นักวิเคราะห์จาก Maybank สถาบันการเงินจากมาเลเซียชี้ว่าถ้าหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอยแล้ว จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยและสิงคโปร์อย่างมาก เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพาปัจจัยจากภายนอก ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนอย่างอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ นักวิเคราะห์รายนี้มองว่าน่าจะไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด
Chua Hak Bin นักวิเคราะห์จาก Maybank สถาบันการเงินจากมาเลเซีย ได้ให้สัมภาษณ์กับทาง CNBC ว่าถ้าหากเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเข้าสู่สภาวะถดถอยนั้นเศรษฐกิจในทวีปเอเชียไม่สามารถที่จะหนีผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อที่จะต่อสู้กับสภาวะเงินเฟ้อที่สูง
เขาได้ชี้ว่าถ้าหากเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเข้าสู่สภาวะถดถอยแล้ว เศรษฐกิจในประเทศที่จะได้รับผลกระทบตามมาทันทีคือไทยและสิงคโปร์
สิงคโปร์จะเป็นประเทศแรกที่จะได้รับผลกระทบ เนื่องจากเศรษฐกิจของสิงคโปร์เป็นเศรษฐกิจเปิด มีมูลค่าการส่งออกสินค้าเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ หรือเครื่องจักรต่างๆ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาการส่งออกสินค้าเหล่านี้ลดลง
นอกจากนี้ภาคการท่องเที่ยวของสิงคโปร์เองยังได้รับผลกระทบ แม้ว่าจะเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วก็ตาม ขณะที่นักท่องเที่ยวจากจีนก็ยังไม่กลับมาเนื่องจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีน ซึ่งนักท่องเที่ยวจีนมีสัดส่วนมากถึง 13% ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ได้เข้ามาสิงคโปร์ในปี 2019
สำหรับเศรษฐกิจไทย นักวิเคราะห์จาก Maybank มองว่าไทยเองจะเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบต่อจากสิงคโปร์ เนื่องจากประเทศไทยพึ่งพิงปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ทำรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งในปี 2019 นักท่องเที่ยวที่เข้ามาไทยนั้นสูงถึงเกือบ 40 ล้านราย คิดเป็นสัดส่วน 11% ของ GDP
ไม่เพียงเท่านี้ นักวิเคราะห์จากสถาบันการเงินรายนี้ยังชี้ว่า เศรษฐกิจไทยจะกลับมาปกติได้นั้นต้องมีปัจจัย เช่น การกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน เป็นต้น
ขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อของไทยเองก็ถือว่าสูงไม่น้อย โดยตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานั้นไทยมีอัตราเงินเฟ้อสูงถึง 7.86% เมื่อเทียบกับปี 2021 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี Chua Hak Bin ยังมองว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยส่งผลทำให้เศรษฐกิจไทยมีการเติบโตต่ำลง แต่ก็ไม่ทำให้ฝั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยต้องรีบขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากนัก
แต่สำหรับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนอย่างอินโดนีเซีย หรือฟิลิปปินส์นั้น นักวิเคราะห์รายนี้มองว่าประเทศเหล่านี้มีเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนจากในประเทศ ขณะเดียวกันในช่วงที่ผ่านมาอัตราเติบโตของ GDP มากกว่าตัวเลขอัตราเงินเฟ้อด้วยซ้ำ และเขายังได้ยกกรณีวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ ช่วงปี 2008-2009 นั้นเศรษฐกิจของ 2 ประเทศเหล่านี้กลับไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด