DITP พาผู้ประกอบการไทย บุกอีคอมเมิร์ซระดับโลกแบบไร้พรมแดน


เมื่ออินเทอร์เน็ตได้เข้ามามีบทบาทต่อวิถีชีวิตประจำวันต่อคนไทยรวมไปถึงผู้คนทั่วโลก ส่งผลให้การค้นหาข้อมูลและการเลือกซื้อสินค้าเป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็ว แน่นอนว่าต้องส่งผลต่อพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าเป็นอย่างมาก ทำให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างก้าวกระโดด เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าได้เพิ่มขึ้น


ช็อปออนไลน์แบบไร้พรมแดน!

ตัวแปรสำคัญที่ทำให้อีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างก้าวกระโดดคือ การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้เกิดข้อจำกัดด้านการเดินทางและการใช้ชีวิตประจำวัน ต้องปรับการใช้ชีวิตมาอยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้น มีการพบปะผู้คนและเดินทางท่องเที่ยวผ่านโลกเสมือนจริง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งภายในประเทศและผ่านช่องทางออนไลน์ข้ามพรมแดนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

จึงถือเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการไทยที่จะใช้โอกาสนี้ในการขยายตลาดสู่ต่างประเทศผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน


DITP ขานรับนโยบาย ดันผู้ประกอบการไทยสู่เวทีโลก

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์) ได้กำหนดนโยบายของกระทรวงเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการค้าของประเทศในการผลักดันผู้ประกอบการไทยให้เข้าถึงผู้บริโภคต่างแดนมากขึ้น และหนึ่งในนโยบายสำคัญคือ การเสริมสร้างผลักดันเศรษฐกิจยุคใหม่ โดยมีการค้าออนไลน์เป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญ

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ ขานรับนโยบายการสนับสนุนการค้าออนไลน์เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้า ด้วยการผลักดันผู้ประกอบการไทยขยายตลาดสู่ต่างประเทศผ่านช่องทางออนไลน์ข้ามพรมแดน รวมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์พันธมิตรในตลาดต่างประเทศภายใต้กิจกรรมต่างๆ เช่น การเปิดหน้าร้าน TOPTHAI ซึ่งเป็นร้านค้าออนไลน์ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศบนแพลตฟอร์ม e-Commerce ชั้นนำในต่างประเทศ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “TOPTHAI ร้านจำหน่ายสินค้าท็อปๆ จากประเทศไทย ที่ผ่านการคัดสรรจากหน่วยงานภาครัฐที่มีความน่าเชื่อถือ” โดยกรมได้เปิดร้าน TOPTHAI ไปแล้วบน 7 แพลตฟอร์มชั้นนำใน 9  ประเทศ รวมไปถึงการจัดตั้ง Thaitrade.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ e-Marketplace Platform เพื่อรองรับการค้าผ่านช่องทางออนไลน์ระหว่างประเทศ พัฒนาบนโครงสร้างพื้นฐานที่มีลักษณะเป็นแบบ Microservice เพื่อรองรับการค้าออนไลน์ในรูปแบบ Business to Business (B2B) และ Business to Customer (B2C) และโครงการ “Cross-Border e-Commerce ขายออนไลน์สู่ตลาดโลก” ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้พบปะกับผู้นำเข้าจากแพลตฟอร์มออนไลน์พันธมิตรชั้นนำในตลาดต่างประเทศทั้งจากยุโรป สหรัฐเอเมริกา อินเดีย จีน และอาเซียน เพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจออนไลน์ข้ามพรมแดน เกิดการจับคู่เจรจาการค้าและสร้างมูลค่าการซื้อขายอย่างยั่งยืนต่อไป

สำหรับ “Cross Border e-Commerce ขายออนไลน์สู่ตลาดโลก” ปี 2565 มีกำหนดจัดในรูปแบบ Webinar จำนวน 8 ครั้ง ควบคู่ไปกับ Online Business Matching โดยล่าสุดมีการจัด Webinar ไปแล้ว 5 ครั้ง ร่วมกับ แพลตฟอร์ม Amazon (สหรัฐอเมริกา), PChome Thai (ไต้หวัน), KlangOne (กัมพูชา), ผู้จัดการร้าน Thailand Food Country Tmall Official Store บนแพลตฟอร์ม Tmall และล่าสุดแพลตฟอร์ม Bigbasket ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มซุปเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์อันดับหนึ่งของประเทศอินเดีย ร่วมกับ บริษัท Reach 360 Activation ผู้นำเข้าเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่ขึ้นขายบน Amazon India เกิดการจับคู่เจรจาธุรกิจและสร้างมูลค่าคาดการณ์การซื้อขายกว่า 165 ล้านบาทและคาดว่าหลังจากจบโครงการจะมีมูลค่าการซื้อขายตลอดโครงการกว่า 250 ล้านบาท

ทั้งนี้ กรมได้ริเริ่มจัดโครงการ “Cross-Border e-Commerce ขายออนไลน์สู่ตลาดโลก” เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ซึ่งเดิมจะเป็นการจัดแบบ Roadshow ตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย แต่การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้กรมปรับรูปแบบการ จัดกิจกรรมมาเป็นออนไลน์เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ อย่างไรก็ตามโครงการนี้ก็ยังได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการไทยด้วยดีอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากจำนวนผู้เข้าร่วมรับฟัง Webinar กว่า 2,000 ราย จากทั่วประเทศ และความสำเร็จที่ผู้ประกอบการได้รับ

อย่างที่ใครบอกไว้ว่า 10 ปากว่า ไม่เท่าตาเห็น เราจึงมีเสียงตอบรับจากผู้ประกอบการที่ได้เข้าร่วมโครงการจริง มาร่วมถ่ายทอดความประทับใจจากการเข้าร่วมโครงการนี้ เรียกว่าเป็นการพลิกชีวิตเลยก็ว่าได้ เพราะมีออเดอร์ปังๆ เข้ามาตลอด แถมมีรายได้เฉลี่ยถึงหลักแสน! รวมถึงถึงทำให้แบรนด์มีความน่าเชื่อถือมากขึ้นด้วย

นายณัฐวุฒิ เผ่าปรีชา จากแบรนด์ Wel-B ผลไม้อบกรอบ ได้เข้าร่วมโครงการ ได้เจรจาธุรกิจกับแพลตฟอร์ม PChome Thai เป็นครั้งแรก ได้บอกว่ามีความประทับใจที่ DITP เปิดโอกาสให้ SMEs เล็กๆ ก้าวสู่ตลาดโลกได้ การขึ้นขายบน PChome Thai ทำให้เปิดโอกาส และเปิดจำนวนในการส่งออกสินค้าได้มากขึ้น และที่มากไปกว่านั้น PChome Thai ขอดีลเพื่อเป็น Agent ตรงในการส่งออกสินค้าของ Wel-B อีกด้วย เพียงไม่กี่เดือนนับตั้งแต่มีการเจรจาธุรกิจ Wel-B มียอดขายถึงหลักแสน และยังมีออเดอร์เข้ามาอย่างต่อเนื่อง สร้างโอกาสใหม่ๆ มากมาย

ทางด้านของ คุณก้องไพร คอนศรี เจ้าของแบรนด์ KhunPhai ได้แชร์ประสบการณ์ว่า แม้ว่าก่อนหน้านี้เคยร่วมงานกับ DITP มาแล้ว เคยไปออกบูธที่ต่างประเทศด้วยหลายครั้ง แต่หลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการ Cross-Border ทำให้ได้ความรู้ในการพัฒนาตนเองเยอะขึ้น สำหรับแบรนด์ KhunPhai ไม่เคยขายบนออนไลน์มาก่อน เคยแต่ทำเรื่องขึ้นขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์อื่นๆ ก็ใช้เวลานาน และไม่ได้ขึ้นขายจริงๆ แต่โครงการนี้ทำให้ได้ขึ้นขายบน PChome Thai มีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยากและได้ขึ้นขายจริง ตลาดไต้หวันก็ขายดีมากๆ มีออเดอร์เข้ามาตลอดเวลา ทำให้ธุรกิจของตนเองมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นด้วย

ปิดท้ายด้วย คุณภรณ์ภัสสร โล่ภิญโญสิริ เจ้าของแบรนด์ Sangtawan ได้ทำธุรกิจ SME มา 19 ปีแล้ว และได้ร่วมงานกับ DITP มาโดยตลอดตั้งแต่งานที่จัดในรูปแบบออฟไลน์ มาจนถึงรูปแบบออนไลน์ตามสถานการณ์ในปัจจุบัน ทางแบรนด์เน้นส่งออกสินค้าในช่องทางออนไลน์ในสัดส่วน 80% อยู่แล้ว และตลาดหลักอยู่ในโซนอาเซียน เรียกว่าสอดคล้องกับนโยบายของทาง DITP ที่ได้ร่วมมือกับแพลตฟอร์มในการร่วมหาช่องทางต่างๆ มาให้กับผู้ประกอบการอยู่ตลอด การร่วมงานกับ PChome Thai ในโครงการที่ผ่านมา เรียกว่าเป็นการเปิดตลาดไต้หวันเป็นครั้งแรกเลยทีเดียว และเป็นตลาดหลักในการส่งออกอยู่ ณ ตอนนี้ด้วย ซึ่งนับตั้งแต่มีการเจรจาธุรกิจตลอด 3 เดือนที่ผ่านมาก็มียอดสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง โครงการได้สนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีช่องทางในการเปิดตลาดสู่ต่างประเทศมากขึ้น

นับเป็นความสำเร็จของกรมที่สามารถก้าวข้ามขีดจำกัดด้านการเดินทาง และกระจายโอกาสให้กับ SMEs ไทยที่ไม่สามารถเข้าร่วมงานแบบ Onsite ได้ โดยกรมวางแผนที่จะเร่งสร้างพันธมิตรด้านการค้าออนไลน์ใหม่ๆ รวมทั้งผู้นำเข้า/ผู้ขาย (Resellers) ที่มีความเชี่ยวชาญในการขายสินค้าไทยบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างประเทศ

สำหรับกิจกรรม Cross-Border e-Commerce ขายออนไลน์สู่ตลาดโลก ยังมีอย่างต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกันยายน 2565 ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารได้ทาง www.facebook.com/ThaiTradedotcom