Twitter ประกาศวันนี้ (26 สิงหาคม 2022) ว่าแพลตฟอร์มเริ่มเปิดระบบ “พอดคาสต์” แล้ว ฟังก์ชันนี้อยู่ในหมวดเดียวกับ Spaces ที่ใช้จัดรายการเสียงสด หลังจากนี้ครีเอเตอร์เสียงทุกคนสามารถอัดการจัดรายการสดไว้ได้ เพื่อเก็บเป็นพอดคาสต์ให้ผู้ติดตามเข้าฟังย้อนหลัง
การรีดีไซน์ใหม่บน Twitter จะแยกหมวดย่อยในฟังก์ชัน Spaces ออกเป็น 3 หมวด ได้แก่
- Stations – แหล่งรวมรายการสดและพอดคาสต์โดยแยกตามหัวข้อต่างๆ เช่น ข่าวสาร, เพลง, กีฬา
- Spaces Spotlight – ลิสต์รวมรายการสดหรือพอดคาสต์ที่คัดเลือกให้ว่ามีความน่าสนใจ คัดเลือกตามความสนใจของผู้ใช้และคนที่ผู้ใช้เลือกติดตาม รวมถึงรายการยอดนิยมจากทั่วโลก (ผู้ใช้สามารถกด ‘ยกนิ้วให้’ หรือกด ‘ยกนิ้วลง’ ให้กับคอนเทนต์ต่างๆ ที่แสดงได้ด้วย เพื่อให้ระบบเข้าใจว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร)
- Upcoming Spaces – ลิสต์รวมรายการสดที่กำลังจะจัดขึ้น ตามตารางของครีเอเตอร์
การประกาศวันนี้ไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจแต่อย่างใด เพราะ Twitter ซุ่มทดลองระบบพอดคาสต์มาแล้วหลายเดือน อย่างไรก็ตาม การทดลองทำให้เข้าใจกันว่าแพลตฟอร์มจะเปิดปุ่มหรือฟังก์ชันเฉพาะของพอดคาสต์แยกจาก Spaces แต่สุดท้ายแล้วแพลตฟอร์มเลือกที่จะใส่เข้าไปรวมในที่เดียวกัน
“การรวมพอดคาสต์เข้าไปใน Spaces พื้นที่ที่บทสนทนาเสียงเกิดขึ้นบน Twitter เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ของเราในการลงทุนอย่างต่อเนื่องกับครีเอเตอร์เสียงบนแพลตฟอร์ม” Twitter กล่าวในแถลงผ่านบล็อกโพสต์
Twitter บอกด้วยว่า จากงานวิจัยภายในของบริษัทพบว่า 45% ของคนอเมริกันที่ใช้ Twitter จะฟังพอดคาสต์เป็นประจำทุกเดือน ทำให้บริษัทเชื่อว่าแผนการเพิ่มพอดคาสต์เข้าไปจะทำให้ผู้ใช้ได้เสพคอนเทนต์ใหม่ๆ จากหัวข้อที่พวกเขาสนใจอยู่แล้วบน Twitter
ขณะนี้ระบบพอดคาสต์เริ่มทยอยเปิดตัวแล้วบนมือถือทั้งระบบ iOS และ Android สำหรับผู้ใช้แอปพลิเคชันภาษาอังกฤษก่อน ส่วนการเปิดระบบบนเดสก์ท็อปจะมาเมื่อไหร่นั้น ยังไม่มีกำหนดการ
การเริ่มก้าวเข้าสู่วงการ “พอดคาสต์” ของ Twitter นั้น สวนทางกับ Facebook ในเครือ Meta เพราะ Facebook เพิ่งจะปิดบริการพอดคาสต์ไปเมื่อไม่นานมานี้ โดยระบบพอดคาสต์บน Facebook ให้บริการไม่ถึงปีดีด้วยซ้ำ รวมถึงปิดบริการฟีเจอร์คลิปเสียงสั้น Soundbites และ Audio Hub ไปด้วย เพราะ Meta ต้องการจะมุ่งเน้นกับโครงการวิดีโอคลิปสั้นเพื่อสู้กับ TikTok มากกว่า
เมื่อ Meta ถอนตัวจากวงการนี้ไปแล้ว ดังนั้น หาก Twitter สามารถปั้นพอดคาสต์บนแพลตฟอร์มของตัวเองให้ติดตลาดได้สำเร็จ แอปฯ นี้จะเป็นผู้นำเทรนด์ในกลุ่มโซเชียลมีเดียสำหรับกลุ่มครีเอเตอร์เสียง
ในขณะเดียวกัน สำนักข่าว TechCrunch ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า ที่ผ่านมาการดูแลควบคุมคอนเทนต์บน Spaces ของ Twitter นั้นทำได้ไม่ดีเลย
จากการออกมา ‘แฉ’ ของ Peiter “Mudge” Zatko อดีตหัวหน้าฝ่ายความปลอดภัยของ Twitter บอกว่า ผู้บริหารบริษัทเคยบอกกับพนักงานและบอร์ดบริหารเมื่อเดือนธันวาคม 2021 ว่าฟีเจอร์นี้สามารถควบคุมได้อย่างเหมาะสม ทั้งที่ความจริงแล้วเขาพบว่า “ครึ่งหนึ่งของคอนเทนต์บน Spaces ที่ถูกติดธงแดงเรื่องภาษาเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบนั้น ปรากฏว่าใช้ภาษาที่เจ้าหน้าที่บริษัทพูดไม่ได้ ทำให้ไม่มีการควบคุมคอนเทนต์เหล่านั้น”