ผู้ว่าการแบงก์ชาติ “ศรีลังกา” ประเมิน “เงินเฟ้อ” จะขึ้นไปสูงสุดที่ 70% ภายใน 2 เดือน ก่อนที่จะค่อยๆ ชะลอลง ทางออกของศรีลังกายังต้องพึ่งเงินทุนต่างประเทศ พร้อมโต้ข้อครหาว่าประเทศไม่ได้กำลัง “ติดกับดักหนี้จีน” ยกแดนมังกรเป็นมิตรนักลงทุนรายใหญ่
นันดาลัล วีระสิงเห ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งประเทศศรีลังกา คาดการณ์ว่าปัญหาเงินเฟ้อของศรีลังกาจะขึ้นไปพีคสุดที่ 70% ภายใน 2 เดือนข้างหน้า ก่อนจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นช่วงเดือนกันยายนนี้
ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพุ่งขึ้นไปสูงสุดที่ 45.3% YoY เมื่อเดือนพฤษภาคม เทียบกับเดือนเมษายนที่สูงขึ้น 33.8% YoY ภาวะเงินเฟ้อราคาอาหารก็ขึ้นเช่นกัน ในเดือนพฤษภาคมพุ่ง 58% YoY เพิ่มจากเดือนเมษายนที่พุ่งขึ้น 45.1% YoY
วีระสิงเหให้สัมภาษณ์กับ CNBC ว่า ศรีลังกากำลังจะได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มเติมจาก IMF (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) เป็นจำนวน 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในรอบ 3 ปีข้างหน้า เพื่อช่วยเหลือศรีลังกาจากวิกฤตการเงินที่ร้ายแรงที่สุดของประเทศ นับตั้งแต่ประเทศเป็นเอกราชในปี 1948
การรับเงินอุดหนุน IMF ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 17 ของประเทศ และจะมีสถาบันอื่นๆ อุดหนุนเพิ่มให้ด้วย เช่น ธนาคารโลก และธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ก็จะเพิ่มเงินกองทุนให้อีก 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ผู้ว่าแบงก์ชาติศรีลังกายังกล่าวด้วยว่า วิกฤตทางเศรษฐกิจครั้งนี้เป็นโอกาสให้ผู้มีอำนาจของประเทศเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต และไม่หวนกลับไปทำซ้ำรอยเดิมอีก
เขามองว่าการมีเบาะรองรับทางสังคมให้กับคนยากจน คนชายขอบ แต่ขณะเดียวกันรากเหง้าของปัญหาเศรษฐกิจขณะนี้ คือการสั่งสมมาหลายทศวรรษของการจัดการงบดุลที่ผิดพลาด
“รัฐบาลมีการทำงบดุลแบบขาดดุลปีละ 8-9% ต่อเนื่องยาวนาน” วีระสิงเหกล่าว “ผลที่เกิดขึ้นคือ เรามีหนี้สาธารณะที่สูงมากจนไม่ยั่งยืนทางเศรษฐกิจ”
สถานการณ์ในศรีลังกาปั่นป่วนอย่างมาก หลังจากในที่สุด “โกตาบายา ราชปักษา” อดีตประธานาธิบดี หนีออกนอกประเทศสำเร็จ ในประเทศมีการประท้วงและบุกเข้าไปในทำเนียบประธานาธิบดีเมื่อสัปดาห์ก่อน เกิดการขาดแคลนเชื้อเพลิง และผ่านการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ “รานิล วิกรมสิงเห” ขึ้นมาเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2022
ความหวังในการปฏิรูปประเทศ
วีระสิงเหกล่าวสนับสนุนประธานาธิบดีคนใหม่ รานิล วิกรมสิงเห ว่าเป็นผู้ที่หนุนนโยบายปฏิรูปทางเศรษฐกิจ โดยเขาเองเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการเจรจากับ IMF
เขายังกล่าวด้วยว่า ศรีลังกามีการเจรจาขอเครดิตเงินกู้กับประเทศที่เป็นมิตรอีกหลายประเทศ เช่น อินเดีย ญี่ปุ่น จีน บังคลาเทศ
- IMF ให้คำมั่นช่วย ‘ศรีลังกา’ ภายใต้เงื่อนไขเงินกู้ที่ต้องใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่าง ‘ยั่งยืน’
- ADB คาด GDP ไทยปี 2022 อาจโตแค่ 2.9% หลังราคาพลังงาน-เงินเฟ้อสูงกว่าคาด
อย่างไรก็ตาม เขาโต้แย้งไม่เห็นด้วยกับรายงานที่มองว่า “ศรีลังกา” ได้ตกเข้าสู่ “กับดักหนี้ของจีน”
จีนนั้นเป็นนายทุนรายใหญ่ในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในศรีสังกา และจีนมีการต่ออายุสัญญากู้เงินให้ศรีลังกาด้วยเงื่อนไขที่คลุมเครือมาตลอดทศวรรษก่อน เช่น เมื่อศรีลังกาไม่สามารถจ่ายคืนหนี้ให้จีนได้ บริษัทจีนจึงได้สิทธิเช่าท่าเรือฮัมบันโตตายาวนาน 99 ปี
“ผมไม่เห็นด้วยกันคอนเซ็ปต์ที่ว่า เราติดกับดักจีน” วีระสิงเหกล่าว และเสริมด้วยว่าจีนเป็นผู้ลงทุนและช่วยเหลือศรีลังกามาตลอดเวลาอันยาวนาน “นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงมีหนี้จำนวนหนึ่งกับจีน” และเขายังบอกด้วยว่าโครงการที่จีนเข้ามาลงทุนนั้น “ดีมาก” และ “มีศักยภาพสูง”