เรือขนส่ง “ธัญพืช” ลำแรกเดินทางออกจาก “ยูเครน” ความหวังกอบกู้วิกฤตอาหารโลก

ท่าเรือโอเดสซา ในยูเครน (Photo: Shutterstock)
นับตั้งแต่รัสเซียเริ่มเปิดฉากบุกทางการทหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 เรือลำนี้เป็นเรือขนส่งลำแรกที่ได้ออกจากท่าเรือโอเดสซา ประเทศยูเครน โดยบรรทุก “ข้าวโพด” หนัก 26,000 ตันออกจำหน่าย ถือเป็นความสำเร็จเป็นรูปธรรมนับตั้งแต่ UN เข้าไกล่เกลี่ยเจรจาทุกฝ่าย เพื่อเปิดทางให้ยูเครนได้ส่งออกอาหาร กู้วิกฤตโลก

สหประชาชาติ (UN) และตุรกีเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยระหว่างรัสเซียและยูเครนเมื่อเดือนก่อน เพื่อให้มีการส่งออกธัญพืชทางเรือได้ตามปกติ และเมื่อวานนี้ (1 ส.ค. 2022) นับได้ว่าเกิดความสำเร็จขั้นแรกแล้ว เมื่อเรือลำแรกเริ่มออกเดินทางจากท่าเรือโอเดสซา ประเทศยูเครน

กระทรวงกลาโหมแห่งประเทศตุรกีรายงานว่า เรือชื่อ Razoni ซึ่งเป็นเรือสัญชาติเซียร์รา-ลีโอนที่ประกอบในประเทศจีน ออกเดินทางจากท่าเรือโอเดสซาแล้วในเวลา 06:00 GMT บนเรือบรรทุก “ข้าวโพด” หนัก 26,000 ตัน เพื่อนำไปส่งที่ท่าเรือเมืองตริโปลี ทางเหนือของเลบานอน

เรือ Razoni จะต้องแล่นไปอย่างช้ามากๆ เพราะในทะเลดำซึ่งเป็นทางผ่านไปยังเลบานอนนั้น ยังเต็มไปด้วยทุ่นระเบิดของกำลังทหารฝ่ายยูเครนซึ่งใช้ป้องกันการบุกรุกทางทะเลของทหารเรือฝ่ายรัสเซีย ทั้งนี้ การเดินทางและการขนถ่ายสินค้าของเรือลำนี้จะได้รับการสังเกตการณ์ร่วมทั้งจากประเทศยูเครน รัสเซีย ตุรกี และเจ้าหน้าที่ UN

 

ทำไมการขนส่งข้าวโพดของเรือลำนี้จึงสำคัญต่อโลก?

ยูเครนและรัสเซียนั้นเป็นผู้ส่งออกธัญพืชที่ใหญ่ที่สุดของโลก แต่สงครามระหว่างกันทำให้พื้นที่ทะเลดำกลายเป็นเขตหวงห้ามไปโดยปริยาย ยูเครนจึงส่งออกธัญพืชได้ยากมากจนปริมาณการส่งออกธัญพืชของปีนี้ลดลงเหลือเพียง 1 ใน 6 ของช่วงเวลาปกติ

ข้าวสาลี
ทั้งรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีและธัญพืชรายใหญ่

เมื่อซัพพลายธัญพืชลดลงกะทันหัน ราคาในตลาดโลกจึงปรับสูงขึ้น ผู้ได้รับผลกระทบจึงเป็นผู้มีรายได้ต่ำทั่วโลก ตามการรายงานของ World Food Programme โดย UN พบว่าปัจจุบันมีคน 47 ล้านคนทั่วโลกที่อยู่ในภาวะ “หิวโหยรุนแรง”

UN จึงเข้าไปเจรจาและเกิดผลสำเร็จ มีการลงนามในสัญญาเมื่อเดือนก่อนเพื่อเปิดทางให้การขนส่งธัญพืชและสินค้าเกษตรทำได้ผ่านทะเลดำเช่นเดิม เพื่อช่วยเหลือให้คนทั่วโลกพ้นจากภาวะอดอยาก ด้วยการส่งข้าวสาลี น้ำมันดอกทานตะวัน ปุ๋ย ฯลฯ เข้าสู่ตลาดโลก โดยสัญญานี้คาดหวังว่าจะทำให้มีการส่งออกธัญพืชได้เฉลี่ย 5 ล้านตันต่อเดือน

ฟากยูเครนก็จะได้รับประโยชน์เช่น “Oleksandr Kubrakov” รัฐมนตรีกระทรวงโครงสร้างพื้นฐานยูเครน กล่าวว่า การขนส่งเหล่านี้จะทำให้ประเทศเกิดรายได้อย่างน้อย 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 36,000 ล้านบาท) เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างโอกาสให้ภาคเกษตรกรรมในปีหน้า

 

สัญญานี้จะมีผลยาวนานแค่ไหน?

ยูเครนระบุว่า มีเรืออีก 16 ลำที่รอคิวออกจากท่าเรือโอเดสซาแล้ว ณ ขณะนี้ ส่วนสัญญาที่ลงนามกันเมื่อเดือนก่อน จะมีผลยาว 120 วัน แต่จะต่อสัญญาอัตโนมัติออกไปเรื่อยๆ ยกเว้นว่าสงครามจะสิ้นสุดลงแล้ว

เส้นทางขนส่งธัญพืชทางเรือจากยูเครนสู่เลบานอน จะต้องผ่านประเทศตุรกี และจะเป็นจุดแวะพักเพื่อตรวจตราความเรียบร้อยจากทุกฝ่าย

ฝั่งเพื่อนบ้านอย่างตุรกี โฆษกรัฐบาลได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2022 เชื่อว่า ข้อตกลงฉบับนี้อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นกรุยทางไปสู่สันติภาพระหว่างสองฝ่ายได้

แต่ก็ใช่ว่าการขนส่งจะทำได้แบบสะดวกโยธิน เพราะแม้รัสเซียจะเซ็นสัญญาไม่โจมตีเรือขนส่งสินค้าเกษตร แต่ก็ยังมีการทำสงครามในน่านน้ำทะเลดำและเขตท่าเรือของยูเครนต่อไป นับตั้งแต่มีการเซ็นสัญญาดังกล่าว รัสเซียโจมตีพื้นที่รอบท่าเรือโอเดสซาไปแล้ว 3 ครั้ง จึงต้องจับตาดูต่อไปว่าข้อตกลงจะมีเสถียรภาพแค่ไหน

ประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบจากการปิดน่านน้ำทะเลดำเช่นกัน เพราะเรามีการนำเข้าธัญพืชจากยูเครนมากกว่า 10% ของการนำเข้าธัญพืชทั้งหมด เมื่อซัพพลายลด ราคาสูงขึ้น ส่งผลต่อเนื่องถึงราคาอาหารสัตว์ ดันราคาเนื้อสัตว์สูงขึ้น และอาหารคนบางประเภทที่ใช้ข้าวสาลี เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมปัง ก็ปรับสูงขึ้นด้วย

source