ธนาคารกสิกรไทย (KBank) เปิดสาขาแรกใน “เวียดนาม” วางกลยุทธ์ 3 ด้านเพื่อบุกตลาด เน้นการพัฒนาบริการ “ดิจิทัล” เช่น แอปฯ K PLUS ดึงลูกค้าคนหนุ่มสาว พร้อมลงทุนในสตาร์ทอัพเพื่อเปิดบริการทางการเงินแบบใหม่ วางเป้าหมายปี 2566 ลูกค้าบุคคลแตะ 1.2 ล้านราย และปล่อยสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท มองศักยภาพเวียดนามเป็นตลาดเติบโตเร็ว ขึ้นแท่นอันดับ 2 ในตลาดต่างประเทศของกสิกรไทยรองจากประเทศจีน
“ขัตติยา อินทรวิชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวถึงแผนของธนาคารในกลุ่มต่างประเทศ AEC+3 ในรอบ 3 ปีต่อจากนี้ ธนาคารมีการวางงบลงทุนไว้ 2,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยี เสริมทัพทีมงาน ลงทุนในสตาร์ทอัพ และเข้าซื้อกิจการ
โดยจะใช้ยุทธศาสตร์สำคัญในการทำตลาดต่างประเทศคือ การเป็น Asset-Light Digital Banking Strategy เน้นความร่วมมือกับบริษัทเทคหรือสตาร์ทอัพในท้องถิ่นเพื่อใช้บริการ “ดิจิทัล” เป็นจุดดึงดูดผู้ใช้งาน วาง 3 กลยุทธ์ในการทำงาน ได้แก่
- ขยายสินเชื่อให้กับลูกค้าธุรกิจ (Aggressive Play) ทั้งลูกค้าบริษัทไทย-ต่างประเทศที่เข้าไปลงทุนและบริษัทท้องถิ่น
- ขยายฐานลูกค้าผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรธนาคาร (Mass Acquisition Play) เน้นการให้บริการธุรกรรมทางการเงินดิจิทัล โดยร่วมมือกับพันธมิตรที่มีฐานลูกค้าเพื่อเข้าสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว อนาคตจะเข้าสู่การเป็น Regional Payment Platform
- พัฒนาการให้บริการทางการเงินในรูปแบบใหม่ (Disruptive Play) เน้นด้านการให้สินเชื่อดิจิทัล โดยใช้ดาต้าที่ทำให้ธนาคารเข้าถึงกลุ่มลูกค้า Underbanked ได้
บุกหนัก “เวียดนาม” เดินหมากทั้ง 3 กลยุทธ์พร้อมกัน
“พิพิธ อเนกนิธิ” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวต่อว่า ล่าสุดธนาคารได้ขยายเข้าสู่เวียดนาม ได้รับใบอนุญาตเปิดสาขาแรกเมื่อต้นปี 2564 และก่อตั้งสาขาแรกที่โฮจิมินห์ ซิตี้สำเร็จช่วงปลายปี 2564 พร้อมกับมีการจัดตั้งทีม KBTG เวียดนาม รองรับด้านการพัฒนาดิจิทัล มีบุคลากร 70-80 คนและจะขยายขึ้นเป็น 200 คนในอนาคต
ตลาดเวียดนามนั้นถือเป็นตลาดที่ KBank คาดหวังและตั้งเป้าสูง เนื่องจากเป็นตลาดที่มีประชากรถึง 98.5 ล้านคน และเศรษฐกิจเติบโตได้ดี แม้แต่ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ที่ทำให้จีดีพีทั่วโลกติดลบ แต่เศรษฐกิจเวียดนามยังโตได้ 2% รวมถึงเวียดนามเป็นประเทศคนหนุ่มสาว เพราะประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในช่วงอายุต่ำกว่า 35 ปี
พิพิธกล่าวว่า ประเทศเวียดนามยังเป็นตลาดต่างประเทศแห่งแรกที่กสิกรไทยใช้กลยุทธ์ทั้ง 3 ด้านพร้อมๆ กัน จากปกติจะเดินไปทีละกลยุทธ์ เนื่องจากเห็นว่าเวียดนามเป็นตลาดที่พร้อมในทุกด้าน และธนาคารเองมีประสบการณ์ที่สั่งสมมาจากตลาดต่างประเทศอื่นก่อนหน้านี้
ส่ง K PLUS Vietnam เขย่าตลาด
ในด้านการบริการดิจิทัล KBank มีการเปิดตัว K PLUS Vietnam เรียบร้อยแล้ว โดยเป็นการต่อยอดโมบายแบงกิ้งในเวอร์ชันไทยมาเป็นเวอร์ชันเวียดนาม เพื่อสร้าง Digital Lifestyle Ecosystem เน้นการเป็นโซลูชันส์ที่สามารถทำได้ทั้งผลิตภัณฑ์เงินฝาก สินเชื่อบุคคล สินเชื่อดิจิทัลสำหรับร้านค้าขนาดเล็ก ระบบรับชำระเงิน ซึ่งพิพิธมองว่าฟีเจอร์เหล่านี้ K PLUS สามารถให้บริการได้ครอบคลุมกว่าธนาคารอื่นที่มีบริการอยู่ในตลาดเวียดนาม และจะเป็นจุดแข็งให้กับกสิกรไทย
ระบบชำระเงินดิจิทัลในกลุ่มลูกค้ารายย่อยในเวียดนามถือว่าอยู่ในระยะเพิ่งเริ่มต้น ทำให้กสิกรไทยจะต้องบุกหนักเพื่อสร้างตลาด พร้อมๆ กับการส่งเสริม Cashless Society ของรัฐบาลเวียดนาม
โอกาสใหม่จากการลงทุนร่วมกับ “สตาร์ทอัพ”
ด้านกลยุทธ์ ‘Disruptive Play’ นั้นกสิกรไทยมีการลงทุนร่วมกับสตาร์ทอัพ ด้วยการลงทุนของ KASIKORN VISION ซึ่งเริ่มมีการลงทุนแล้วกับ ‘Jio Health’ (จีโอ เฮลธ์) แพลตฟอร์ม Telemedicine ที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม
พิพิธกล่าวว่า การลงทุนกับสตาร์ทอัพจะเป็นใบเบิกทางให้ธนาคารเข้าสู่บริการการเงินในรูปแบบใหม่ได้ โดยธนาคารจะมุ่งเน้นสตาร์ทอัพในกลุ่มอุตสาหกรรมที่สนใจ เช่น EduTech, FinTech, HealthTech, ESG-Tech เพราะอุตสาหกรรมเหล่านี้คาดว่าจะเป็นดาวรุ่งในตลาด AEC+3
การเงินรูปแบบใหม่จะเป็นอย่างไร? พิพิธยกตัวอย่างกลับมาที่ประเทศไทย KBank มีความร่วมมือกับ GDH ในการออกเหรียญ ‘Destiny Token’ เพื่อลงทุนกับภาพยนตร์เรื่อง ‘บุพเพสันนิวาส 2’ เหรียญนี้ทำหน้าที่ระดมทุนจากรายย่อยโดยใช้พื้นฐานเทคโนโลยีบล็อกเชน ถือเป็นตัวอย่างบริการแบบใหม่ที่เกิดขึ้น
ตั้งเป้าปีหน้า 1.2 ล้านราย
สรุปเป้าหมายในเวียดนามของกสิกรไทย ปี 2566 จะมีลูกค้าบุคคลแตะ 1.2 ล้านราย จากปัจจุบันมีมากกว่า 1 แสนราย และตั้งเป้าจะปล่อยสินเชื่อได้รวม 20,000 ล้านบาท
ปัจจุบันกสิกรไทยมีเป้าหมายทำรายได้จากตลาดต่างประเทศ AEC+3 ได้ในสัดส่วน 5% จากพอร์ตรายได้ทั้งหมด โดยมี “จีน” เป็นตลาดอันดับ 1 แต่ตลาดอันดับ 2 เชื่อว่าในปีหน้าเวียดนามจะแซงกัมพูชาขึ้นมา เพราะขนาดตลาดที่ใหญ่กว่าและเติบโตเร็วกว่า
พิพิธเชื่อว่าตลาดเวียดนามมีศักยภาพสูงมากในอนาคต เพราะประชากรมี Digital Literacy เข้าถึงสมาร์ตโฟนสูง พร้อม ‘ขี่กระแสดิจิทัล’ เปิดรับเทคโนโลยีใหม่ได้ทันที สอดคล้องกับกลยุทธ์ธนาคาร รวมถึงมี ‘ทาเลนต์’ ด้านเทคโนโลยีในตลาดพร้อมรับการเติบโต