พายุเศรษฐกิจลูกใหม่กำลังก่อตัวจาก “เอลนีโญ” เตรียมรับมือราคา “อาหาร” พุ่งสูง

ภาพจาก Shutterstock
หลังจากทั่วโลกเผชิญภาวะเงินเฟ้อและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จนถึงจุดที่หลายฝ่ายเชื่อว่าน่าจะเข้าสู่จุดสูงสุดแล้ว แต่พายุเศรษฐกิจลูกใหม่กำลังก่อตัวจากความแปรปรวนทางภูมิอากาศ ปีนี้ทั่วโลกกำลังเข้าสู่ภาวะ “เอลนีโญ” ซึ่งจะทำให้บางส่วนของโลกเกิดฝนตกหนักและน้ำท่วม ขณะที่บางส่วนเกิดภัยแล้งและไฟป่า แต่ผลร่วมกันคือพืชพันธุ์ทางการเกษตรจะเสียหาย และราคา “อาหาร” จะพุ่งสูง

หลายสำนักพยากรณ์และผู้เชี่ยวชาญทางภูมิอากาศเห็นตรงกันว่าโลกเรากำลังเผชิญ “เอลนีโญ” แห่งปี 2023 ไม่ว่าจะเป็นกรมอุตุนิยมวิทยาแห่งออสเตรเลีย หรือสำนักงานวิจัยทางทะเลและชั้นบรรยากาสแห่งชาติสหรัฐฯ ต่างเห็นว่าเอลนีโญกำลังทำให้เกิดภาวะอากาศแปรปรวนไปทั่วโลก และจะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย ซัพพลายวัตถุดิบอาหารขาดตลาด ราคาพุ่ง เป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจ

“เอลนีโญ” ปี 2023 อาจจะเป็นปีที่ร้ายแรงที่สุดที่เคยเกิดขึ้น ตามการคาดการณ์ของ กรมอุตุนิยมวิทยาแห่งออสเตรเลีย พบว่าอุณหภูมิในมหาสมุทรแปซิฟิกปรับสูงขึ้นมาแล้ว 0.5 องศาเซลเซียส และเป็นไปได้ว่าจะเพิ่มขึ้นไป 3.2 องศาเซลเซียสภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ หากเกิดขึ้นจริง นั่นหมายความว่าเอลนีโญปีนี้จะทำให้น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้นเป็นสถิติใหม่ หลังจากน้ำทะเลเคยร้อนขึ้นสูงสุด 2.6 องศาเซลเซียสในปี 2016

นาข้าว

ในส่วนอื่นของโลกก็เริ่มเห็นผลกระทบแล้ว Annalisa Bracco ศาสตราจารย์ด้านมหาสมุทรและกลศาสตร์ภูมิอากาศ Georgia Institute of Technology พบว่า อุณหภูมิมหาสมุทรพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 40 ปีมาตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2023 มหาสมุทรที่ร้อนขึ้น มีผลต่อความร้อนบนแผ่นดิน และความแปรปรวนทางภูมิอากาศ

ปัจจุบันทวีปยุโรปในบริเวณประเทศสเปน ฝรั่งเศส อังกฤษ และกลุ่มสแกนดิเนเวีย มีฝนตกน้อยกว่าปกติ ทำให้ประเทศนอร์เวย์เข้าสู่ภาวะภัยแล้งเช่นเดียวกับที่เคยเผชิญในปี 2018

เช่นเดียวกับในมหาสมุทรอินเดีย อุณหภูมิเริ่มร้อนขึ้นมาตั้งแต่เดือนเมษายน ซึ่งทำให้ฤดูมรสุมที่ควรเริ่มมีฝนตกชุกตั้งแต่เดือนพฤษภาคมในเขตเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันกลับมีฝนตกเบาบางกว่าที่ควร และจะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทานเสียหาย ในพื้นที่ป่ามีโอกาสเกิดไฟป่าสูงขึ้น รวมถึงเกิดคลื่นความร้อนในทะเล

ในทางกลับกัน พื้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกาจะเผชิญกับฝนตกหนักและพายุ ทำให้เกิดอุทกภัย แต่สร้างความเสียหายต่อพื้นที่เกษตรกรรมเช่นกัน

 

ข้าว กาแฟ น้ำตาล ถั่วเหลือง เตรียมตัวรับผลกระทบ

ปัจจุบันราคาสินค้าโภคภัณฑ์ด้านการเกษตรบางชนิดเริ่มปรับราคาขึ้นแล้ว เช่น “ข้าว” ทำราคาสูงสุดเป็นสถิติใหม่ในรอบ 15 ปีไปเมื่อเดือนมิถุนายน เพราะผู้ผลิตข้าวแหล่งสำคัญของโลก ได้แก่ อินเดีย ไทย และเวียดนาม ต่างอยู่ในเขตที่จะได้รับผลกระทบภัยแล้งจากเอลนีโญทั้งหมด โดยรัฐบาลไทยได้ให้คำแนะนำกับชาวนาไทยไปแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคมว่าปีนี้ควรจะ ‘ทำนาเพียงรอบเดียว’ เนื่องจากภัยแล้ง หมายความว่าผลผลิตข้าวของไทยปีนี้จะลดน้อยลง

ในกรณีเวียดนาม มีสินค้าโภคภัณฑ์อีกชนิดที่จะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งคือ “กาแฟ” โดยเวียดนามเป็นแหล่งปลูกกาแฟพันธุ์โรบัสต้าซึ่งนิยมนำไปผลิตกาแฟผงสำเร็จรูป เมื่อสัปดาห์ก่อนราคาสัญญาซื้อล่วงหน้าของกาแฟโรบัสต้าพุ่งขึ้นไปแตะสถิติสูงสุดในรอบ 15 ปีแล้วเช่นกัน และเป็นการปรับขึ้นสูงถึง 60% ภายในรอบปีเดียว

ฟากประเทศอินเดียเริ่มเคลื่อนไหวเพื่อป้องกันการขาดแคลนอาหารในประเทศแล้ว โดยอินเดียออกคำสั่งห้ามส่งออก “น้ำตาล” ไปจนถึงครึ่งปีแรกของปี 2024 เนื่องจากความกังวลเรื่องเอลนีโญจะมีผลต่อการปลูกอ้อย และจะทำให้ราคาน้ำตาลในประเทศสูงขึ้น โดยอินเดียถือเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก เมื่ออินเดียงดส่งออกไปจนถึงปีหน้า จึงมีแนวโน้มสูงที่ราคาน้ำตาลโลกจะพุ่งขึ้น

ขณะที่ในฝั่งสหรัฐฯ ดังที่กล่าวไปว่าเอลนีโญจะทำให้มีฝนตกหนัก ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญของสหรัฐฯ เช่น ถั่วเหลือง จะมีความเสี่ยงขาดแคลนซัพพลายในปีนี้

นี่เป็นเพียงตัวอย่างสินค้าเกษตรบางชนิดเท่านั้น และจากกรณีของอินเดียที่ห้ามส่งออกน้ำตาลเพราะเกรงซัพพลายใช้ไม่เพียงพอในประเทศหรือราคาในประเทศสูงเกินไป จึงมีความเป็นไปได้ที่ประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่อื่นๆ อาจจะใช้มาตรการเดียวกันกับสินค้าชนิดอื่น จนเกิดซัพพลายวัตถุดิบอาหารบางชนิดขาดแคลนหรือราคาพุ่งขึ้น ยังผลต่อราคาอาหารโดยรวมของคนทั้งโลก

การคาดการณ์เหล่านี้มองไปเพียงรอบ 1 ปีข้างหน้า แต่องค์กรอุตุนิยมวิทยาโลกประเมินว่าภาวะ “เอลนีโญ” จะไม่จบลงในปีเดียว เพราะมีโอกาสถึง 98% ที่โลกเราอาจต้องเผชิญกับสภาวะอุณหภูมิโลกร้อนผิดปกติไปอีก 5 ปี เนื่องจากในยุคนี้ปัจจัยความร้อนโลกไม่ได้มีแค่เอลนีโญแต่ยังผสมกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สะสมมานาน ซึ่งทำให้ผู้นำด้านนโยบายของประเทศต่างๆ ต้องเร่งจัดการกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดการใช้ถ่านหิน

ที่มา: Reuters, FastCompany