อย่ามองข้ามพลังมหัศจรรย์ของดอกเบี้ยทบต้น

ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO Jitta Wealth

เชื่อมั้ยครับ ทุกวันนี้ น้อยคนนักที่จะรู้และเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง ‘พลังของดอกเบี้ยทบต้น’ ครับ ที่ผมเปิดประเด็นนี้ขึ้นมา เพราะการฝากเงิน ถือเป็นส่วนหนึ่งของการจัดพอร์ตลงทุน และสามารถทำผลตอบแทนให้คุณ ที่เป็นมากกว่าแค่แหล่งพักเงินด้วยครับ

ที่สำคัญ ตอบโจทย์หลักการสำคัญของการลงทุน คือ การกระจายการลงทุนที่จะช่วยสร้างสมดุลพอร์ตของคุณให้เติบโตอย่างมั่งคั่งและยั่งยืน

เกาะกระแสโลก ‘เทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้น’

ในเมื่อเวลานี้ โลกเรากำลังตกอยู่ในกระแส ‘ดอกเบี้ยขาขึ้น’ กันยาวข้ามปีกันครับ เมื่อหลายๆ ประเทศกำลังเผชิญกับ ‘ภาวะเงินเฟ้อสูงรุนแรง’ ที่จัดการยากลำบากยิ่งขึ้น หลังจากสัญญาณเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นแรงกว่าคาด นับตั้งแต่ต้นปีการเกิดภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ดันราคาน้ำมันพุ่งทะยานสูงสุด 130-140 ดอลลาร์/บาร์เรล ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ดีดเด้งรวดเร็ว ผลพวงต่างๆ เกิดขึ้นไล่หลังมารวดเร็ว ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) นำร่องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดต่อกันอย่างต่อเนื่องตลอดครึ่งปีแรก แต่ก็ยังไม่สามารถสกัดเงินเฟ้อลงได้ สร้างความกังวลต่อการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ และยังมีอีกหลายๆ ประเทศในยุโรปที่อาจเผชิญภาวะเดียวกันนี้ นำมาสู่ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยที่ตลาดกังวลอย่างมาก

สถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด ตัวเลขยอดค้าปลีกออกมาดีเกินคาด รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค แต่ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมิถุนายน พุ่งทะลุ 9.1% ทำนิวไฮรอบ 40 ปี สูงกว่าที่ตลาดนักวิเคราะห์ทั่วโลกคาดการณ์ไว้มาก ส่วนใหญ่ประเมินว่ามีโอกาสที่ Fed อาจเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแรงถึง 1% จากที่เฟดได้เคยคาดจะปรับขึ้น 0.75% ในรอบการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) ที่กำลังจะเกิดขึ้นในกลางเดือนกรกฏาคมนี้

ปัจจุบัน ดอกเบี้ยเฟดอยู่ที่ระดับ 1.50% -1.75% หลังจากที่ปรับขึ้นมาต่อเนื่อง 3 ครั้งแล้วนับตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยในการประชุม Fed เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คณะกรรมการ FOMC ระบุว่า การขึ้นดอกเบี้ย 0.75% เป็นสิ่งจำเป็น และยืนยันจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 3.4% ภายในสิ้นปี 2565 นี้ และเชื่อว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ แข็งแกร่งพอรองรับการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวด แม้อาจจะเห็น GDP ชะลอตัวก็ตาม

ข้อมูลจากมาตรวัดที่ใช้ติดตาม GDP แบบเรียลไทม์ หรือ Atlanta Fed’s GDP Now ล่าสุดแสดงว่าอัตราการเติบโต GDP สหรัฐฯ จะอยู่ที่ติดลบ 2.1%ในไตรมาสที่ 2 ถือเป็นการหดตัวลง 2 ไตรมาสติดต่อกัน หมายความว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปแล้ว และในวันที่ 28 กรกฏาคมนี้ จะเป็นวันประกาศประมาณการตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 2 ของสหรัฐฯ ด้วย ล่าสุด IMF หั่นคาดการณ์ GDP สหรัฐฯ ปี 2565 นี้ เหลือ 2.3%

Photo : Shutterstock

ความเคลื่อนไหวของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นสุดในรอบ 20 ปีด้วย โดย Dollar Index ซึ่งเป็นการเทียบค่าเงินดอลลาร์สหรัฐกับ 6 สกุลหลักของโลกแข็งค่าสู่ระดับ 109 ทำสถิติแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 20 ปี หลังจากที่ตลาดมีการคาดการณ์ว่าเฟดมีโอกาสขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1% เพื่อคุมเงินเฟ้อ การแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐกดดันให้ราคาทองคำ และราคาน้ำมันดิบปรับตัวลง

ค่าเงินบาทของไทย เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เวลานี้ปรับตัวอ่อนตัวลงกว่า 36 บาท/ดอลลาร์แล้ว แน่นอนว่า เศรษฐกิจไทยก็กำลังเผชิญโจทย์ใหญ่ ‘เงินเฟ้อพุ่งแรง’ เช่นกัน อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนมิถุนายน 2565 พุ่งขึ้นถึง 7.66% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งทำนิวไฮต่อเนื่อง และสูงสุดรอบ 13 ปี

ในรอบการประชุมเดือนสิงหาคมนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (MPC) ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ มีโอกาสที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกอย่างต่ำที่ระดับ 0.25% จากปัจจุบัน 0.50% เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่สูงขึ้นแรง แต่อีกด้านยังชั่งน้ำหนักกับการประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้มีความต่อเนื่องได้

บรรยากาศการลงทุนปกคลุมด้วยปัจจัยลบต่อทิศทางเงินทุนเคลื่อนย้าย (Fund Flow) และตลาดสินทรัพย์ต่างๆ ทั่วโลกมีความผันผวนในช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้น ตราสารหนี้ คริปโทเคอร์เรนซี รวมถึงสินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ นักลงทุนยิ่งเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น และหลายคนตั้งการ์ดสูงเก็บคองอเข่ากอดเงินสดอย่างเดียว

มีแค่ 20 ดอลลาร์สหรัฐ ซื้อเกาะแมนฮัตตันเมื่อ 400 ปีก่อนได้อย่างไร

จริงๆ แล้ว ผมก็อยากให้ตั้งหลักแล้วมองอีกด้านของโลกการลงทุน เมื่อเทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้นกำลังมา การฝากเงินก็เป็นโอกาสการลงทุนที่ง่ายๆ แต่จะทำอย่างไรให้สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้คุณได้

ใช่ครับ ผมกำลังจะมาเล่าลงลึกถึง ‘พลังของดอกเบี้ยทบต้น’ ที่น้อยคนจะรู้ว่า ดอกเบี้ยทบต้นนั้นเป็นตัวเลขที่มหัศจรรย์อย่างไร

ผมมีเรื่องเล่าของนักลงทุนระดับเทพของโลก ที่จะทำให้คุณเข้าใจอย่างชัดเจนด้วยว่า ผลตอบแทนเพียงแค่ 10% 15% หรือ 20% หากทบต้นไปเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เงินลงทุนของคุณเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณได้อย่างไร

Mohnish Pabrai
(Photo by Daniel Barry/Bloomberg via Getty Images)

‘โมนิช พาไบร’ (Mohnish Pabrai) เป็นนักลงทุนชาวอินเดียน อเมริกัน ที่เขียนหนังสือการลงทุนชื่อดังอย่าง The Dhandho Investor หรือชื่อไทยคือ นักลงทุนดันโด ที่มีประโยคยอดฮิตตลอดกาล คือ “ออกหัว ผมได้เงิน ออกก้อย ผมเสียเงินนิดหน่อย”

“พาไบร” ยังได้กล่าวว่า ‘เงิน 20 ดอลลาร์สหรัฐที่ใช้ซื้อเกาะแมนฮัตตันเมื่อประมาณ 400 ปีก่อน เป็นจำนวนเงินที่คุ้มค่า หากคุณเข้าใจพลังของดอกเบี้ยทบต้นอย่างแท้จริง’

‘โมนิช พาไบร’ เป็นนักลงทุนที่ได้รับแรงบันดาลใจอย่างมากจากนักลงทุนในตำนานสองปู่ ‘Warren Buffett และ Charlie Munger’ พาไบรเป็นแฟนคลับตัวยงของปู่เลยทีเดียว เขาเรียนรู้ศาสตร์การลงทุนจากปู่มาจนแทบจะโคลนนิ่งกันออกมา

‘พาไบร’ เป็นผู้ก่อตั้งและผู้บริหารกองทุน Pabrai Investment Funds ที่จัดตั้งขึ้นในปี 2542 ซึ่งเป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นคุณค่า หรือ VI ตามแบบฉบับของเขา เริ่มแรกกองทุนนี้มีมูลค่าสินทรัพย์แค่ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น เขาสามารถบริหารจัดการกองทุนให้เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง ในปี 2565 กองทุนนี้มีมูลค่าสินทรัพย์สูงกว่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สร้างผลตอบแทนทบต้นเฉลี่ยได้สูงถึง 11.4% ต่อปี ซึ่งหากคุณเอาเงิน 100,000 บาท ไปลงทุนในกองทุน Pabrai Investment Funds จะทำให้เงินเพิ่มขึ้นมาประมาณ 1,200,000 บาท ภายในระยะเวลา 23 ปี

เขาเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จด้วยผลงานที่ดี และได้เป็นอาจารย์สอนผู้คนเกี่ยวกับการลงทุนด้วย สิ่งหนึ่งที่เขามักนำมาสอนนักลงทุนมือใหม่อยู่เสมอ คือเรื่อง ‘พลังของดอกเบี้ยทบต้น’ ครับ

คุณคงอยากรู้ว่า เงิน 20 ดอลลาร์สหรัฐ ซื้อแมนฮัตตันทั้งเกาะได้อย่างไร ผมจะขอเล่าเรื่องเกี่ยวกับตัวเลข 72 ที่เป็นตัวเลขมหัศจรรย์ก่อน เพื่อจะช่วยให้คุณเข้าใจเรื่องดอกเบี้ยทบต้นง่ายขึ้น

ยกตัวอย่าง คุณลงทุนด้วยเงิน 100,000 บาท แล้วคุณได้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 7.2% ต่อปีมาทุกปี พอจะคาดเดาได้ไหมว่า เงินของคุณจะกลายเป็น 200,000 บาท ในปีที่เท่าไร

ตัวเลข 72 จะมาช่วยทำให้เรื่องนี้ง่ายขึ้น เพียงแค่คุณเอาเลข 72 หารด้วยอัตราผลตอบแทนเมื่อกี้ที่ 7.2 ซึ่งให้ตัดเปอร์เซ็นออก ผลลัพธ์จะเท่ากับ 10 นั่นหมายความว่า ภายในระยะเวลา 10 ปี เงิน 100,000 บาท ที่คุณลงทุนไปจะกลายมาเป็น 200,000 บาท หรือ 2 เท่า ในอัตราผลตอบแทน 7.2% ต่อปีนั่นเอง

อีกตัวอย่าง เงินลงทุน 100,000 บาท เท่าเดิม และได้ผลตอบแทนเฉลี่ยเท่ากับ 3.6% ต่อปี ก็เอา 72 หาร 3.6 จะได้ผลลัพธ์ออกมาเท่ากับ 20 ซึ่งหมายความว่าเงินลงทุน 100,000 บาท ของคุณจะกลายเป็น 200,000 บาท หรือ 2 เท่า ภายใน 20 ปี

Photo : Shutterstock

คุณน่าจะพอเข้าใจถึงสูตรมหัศจรรย์เลข 72 บ้างแล้ว ที่นี้เรื่องต่อจากนี้ คุณจะได้รู้แล้วว่า 20 ดอลลาร์สหรัฐ ใช้ซื้อเกาะแมนฮัตตันได้อย่างไร

พาไบร ได้เล่าว่าในยุคล่าอาณานิคมเมื่อ 400 ปีก่อน ช่วงที่ชาวดัตช์มีอำนาจเป็นอย่างมาก ได้เดินทางมาถึงเกาะแห่งหนึ่งที่ในปัจจุบันเรียกว่า ‘แมนฮัตตัน’ ซึ่งถูกปกครองโดยชนเผ่าอินเดียนแดงในสมัยนั้น ชาวดัตช์ได้เข้าไปพูดคุยกับชนเผ่าอินเดียนแดง ได้ข้อสรุปว่า ชาวดัตช์กลุ่มนี้ซื้อเกาะแมนฮัตตันในราคาเพียงแค่ 20 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ซึ่งเป็นราคาที่ถูกมากจนแทบไม่น่าเชื่อ

หลายคนอาจคิดว่า ชาวอินเดียนแดงถูกชาวดัตช์เอาเปรียบมากเลย ที่เสียดินแดนไปด้วยเงินแค่ 20 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น และคงคิดว่าบ้าไปแล้ว แต่พาไบรได้แสดงมุมมองว่า หาก 400 ปีก่อน มีการลงทุนเกิดขึ้นแล้ว และชนเผ่าอินเดียนแดงตัดสินใจว่าจะนำเงิน 20 ดอลลาร์สหรัฐ ที่ได้ไปลงทุนเพื่อประโยชน์ของชนเผ่า จะทำให้เงิน 20 ดอลลาร์สหรัฐนั้นเติบโตขึ้นมาเท่าไรในปัจจุบัน

ถ้าชนเผ่าอินเดียนแดงนำเงิน 20 ดอลลาร์สหรัฐ ไปลงทุน โดยให้อัตราผลตอบแทนแค่ 7.2% ต่อปี และทบต้นมาเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี ก็จะทำให้เงินลงทุนกลายเป็น 2 เท่า (ตามที่ผมได้เล่าไว้ก่อนเรื่องตัวเลข 72 มหัศจรรย์ข้างต้น) นั่นก็คือ จากเงิน 20 ดอลลาร์สหรัฐกลายเป็น 40 ดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อผ่านไป 20 ปี ก็จะทำให้เงิน 40 ดอลลาร์สหรัฐ กลายเป็น 80 ดอลลาร์สหรัฐ จนเวลาผ่านไป 30 ปี จะทำให้เงิน 80 ดอลลาร์สหรัฐ กลายเป็น 160 ดอลลาร์

จะเห็นว่า เงินลงทุนจะทบต้นกลายเป็น 2 เท่า ในทุก 10 ปี แต่จำได้ไหมว่าเรื่องเล่านี้ เกิดขึ้นเมื่อ 400 ปีก่อน หากคุณลงทุนเงิน 20 ดอลลาร์สหรัฐ ด้วยผลตอบแทน 7.2% ต่อปี เป็นเวลา 400 ปี ก็จะทำให้เงิน 20 ดอลลาร์สหรัฐ นั้นเพิ่มขึ้นมาเป็นเลขกลมๆ ราว 24 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

Photo : Shutterstock

พลังมหัศจรรย์ของดอกเบี้ยทบต้น จากเงิน 20 ดอลลาร์สหรัฐ ด้วยผลตอบแทนทบต้น เฉลี่ยปีละ 7.2% ในระยะเวลา 400 ปี เพิ่มขึ้นมาเป็นเงินก้อนใหญ่ถึง 24 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปัจจุบัน

หากนำเงิน 24 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐมาเปรียบเทียบกับเกาะแมนฮัตตันในปัจจุบัน จะพบว่าเงิน 20 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อ 400 ปีก่อน เติบโตนำหน้ามูลค่าของแมนฮัตตันทั้งเมืองไปไกลมากๆ และหากรวมความมั่งคั่งของประชาชนไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่และเด็กๆ ทุกคนในสหรัฐอเมริกา จะอยู่ที่ประมาณ 125 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเงิน 24 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 19.2% ของความมั่งคั่งประชาชนทุกคนในสหรัฐฯ หรืออาจจะเท่ากับความมั่งคั่งของประชากรในประเทศใดประเทศหนึ่ง

เห็นแล้วใช่มั้ยครับว่า ความมหัศจรรย์ของดอกเบี้ยทบต้น ที่ทำให้เงิน 20 ดอลลาร์สหรัฐ กลายเป็น 24 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในระยะเวลา 400 ปี นั่นคือเหตุผลที่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ อัจฉริยะของโลกได้กล่าวเอาไว้ว่า “ดอกเบี้ยทบต้นเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่แปดของโลกใบนี้”

พาไบร มักย้ำเสมอ ผลตอบแทนเพียงแค่ 7.2% ที่หลายๆ คนมองว่าน้อยนิด หากผ่านไประยะเวลานาน จะทำให้เงิน 20 ดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้นได้มหาศาล

3 ปัจจัยสำคัญ สร้างเงินลงทุนเติบโตได้อย่างยั่งยืน

เขายังมีอีกเรื่องที่เล่าบ่อยๆ เป็นนิทานโบราณจากอินเดีย ชื่อเรื่อง ‘ข้าวและกระดานหมากรุก’ ที่ทำให้เห็นถึงความมหัศจรรย์ของดอกเบี้ยทบต้นมากยิ่งขึ้น

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในอาณาจักรแห่งหนึ่ง มีนักปราชญ์ได้สร้างเกมหมากรุกขึ้นมา และนำไปโชว์ให้กับพระราชาได้รู้จัก และกลายเป็นเกมโปรดของพระราชา นักปราชญ์ท่านี้มักจะเล่นเกมนี้เสมอยามว่าง พระราชาพอพระทัยมาก จึงต้องการตบรางวัลใหญ่ให้กับนักปราชญ์ผู้คิดค้นเกมหมากรุก จึงได้ถามนักปราชญ์ต้องการรางวัลอะไร สิ่งที่นักปราชญ์ขอกับพระราชาคือ “เมล็ดข้าว” เท่านั้น

แต่วิธีขอของนักปราชญ์ คือ ให้พระราชาวางข้าว 1 เมล็ดบนช่องแรกของกระดานหมากรุก และ 2 เมล็ดบนช่องสองของกระดาน และ 4 เมล็ดบนช่องสามของกระดาน และเพิ่มจำนวนเมล็ดข้าวเป็น 2 เท่าไปเรื่อยๆ จนครบทั้ง 64 ช่อง ของกระดานหมากรุก ซึ่งถ้าวางเมล็ดข้าวจนครบแล้ว นั่นก็คือจำนวนข้าวที่นักปราชญ์ต้องการ

Photo : Shutterstock

พระราชาคิดว่ามันเป็นคำขอที่โง่มาก เพราะคิดว่านักปราชญ์ต้องการข้าวเพียงไม่กี่เมล็ด จึงได้ให้เหรัญญิกไปหาข้าวมาวางให้กับนักปราชญ์ เมื่อเวลาผ่านมา 1 สัปดาห์ นักปราชญ์ก็ยังไม่ได้ข้าวตามที่ต้องการ พระราชาจึงเรียกเหรัญญิกมาไต่ถาม ทำไมถึงใช้เวลานานในการหาข้าวที่คิดว่าไม่กี่เมล็ด

เหรัญญิกจึงเฉลยว่า ทั้งอาณาจักรและทั้งโลกมีเมล็ดข้าวไม่เพียงพอ เพราะจากที่ไปคำนวณเมล็ดข้าวที่ต้องวาง 2 เท่าไปเรื่อยบนกระดานหมากรุกทั้งหมด 64 ช่อง จะได้จำนวนเมล็ดตัวเลขกลมๆ ราว 18 ล้านล้านล้านเมล็ด ซึ่งเป็นจำนวนประมาณที่ลดเมล็ดข้าวลงไปแล้ว 400,000 ล้านล้านเมล็ดแล้วด้วย

หากนำเมล็ดข้าวทั้งหมดคำนวณออกมาเป็นตัน จำนวนข้าวที่นักปราชญ์ต้องการประมาณ 360,000 ล้านตัน ด้วยจำนวนเมล็ดข้าวเท่านี้จะแปลงเป็นเงินในปัจจุบันประมาณ 144 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคิดราคาข้าว 400 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 ตัน ในที่สุด นักปราชญ์ผู้นี้บอกกับพระราชาว่า ไม่ต้องให้ข้าวทั้งหมดในทันทีก็ได้ โดยตอนจบนักปราชญ์ก็ได้กลายเป็นผู้ที่รวยที่สุดในโลกตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

นิทานเรื่องนี้ได้สอนให้รู้ว่า อย่าดูถูกพลังและความมหัศจรรย์ของดอกเบี้ยทบต้นเป็นอันขาดครับ

นิทานทั้งสองเรื่องนี้ของ ‘โมนิช พาไบร’ น่าจะทำให้คุณได้เข้าใจถึงความมหัศจรรย์ของดอกเบี้ยทบต้นนะครับ

เซียนหุ้นแห่ง Wall Street ชาวอินเดียนอเมริกัน ยังได้แยก 3 ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เงินลงทุนของคุณสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย ‘เงินต้น ผลตอบแทนทบต้น เวลา’

และนี่คือเหตุผลที่นักลงทุนระดับโลกหลายคน ล้วนแนะนำให้คุณ ‘ลงทุนระยะยาว’ เพื่อที่จะให้เงินของคุณได้ทบต้นไปเรื่อยๆ และเพิ่มพลังมหัศจรรย์ให้กับพอร์ตลงทุนของคุณครับ