โคลนนิ่ง บิสซิเนสชาเขียว & บุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่น ดีเอ็นเอของตัน เกิดใหม่กี่ครั้งก็ยังเป็นตัน

ในขณะที่ตันกำลังปักหลักซดหมัดกับโออิชิ กรุ๊ป ในส่วนธุรกิจชาเขียวพร้อมดื่ม แต่ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นก็กำลังเป็น “แนวรบ” อีกด้านที่กำลังเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เมื่อตันเลือกเดินเกมซ้ำรอยเดิม เปิดศึกกับ “โออิชิ บุฟเฟ่ต์” ธุรกิจแรกของแบรนด์โออิชิที่เขาปั้นมากับมือ

9 เดือน 9 ปี 1999 ถือเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของแบรนด์โออิชิเนื่องจากว่าเป็นวันแรกของโออิชิ บุฟเฟ่ต์ ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการในซอยทองหล่อ และอีก 11 ปีถัดมาคือวันที่ 9 เดือน 9 ปี 2010 เป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของบริษัท ไม่ตัน จำกัด กับการเริ่มต้นใหม่ ต่างกันที่ว่าครั้งนี้ในส่วนธุรกิจอาหารตันเลือกนำแบรนด์จากญี่ปุ่นแท้ๆ มาเปิดเลย

ตันโบกมือลา โออิชิ กรุ๊ป อย่างเป็นทางการได้เกือบ 9 เดือน และเข็นแบรนด์เครื่องดื่มใหม่ออกมาถึง 2 แบรนด์ พร้อมทั้งเปิดร้านอาหารญี่ปุ่นระดับพรีเมียมที่เน้นเจาะเซ็กเมนเทชั่น”ราเมน”

“ราเมน แชมเปี้ยน” ทั้ง 6 ร้าน เป็นราเมนต้นตำรับจากญี่ปุ่นที่ตันร่วมทุนกับเจ้าของลิขสิทธิ์มาเปิดบริการที่อารีน่า 10 ซอยทองหล่อ เมื่อพฤศจิกายน 2553

แม้ว่าตันจะทำให้ “ราเมน แชมเปี้ยน” ของเขาเป็นที่รู้จักมากกว่าร้านอาหารญี่ปุ่นในย่านทองหล่อ หรือสุขุมวิทที่เปิดมาก่อนหน้านี้หลายปีด้วยการใช้เครื่องมือ Social Media อย่าง Facebook มาช่วยเสริมและสื่อ ณ จุดขาย ตลอดจนการนำไปผูกกับกิจกรรมต่างๆ เช่นเมื่อครั้งทำกิจกรรมช่วยเหลือประเทศญี่ปุ่นในเหตุการณ์สึนามิ ก็เรียกคนมาได้แน่นร้าน

กระนั้นตันก็ยังได้ช่องทางโปรโมตธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นของเขาแบบฟรีๆ ผ่านสื่อแมสอย่างฟรีทีวี เช่น ในรายการตี 10 ที่โน้สไปออกรายการ โปรโมตเดี่ยว 9 รอบนี้ โน้สก็จูงมือ “ตัน” ไปออกโชว์เดี่ยวแบบย่อยๆ ด้วยเรื่องราวสนุกๆ ที่แสดงออกถึงความสัมพันธ์ระหว่างเขากับตัน งานนี้คนดูก็ได้รับรู้แบรนด์ อารีน่า 10 และราเมน แชมเปี้ยนไปในคราวเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ลูกค้าของราเมน แชมเปี้ยนยังจำกัด เฉพาะระดับกลางและระดับบน (Upper Middle Class) ทั้งจำนวนสาขาที่น้อย ตั้งอยู่นอกศูนย์การค้า และราคาที่สูงกว่าเชนร้านอาหารญี่ปุ่นตามศูนย์การค้าทั่วไป จนดูเหมือนว่าตันจะไม่ให้ความสำคัญกับแนวรบด้านนี้มากนัก

นั่นเป็นเพราะ “ราเมน แชมเปี้ยน” เป็นเพียงแค่หมัดแย้บที่ตัดส่งลงมา “คั่นรายการ” เหมือนกับที่ตันเคยส่ง “ดับเบิ้ล ดริ้งค์” ลงมา ก่อนจะปล่อยตัวจริงเสียงจริง “อิชิตัน” ออกมาท้ารบกับโออิชิโดยตรง

ต้องไม่ลืมว่าตันได้สร้าง โออิชิ บุฟเฟ่ต์ ตั้งแต่ปี 2542 หรือเมื่อ 12 ปีที่แล้ว จนประสบความสำเร็จ แม้ในเวลาต่อมาร้านอาหารญี่ปุ่น ธุรกิจที่เกิดขึ้นก่อนชาเขียวพร้อมดื่มโออิชิจะมีขนาดไม่ใหญ่เท่ากับชาเขียวพร้อมดื่มก็ตาม แต่ด้วยความนิยมในอาหารญี่ปุ่นของคนไทยที่เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยมีมีโอกาสเติบโตอีกมากและตันก็ไม่รีรอที่จะช่วงชิงโอกาสนั้น

ก้าวที่น่าจับตาในขณะนี้ คือ ตันได้เตรียมขยับไปปักหมุดในศูนย์การค้า แต่หาใช่การนำราเมน แชมเปี้ยน ไปเปิดแต่อย่างใด เพราะตันเลือกเปิดร้านอาหารญี่ปุ่นสไตล์ฟิวชั่นกึ่งบุฟเฟ่ต์จากไต้หวัน บนชั้น 2 สยามดิสคัฟเวอรี่ ซึ่งจะเปิดให้บริการในเดือนสิงหาคม 2554 นี้

ร้านอาหารญี่ปุ่นสไตล์ฟิวชั่นจากไต้หวันเป็นร้านอาหารญี่ปุ่นที่ให้บริการแบบคอร์ส (อาจเสิร์ฟ 8-10 คอร์ส และคิดราคาเหมารวม) ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของบุฟเฟ่ต์ มิหนำซ้ำยังเปิดในพื้นที่ใกล้เคียงกับโออิชิแกรนด์ แบรนด์ท็อปสุดของร้านอาหารญี่ปุ่นโออิชิ และอาจมีราคาใกล้เคียงกันอีกด้วย (โออิชิแกรนด์ ราคา 647-745 บาทต่อหัว) โดยมีแผนที่จะขยายสาขาไปในศูนย์การค้าอื่นๆ ด้วย

ไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าสนามต่อจากชาเขียว ตันจะเลือกลุยธุรกิจร้านอาหารบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นที่เขาเป็นผู้เปิดตลาดไว้ แม้จะไม่ใช่บุฟเฟ่ต์เต็มรูปแบบก็ตาม นับได้ว่าตันสามารถโคลนนิ่งธุรกิจที่เขาเคยทำไว้ได้ทั้งหมด เพราะเขาคือต้นกำเนิด เป็นดีเอ็นเอต้นแบบ ที่สามารถสร้างธุรกิจนี้ขึ้นมาใหม่ได้ ไม่ต่างจากการทำชาเขียวอิชิตัน แน่นอนว่าเขาย่อมรู้จุดอ่อน จุดแข็งที่เขาทำไว้ และหากจะสร้างกระแสที่เหนือกว่าเดิมก็ไม่ใช่เรื่องยาก

ดังนั้นสมรภูมิร้านอาหารญี่ปุ่นระหว่างโออิชิ กรุ๊ป กับตัน จึงสนุกไม่แพ้ตลาดชาเขียว เพราะตันย่อมมีลูกเล่นใหม่ๆ ที่พร้อมจะหยิบมาสร้างสีสันและแจ้งเกิดธุรกิจได้

อย่างไรก็ตาม การรุกก้าวของตันในธุรกิจอาหารในพื้นที่ศูนย์การค้าเกิดขึ้นเร็วกว่าที่ใครหลายคนคาดคิด และเป็นสัญญาณว่า อีกไม่นานปฏิบัติการไล่ล่าตำแหน่ง King of Japanese Restaurant กับโออิชิ กรุ๊ป จะเป็นไปอย่างเข้มข้น นับเป็นศึกภาคต่อที่ต้องติดตามจริงๆ

ความท้าทายครั้งใหม่
การแย่งชิงภาพลักษณ์ความเป็นญี่ปุ่นจากคู่แข่งที่ไม่ธรรมดาอย่างตันซึ่งกำลังไล่ล่าความสำเร็จเดิมที่เคยสร้างไว้ ยิ่งทำให้โออิชิ กรุ๊ป ต้องเดินเกมด้วยความระมัดระวังมากขึ้น เพราะตันได้ชื่อว่ามีสายสัมพันธ์ที่ไม่ธรรมดากับนักธุรกิจญี่ปุ่น ไม้เด็ดที่ซ่อนไว้อาจจะรอเวลาที่เหมาะสมก่อนจะงัดขึ้นมาใช้แบบสู้ตาย

โออิชิ กรุ๊ป จึงเตรียมปรับทัพธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นเพื่อรับมือกับศึกใหญ่ที่กำลังมาถึง ด้วยการหันมาโฟกัสธุรกิจที่ทำรายได้และปิดแบรนด์ที่ไม่ทำเงิน

โออิชิ กรุ๊ป ในยุคของตัน เมื่อโออิชิบุฟเฟ่ต์ประสบความสำเร็จ ตันใช้จังหวะนี้แตกแบรนด์ใหม่ๆ เพื่อรองรับความต้องการอาหารญี่ปุ่นที่กำลังมาแรง ซึ่งเขาเชื่อว่า ตลาดเมืองไทยจะถูกพัฒนาไปแบบนั้น เช่น โออิชิ เอ็กซ์เพรส รองรับลูกค้าระดับล่าง และส่งถึงบ้าน โออิชิ ราเมน รองรับตลาดบะหมี่ราเมนที่กำลังโต ร้านชาบูชิ, เดอะ เทปป์, ไมดะ โอคินิ, คะโซคุเตะ และยังมีร้านขนมปังอินแอนด์เอาท์ ยังรวมไปถึง การผลิตอาหารแช่แข็ง เกี๊ยวซ่า ปูอัด โอเด้ง ป้อนขายในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น เพื่อหวังกวาดต้อนลูกค้าทุกกลุ่มให้อยู่ในมือสไตล์ของตัน คือ การเปิดเพื่อรองรับกับความต้องการลูกค้าทุกกลุ่มธุรกิจไหนยังไม่เดิน ก็รอเวลา หรือเลือกใส่การตลาดลงไปกระตุ้น

เมื่อตันลาออกจากโออิชิ การบริหารมาอยู่ในมือโออิชิกรุ๊ปเต็มตัวด้วยสไตล์การบริหารองค์กรแบบมีระบบ มีตัวเลขผลประกอบการเป็นตัวชี้วัดชัดเจน การกวาดบ้านและปรับองค์กรเริ่มขึ้นด้วยการจัดพอร์ตใหม่ ตัดทิ้งแบรนด์ที่ไม่ทำเงิน คือ ไมโดะ โอคินิ แบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นของบริษัทฟูจิโอ ฟู้ดซิสเต็ม โดยไมโดะ โอคินิ ทั้ง 3 สาขาฟิวเจอร์พาร์ครังสิต ฟู้ดชาแนลสีลม และเดอะมอลล์บางแค จะถูกปิดทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้ ทำให้ขณะนี้โออิชิ กรุ๊ป มีแบรนด์จากญี่ปุ่นแท้ๆ เพียงแบรนด์เดียวคือ คะโซคุเตะ ของบริษัท คะโซคุเตะ จำกัด

“ธุรกิจไหนไม่ทำรายได้ หรือไม่คุ้มกับกำลังการผลิตเราก็เลิกไป” ไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บอก

เช่นเดียวกับร้านขนมปังอินแอนด์เอาท์ที่ปิดไปแล้ว 9 สาขา เนื่องจากทำรายได้ไม่คุ้มกับกำลังการผลิต โดยได้หันไปเน้นผลิตและจำหน่ายแซนด์วิช ภายใต้แบรนด์ Bread&Fast เพื่อจำหน่ายในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นเพียงอย่างเดียว เช่น อาหารแช่แข็งอย่างโอเด้ง เกี๊ยวซ่า ปูอัด ที่ยังทำรายได้ดี

หลังปิดแบรนด์ไม่ทำเงิน โออิชิ ได้ออกแบรนด์ใหม่ “ร้านนิคูยะ” ร้านบุฟเฟ่ต์สไตล์ปิ้งย่าง เป็นแบรนด์ที่คิดขึ้นเอง เพราะมองว่าคนไทยนิยมอาหารปิ้งย่างเพิ่มขึ้น สังเกตจากมีหลายแบรนด์ได้รับการตอบรับดี อาทิ AKA และซูกิชิ โดยจะเปลี่ยนร้านกริลล์แอนด์มอร์ที่อาคารล็อคโฮม ทองหล่อ มาเป็นร้าน “นิคูยะ” และเตรียมขยายสาขาอีก 3 สาขาในปีนี้ (รวมล็อคโฮม) คือ เซ็นทรัลรัตนาธิเบศร์ และยูดีทาวน์อุดรธานี และเปิดเพิ่มอีก 5-10 สาขาในปี 2555

ภาพรวมโออิชิ กรุ๊ป จะเดินเครื่องขยายสาขาร้านอาหารในเครือต่อเนื่องอีก 30 สาขาภายใต้งบ 300 ล้านบาท ซึ่งจะเน้นแบรนด์ทำเงินโดยเฉพาะ”ชาบูชิ” ที่จะเปิดสาขาเพิ่มอีก 15 แห่ง ร้านคะโซคุเตะ เปิดปีนี้ 5 สาขา เปิดไปแล้ว 3 สาขา ปัจจุบันมี 7 สาขา โดยปัจจุบันมีสาขารวมทั้งหมด 129 สาขา นอกจากนี้ยังมีการขยายโรงงานเพิ่มเติมในพื้นที่โรงงานโออิชิเดิมที่นวนคร เพื่อรองรับการขยายสาขาที่เพิ่มขึ้น

เป้าหมายของโออิชิ ไม่ใช่แค่การขยายตลาดในประเทศ แต่ต้องการนำร้านอาหารญี่ปุ่นของโออิชิ กรุ๊ปไปเปิดบริการในต่างประเทศ โดยเป้าหมายใหญ่คือ ประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้จะใช้แบรนด์ “ชาบูชิ” ซึ่งได้รับการตอบรับดี และประเทศแรกที่มีโอกาสเป็นไปได้มากที่สุด คือ สิงคโปร์

ที่สำคัญ การตัดสินใจรีโนเวตโออิชิ แกรนด์ ครั้งใหญ่ ที่สยามดิสคัฟเวอรี่หลังจากเปิดบริการมา 6 ปี ด้วยงบ 15 ล้านบาท ก็เพื่อรับมือกับศึกครั้งใหญ่ที่กำลังมาถึงเร็ววันนี้ นอกจากนั้นอยู่ระหว่างการเจรจาแฟรนไชส์ร้านอาหารญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง

โออิชิ แกรนด์ โฉมใหม่ จะพร้อมให้บริการในสิงหาคม 2554 นี้ เป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่ร้านอาหารญี่ปุ่นของตันเตรียมเปิดให้บริการ