยิ่งใช้นานยิ่งติด อย่างน้อยก็เกิดความรู้สึกแว้บๆเข้ามาบ้างว่าถ้าใช้ได้ทุกที่ทุกเวลาก็คงจะดี แต่ยังไม่อยากลงทุนซื้อสมาร์ทโฟน และไม่อยากจ่ายค่าแพ็กเกจค่าบริการแพง นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่ใช้น้อยเช่นวันละ 5 นาที นี่คือช่องว่างทางการตลาดที่ดีแทคมอง

กลุ่มลูกค้าพรีเพดภายใต้แบรนด์ “แฮปปี้” ของดีแทคคือครีมก้อนใหญ่ของตลาดนี้ ที่ “ปกรณ์ พรรณเชษฐ์” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายผลิตภัณฑ์ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทคบอกว่าถ้าให้ลูกค้ากลุ่มนี้มีประสบการณ์ใช้บริการดาต้าผ่านโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ควันนี้ เป็นการทดลองสินค้า สิ่งที่ดีแทคหวังในอนาคตคือกลุ่มนี้จะเปลี่ยนมาใช้สมาร์ทโฟน ซึ่งหมายถึงการจ่ายค่าแพ็กเกจดาต้าสูงขึ้นตามมา จากปัจจุบันรายได้ต่อเดือนของกลุ่มพรีเพดเพียง 59 บาทเท่านั้น ขณะที่โพสต์เพดอยู่ที่ 200 บาท

ดีแทคจึงทุ่มโปรโมตถึง 50 ล้านบาทในเวลาเพียง 1 เดือนครึ่ง เพื่อดันบริการ “Social App” ที่ไม่ใช่แอพพลิเคชั่นสำหรับสมาร์ทโฟนเท่านั้น แต่เป็นชื่อบริการฝังฟังก์ชันไว้ในซิมมือถือสำหรับลูกค้าใหม่ และสมัครบริการผ่านระบบสำหรับลูกค้าเดิม ใช้ได้กับมือถือทุกรุ่นกับ 5 บริการ คือ แชตเอ็มเอสเอ็น, Hi5, เฟซบุ๊ก, กูเกิลทอล์ก และทวิตเตอร์

ราคาคือปัจจัยสำาคัญว่าบริการนี้จะสำเร็จหรือไม่ เพราะหากลูกค้ามีเงินในระบบไม่พอ ก็อดใช้บริการ งานนี้ดีแทคเรียนรู้จากคู่แข่งและสำรวจพบว่าลูกค้าที่ใช้พรีเพดเฉลี่ยมีเงิน ณ ช่วงเวลาหนึ่งเหลือเพียง 20 บาทเท่านั้น ดังนั้นการคิดค่าบริการกับลูกค้ากลุ่มนี้ต้องห้ามจ่ายเกินครั้งละ 20 บาท เหมือนอย่างแชตซิม เอไอเอสที่คิด 17 บาท และดีแทคเคาะที่ 19 บาท

คิดอย่างละเอียด จัดโปรโมชั่น อัดเม็ดเงินซื้อสื่อเต็มที่ขนาดนี้ “อมฤต ศุขะวณิช” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายการตลาดดีแทค บอกว่าภายใน 12 เดือนหวังว่าจะมีลูกค้าใช้บริการ Social App 1 ล้านราย เป็นลูกค้าใหม่ 3 แสน และที่สำคัญยังทำให้ดีแทคกลับมามีสีสันในมือของลูกค้าหลังจากเงียบหายมานาน

ลูกค้าดีแทค 23 ล้านรายถืออะไรกันบ้าง
สมาร์ทโฟน 1 ล้าน
เบสิกโฟน 8 ล้าน
ฟีเจอร์โฟน 14 ล้าน
ฐานลูกค้าที่ใช้บริการดาต้าของดีแทค
60% เป็นวัยรุ่นไม่เกิน 13-21 ปี
30% วัยทำงาน วัย 22-40 ปี
10% อายุมากกว่า 40 ปี
แฮปปี้ “โซเชี่ยลแอพฯ”
Official Launch 16 มิถุนายน 2554 ห้องไซบีเรีย ชั้น 8 เซ็นเตอร์พอยท์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ มี Celebrity เช่นแพนเค้ก เพื่อดึงนักข่าวสายบันเทิง สังคม และมีกลุ่ม Cewebrity เช่น Room 39 จีบัน ที่ดังจากออนไลน์ข้ามมายังออฟไลน์
Positioning บริการสื่อสารสำหรับกลุ่มที่ชอบใช้โซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค
Product Details ซิม และแอพพลิเคชั่นสำหรับมือถือทุกรุ่นเพื่อเข้าเฟซบุ๊ก Hi5 MSN กูเกิลทอล์ก ทวิตเตอร์
Market Analysis สมาร์ทโฟนและค่าบริการแพ็กเกจดาต้ายังแพงเกินไปสำหรับกลุ่มพรีเพด ขณะที่กระแสโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คแรงขึ้น มีคนใช้เฟซบุ๊กประมาณ 10 ล้าน hi5 MSN อย่างละ 6 ล้าน และทวิตเตอร์ 4 แสนคน ทำให้กลุ่มเป้าหมายอยากใช้ตลอดเวลา
Strategy งบตลาด 50 ล้านบาท สื่อออนไลน์ 40% และทีวีซี และBelow the line ในแหล่งวัยรุ่น และกลยุทธ์ราคาที่คิด 19 บาทเพราะไม่เกินเงินที่กลุ่มเป้าหมายมี
Competitors คู่แข่งทางอ้อมคือ แชตซิมของเอไอเอส 17 บาทต่อสัปดาห์ และ IMM Chat ของสามารถไอ-โมบายล์ ค่าบริการ 5 วัน 20 บาท