ค่าเงินบาทไทยทำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปีครึ่ง หลังนักลงทุนกังวลการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed

ภาพจาก Shutterstock

ค่าเงินบาทของไทยล่าสุดทำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปีครึ่ง ปัจจัยสำคัญคืออัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยกับสหรัฐอเมริกานั้นมีความแตกต่างกัน ส่งผลทำให้เม็ดเงินไหลออก ขณะที่นักวิเคราะห์บางส่วนก็มองว่าไทยอาจต้องมีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในเร็วๆ นี้

ค่าเงินบาท ล่าสุด (14:50 น.) ซื้อขายอยู่ที่ราคา 35.50 บาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยอ่อนค่า 0.5% ซึ่งเป็นการอ่อนค่าที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2017 เป็นต้นมา 

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ค่าเงินบาทของไทยที่อ่อนค่ามาจากเม็ดเงินไหลออก ซึ่งเป็นผลจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ เพื่อที่จะต่อสู้กับเงินเฟ้อ

ขณะที่บทวิเคราะห์ของ Maybank สถาบันการเงินจากมาเลเซียมองว่าแรงกดดันที่ทำให้ค่าเงินในเอเชียอ่อนค่าลง ซึ่งรวมถึงค่าเงินบาทของไทยนั้นมาจาก “ความกังวลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ และความหวาดกลัวต่อสภาวะการเงินที่ตึงตัวขึ้น”

ขณะเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปัจจุบันยังอยู่ที่ 0.5% ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ในช่วง 1.50-1.75% ขณะที่นักวิเคราะห์บางส่วนชี้ว่าไทยเองอาจมีการประชุม กนง. รอบพิเศษเพื่อที่จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย อย่างไรก็ดี ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมากล่าวเมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมาว่าจะยังไม่มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินรอบพิเศษ

นอกจากนี้นักลงทุนได้รอดูตัวเลขดุลการค้าของไทยในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าอาจขาดดุลราวๆ 1,500 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้นและปัญหาเงินบาทอ่อนค่า ส่งผลทำให้ยอดการนำเข้าโตกว่า 18% เมื่อเทียบกับปี 2021 แต่ยอดการส่งออกอาจเติบโตเพียงแค่ 8% เมื่อเทียบกับปีที่ 2021 ผ่านมา ซึ่งปัจจัยดังกล่าวถือว่าเกี่ยวข้องกับค่าเงินบาทไทยด้วยเช่นกัน

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาทไทยในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มองว่าค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 35.00-35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา