ค้าปลีก 2565 ปัจจัย “เงินเฟ้อ” ยังรุมเร้า ผู้บริโภคเน้นซื้อสินค้าจำเป็น แฟชั่น-บิวตี้ยังฟื้นตัวช้า

ค้าปลีก 2565 SCB EIC
  • SCB EIC คาดมูลค่าธุรกิจ “ค้าปลีก” 2565 กลับมาโต 11% YoY จากการเปิดเมือง การท่องเที่ยวฟื้น แต่ปัจจัยลบยังรุมเร้าจากค่าพลังงานที่เพิ่มขึ้น ปัญหาเงินเฟ้อ ส่งผลต่อราคาสินค้าและกำลังซื้อผู้บริโภค
  • การฟื้นตัวจะไม่เท่ากันในแต่ละกลุ่มสินค้า กลุ่มของสด (grocery) ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นจะฟื้นตัวได้ดี รวมถึงกลุ่มซ่อมแซมตกแต่งบ้านและสวน ยังไปได้ดีจากพฤติกรรมอยู่บ้านมากขึ้น ส่วนสินค้าฟุ่มเฟือยกลุ่มแฟชั่นและบิวตี้ยังฟื้นอย่างช้าๆ
  • ช่องทางค้าปลีกที่ได้อานิสงส์คือกลุ่มร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต และอีคอมเมิร์ซ ส่วนห้างสรรพสินค้าและร้านเครื่องสำอางจะยังซบเซา

SCB EIC เปิดรายงานคาดการณ์ธุรกิจ “ค้าปลีก” ปี 2565 คาดการณ์ว่า ตลาดจะกลับมาโต 11% YoY หรือคิดเป็นมูลค่า 3.45 ล้านล้านบาท (ยังต่ำกว่าปี 2562 ซึ่งมีมูลค่าตลาด 3.48 ล้านล้านบาท) เนื่องจากผู้บริโภคมีการเดินทาง ออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น รวมถึงการเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศ ช่วยเสริมกำลังซื้อมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564

อย่างไรก็ตาม EIC มองว่า “ปัจจัยลบยังมีมากกว่าปัจจัยบวก” เพราะราคาพลังงานพุ่งสูง ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพฤษภาคม 2565 พบว่า หมวดไฟฟ้า ประปา เชื้อเพลิง ปรับเพิ่มขึ้นมาแล้ว 14.4% นับตั้งแต่ต้นปี 2565 ซึ่งมีผลต่อต้นทุนราคาสินค้าเกือบทุกหมวดปรับราคาขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะราคาเนื้อสัตว์ ขึ้นมา 15.5% และหมวดการขนส่งและการสื่อสารขึ้นมาแล้ว 10.8%

เมื่อรวมกับปัจจัยหนี้ครัวเรือนสูง และอัตราว่างงานสูง ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่ำ และจะส่งผลต่อการเลือกจับจ่ายของผู้บริโภค สินค้าแต่ละกลุ่มในธุรกิจค้าปลีกจะฟื้นตัวแบบไม่เท่ากัน

 

ของสด-แต่งบ้าน สินค้าจำเป็นที่ผู้บริโภคซื้อมากขึ้น

สำหรับกลุ่มสินค้าที่ EIC คาดว่าจะฟื้นตัวได้ดีคือกลุ่มของจำเป็น ได้แก่ ของสด (grocery) และ สินค้าซ่อมบ้านและตกแต่งบ้าน

กลุ่มสินค้าของสดนั้นคาดว่าปี 2565 จะโต 12% YoY ทำให้มูลค่าใกล้เคียงกับปี 2562

ส่วนสินค้าซ่อมบ้านและแต่งบ้านคาดว่าจะโต 4% YoY กลับมาใกล้เคียงปี 2562 เช่นกัน เนื่องจากบ้านที่มีอายุมาก อายุบ้าน 11-20 ปีจะต้องการรีโนเวตครั้งใหญ่ และอายุบ้าน 5-10 ปี จะต้องการเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ สองกลุ่มนี้รวมกันคิดเป็นสัดส่วน 42% ของที่อยู่อาศัย รวมถึงบ้านอายุน้อยกว่า 5 ปีก็มีการตกแต่งบ้านจากเทรนด์ “อยู่บ้าน” มากขึ้น ทำให้ธุรกิจกลุ่มนี้เติบโตได้

 

บิวตี้-แฟชั่น ยังฟื้นกลับมาไม่เต็มที่

ด้านสินค้าบิวตี้นั้น EIC เชื่อว่าปีนี้จะโต 13% YoY แต่เนื่องจากสองปีที่ผ่านมาตลาดหดตัวอย่างมาก ทำให้การฟื้นตัวนี้ยังไม่ใกล้เคียงปี 2562 ต้องรอให้การกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติมากขึ้นก่อน

สินค้าแฟชั่น เครื่องแต่งกาย และรองเท้าก็เช่นกัน คาดว่าจะโต 14% YoY แต่ยังไม่ใกล้เคียงปี 2562 เนื่องจากผู้บริโภคยังระมัดระวังการใช้จ่ายไปกับสินค้าฟุ่มเฟือย ยกเว้นตลาดระดับลักชัวรีซึ่งพยุงตัวได้มากกว่า เพราะถึงแม้ว่าลูกค้านักท่องเที่ยวต่างชาติยังกลับมาไม่มากเท่าก่อนเกิดโรคระบาด แต่ในทางกลับกันลูกค้าคนไทยก็หันมาช้อปภายในประเทศแทน เพราะยังไม่สะดวกเดินทางออกต่างประเทศ

2565 ค้าปลีก

 

ช่องทางการขายมีทั้งคึกคักและซบเซา

จากกลุ่มสินค้าที่มีทั้งกลับมาฟื้นตัวสุดขีด และกลุ่มที่ยังฟื้นแบบช้าๆ ทำให้ช่องทางการขายที่จะได้อานิสงส์มากที่สุดปีนี้คือ “ร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ต” เพราะเป็นช่องทางขายของสด และผู้ประกอบการมีการปรับโมเดลส่งซูเปอร์ฯ ไซส์เล็กเข้าหาแหล่งชุมชนมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ลูกค้าเลือกซื้อจากสาขาใกล้บ้าน (กลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ตจะต้องมีการปรับตัวต่อไป)

อีคอมเมิร์ซ ยังเป็นช่องทางมาแรงสำหรับธุรกิจค้าปลีก

ขณะที่ช่องทางที่น่าจะยังซบเซา ฟื้นตัวได้ไม่มาก คือ “ห้างสรรพสินค้า” ซึ่งเป็นแหล่งขายสินค้ากลุ่มแฟชัน-บิวตี้เป็นหลัก รวมถึง “รีเทลขายเครื่องสำอาง” โดยเฉพาะ ยกเว้นร้านกลุ่มดรักสโตร์ที่มีการขายยาและอาหารเสริมเพื่อสุขภาพด้วย กลุ่มนี้จะยังได้กระแสรักสุขภาพของคนไทยในช่วงที่ผ่านมาช่วยพยุงยอดขายไว้ได้

ช่องทางที่น่าสนใจอีกช่องทางหนึ่งคือ “อีคอมเมิร์ซ” EIC คาดว่ามูลค่าตลาดการขายผ่านช่องทางนี้จะโต 24% YoY ในปี 2565 เพราะเป็นช่องทางที่ซื้อสินค้าได้หลากหลาย และเติบโตขึ้นมากจากความสะดวกในช่วงเกิด COVID-19 แม้ว่าจะคลายล็อกดาวน์แล้ว แต่จากการสำรวจความเห็นผู้บริโภคพบว่า 26% จะใช้อีคอมเมิร์ซซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นอีกเทียบกับการสำรวจเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 และมี 24% ที่จะยังซื้อสินค้าออนไลน์ด้วยความถี่คงเดิม ทำให้ช่องทางนี้จะยังคงความสำคัญต่อไป