แมคโดนัลด์ไทย เดินตามรอย กูเกิลและดีแทค เปิดออฟฟิศใหม่ ใส่ความสนุกบนพื้นที่ทำงานหวังกระตุ้นให้พนักงานเกิดไอเดีย และเชื่อมโยงระหว่างแบรนด์องค์กรกับพนักงาน ในแบบ Inside Out
แต่งร้านสนุก ออฟฟิศต้องมันส์ยิ่งกว่า
4 ปีก่อน แมคโดนัลด์ ตกแต่งร้านใหม่ด้วยคอนเซ็ปท์ Millennium ปรับป้ายหน้าร้านจากสีแดงกลายเป็นสีดำ เปลี่ยนที่นั่งให้สบายขึ้น ติดตั้ง Wi-Fi เป็นผลให้มีที่นั่งน้อยลงแต่กลับสร้างรายได้เพิ่มขึ้น
“เมื่อก่อน ฟาสต์ฟู้ด คนกินแล้วก็ไป แต่เมื่อเราปรับปรุงสถานที่ จับไลฟ์สไตล์คนมากขึ้น จากร้านสว่างโล่ง ก็ดู Cozy ขึ้น เปลี่ยนเก้าอี้แข็งๆ ให้กลายเป็นเก้าอี้ที่มีสีสัน หรือเป็นโซฟา เรามีที่นั่งน้อยลง 10% แต่คนนั่งนานขึ้นจาก 20 นาทีเป็น 30นาที แล้วผู้บริโภคก็จ่ายเพิ่มขึ้น 3-5% ต่อบิล คอนเซ็ปต์นี้มาจากสาขาหนึ่งที่เยอรมัน พอเปลี่ยนป้ายเป็นสีดำแล้วเราเอาภาพที่นั่นมาทำโฟกัส กรุ๊ป ผู้บริโภคชอบบอกว่าดูวัยรุ่นกว่า” เฮสเตอร์ ชิว ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บ.แมคไทย จำกัด แสดงความเห็น
ในเมื่อร้านสวย มีไลฟ์ สไตล์ ยังช่วยให้เกิดยอดขายได้ ดีไซน์ดีก็มีส่งผลต่อการทำงานเช่นเดียวกัน …
ไหนๆ ออฟฟิศเดิมที่ชั้น 5 บิ๊กซี ราชดำริเสียหายจากเหตุการณ์ความไม่สงบในเดือนเมษายน ปีที่แล้ว บริษัท แมคไทย จำกัด ใช้โอกาสนี้ รีโนเวตสำนักงานใหญ่ขึ้นมาใหม่เพื่อทดแทนของเดิม พร้อมๆ กับการเติมแรงบันดาลใจให้กับพนักงาน จนเป็นที่มาของบ้านหลังใหม่แมคโดนัลด์ ประเทศไทย ตำแหน่งเดิมแต่กว้างกว่า
sanook@work หนึ่งในปรัชญาการทำงานของแมคโดนัลด์ จึงถูกดึงขึ้นมาเป็นคอนเซ็ปต์หลัก ภายในประกอบด้วยพื้นที่ทำงาน รองรับพนักงานที่ประจำอยู่ในสำนักงานใหญ่ 150 คน, โซน People Development Center เอาไว้จัดอบรมพนักงานครั้งล่ะ 50-100 คนที่จะเวียนกันเข้ามาเพิ่มเติมความรู้ ที่นี่ยังมีห้องครัวจำลองที่เอาไว้ให้ทีมครีเอทีฟทดลองทำเมนูใหม่ๆ กับแมคโดนัลด์ รวมทั้งช็อป ร้านค้าของที่ระลึก
ทั้งหมดนี้เพื่อเป็นการสร้างแบรนด์แมคโดนัลด์จากภายในองค์กร ตั้งแต่พนักงานระดับบริหาร ปฏิบัติการ ไปจนถึงพนักงานหน้าร้านที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าตลอดเวลา
กูเกิล ดีแทค 2 แบรนด์ต้นแบบ
สวยศ ด่านบรรพต ผู้จัดการฝ่าย Construction เปิดเผยเบื้องหลังของการออกแบบออฟฟิศแมคโดนัลด์ว่าได้ไอเดียจาก 2 องค์กรที่ได้ขึ้นชื่อว่ามีออฟฟิศที่สร้างแรงบันดาลใจให้พนักงาน นั่นคือ กูเกิลและดีแทค
“เราเอากูเกิลกับดีแทคมาเป็น Referent ผมก็ขอดีแทคเข้าไปดูออฟฟิศเขา แล้วในที่สุดก็ได้ไอเดียที่เราอยากทำให้ออฟฟิศ ดู สนุก รีแล็กซ์ ทำให้พนักงานทุกคนไม่ได้คิดว่ามาทำงานที่ออฟฟิศ แต่มาทำงานแล้วได้เจอเพื่อนไปด้วย ดังนั้นโต๊ะพูลที่เรามี หรือว่าห้องคาราโอเกะ สามารถมาเล่น มาร้องได้ โดยที่ไม่ต้องรอให้ถึงเวลาพัก แต่ถ้าคิดงานไม่ออก ก็ให้เดินมาเล่นได้เลย”
สิ่งที่ สวยศ บรีฟ กับ ED Design ดีไซน์ สตูดิโอที่ออกแบบร้านให้กับแมคโดนัลด์ คือ ออฟฟิศที่โล่ง โปร่ง สบาย สไตล์ Contemporary ไม่ใช้แฟชั่นจี๊ดจ๊าด เพื่อทำให้เป็นออฟฟิศที่ดูทันสมัยรองรับการเติบโตอีกหลายปี
แต่ที่เด็ดที่สุดต้องยกให้ สนุกโซน ภายใต้พื้นที่ 100 ตารางเมตร เริ่มต้นด้วยหญ้าเทียมที่ปูเพื่อตัดอารมณ์การทำงานมาสู่อาณาเขตรีแล็กซ์ แล้วเข้าสู่โต๊ะพูล กับเทเบิล ฟุตบอล ถัดออกไปเป็นส่วนของตู้โชว์ของเล่นแฮปปี้ มีล นอกจากจะพักสายตาแล้วยังใส่ Identity ขององค์กรให้กับพนักงานด้วยความสนุก บริเวณเดียวกันมีห้องคาราโอเกะ ที่ในบางครั้งก็แปลงร่างเป็นสถานที่ทำกิจกรรมกับเด็กในมูลนิธิ โรนัลด์ แมคโดนัลด์ เฮาส์ แชริตี้ ออฟฟิศแห่งนี้มีที่ที่หลายคนอาจจะคาดไม่ถึง ด้วยห้องสูบบุหรี่ที่ถูกจัดไว้เป็นสัดส่วน
“ความจริงพนักงานเรามีไม่เกิน 20 คนที่ยังสูบบุหรี่อยู่ แต่ที่เดิมที่เราเคยอยู่บนชั้น 5 บิ๊กซี ราชดำริ อยู่ใกล้ลานจอดรถที่ออกไปสูบบุหรี่สะดวก พอย้ายมาอยู่ฝั่งนี้มันไกลมากขึ้น เราอยากทำให้พนักงานทุกคนรู้สึกว่าเราใส่ใจเขา ก็เลยทำ Smoking Area ขึ้นมา ทำยากกว่าห้องปกติอีกนะ ทั้งเรื่องกลิ่น ดูดควัน แล้วก็ติดตั้งแอร์”
และพิเศษสำหรับพนักงานและแขกที่มาเยือน คือ ช็อปขายของที่ระลึกด้านหน้า เช่น เสื้อ หมวก ปากกา ตุ๊กตา เพื่อหวังสร้างแบรนด์มากกว่ายอดขายอย่างจริงจัง ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย นับตั้งแต่แมคโดนัลด์ก่อตั้งบริษัทมา 20 กว่าปี
ก่อนวางขาย ต้องได้ลอง
ถึงแม้จะเป็นสำนักงานใหญ่แต่ก็เปรียบเสมือนศูนย์บัญชาการของร้านแมคโดนัลด์ที่ต้องวางแผนก่อนสินค้าวางจำหน่ายจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนนี้แมคโดนัลด์ ได้สร้างโมเดลร้านหลากหลายรูปแบบ ประมาณ 150 สาขา แบ่งเป็น ไดร์ฟ ทรู 27 แห่ง, สาขาที่เปิด 24 ชั่วโมง 60 แห่ง และสาขาที่มีแมค คาเฟ่ 70 แห่ง รวมทั้งเพิ่มเมนูใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเมนูอาหารเช้า แมค โจ๊ก กับเมนูไก่ทอด โปรดักต์ไฮไลต์ที่แมคโดนัลด์ประเทศไทยพยายามชูเป็นสินค้าเด่น เพราะเข้ากับไลฟ์สไตล์คนไทยมากกว่า ด้วยกิจกรรมการตลาดและโปรโมชั่น ทำให้ที่สำนักงานใหญ่ต้องมีห้องครัวจำลองเพื่อทดสอบเมนูต่างๆ ก่อนนำเสนอถึงผู้บริโภค
ขั้นตอนการสร้างสรรค์เมนูของแมคโดนัลด์ เริ่มจากทีมฟู้ด ดีไซน์ออกแบบอาหารขึ้นมาตามผลการวิจัย หลังจากนั้นก็ใช้วิธีการทดลองทำจริงในห้องครัวจำลองเพื่อพิสูจน์ว่าอาหารที่คิดขึ้นมานั่น สามารถวางขายได้ในตลาด ภายใต้ข้อจำกัดทางพื้นที่ และเวลาในการเสิร์ฟสินค้า สุดท้ายแต่สำคัญที่สุดคือเรื่อง “รสชาติ” พื้นที่ห้องครัวจำลองนี้ จึงอยู่ติดกับห้องวิจัยที่เอไว้ให้กลุ่มเป้าหมายเข้ามาชิมอาหารแบบ Blind Test ในบางครั้งก็นำสินค้าของคู่แข่งมาเปรียบเทียบ
ไม่ใช่แค่เรื่องอาหารเท่านั้น “ระบบ” คือจุดเด่นอีกอย่างของธุรกิจฟาสต์ฟู้ด ที่สำนักงานใหญ่แมคโดนัลด์จึงมีห้องควบคุมระบบแคชเชียร์ของทุกสาขา และมีเครื่อง Stimulator จำลองแคชเชียร์ในร้านเอาไว้ หากมีปัญหาก็ต้องลองกด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่ดูแลที่สำนักงานใหญ่เข้าใจปัญหาได้เช่นเดียวกับพนักงานหน้าร้าน
สนุก แล้วสร้างงาน
ภายในสำนักงานใหญ่ นอกจากจะมีพื้นที่ทำงาน และห้องทดลองสำหรับเมนูใหม่ๆ แล้ว เหตุผลหลักที่แมคโดนัลด์ ประเทศไทย ต้องลงทุนถึง 60 ล้านบาทเพื่อทำออฟฟิศแห่งนี้ ขยายจาก1,500 ตารางเมตร กลายเป็น 3,400 ตารางเมตร ก็เพราะต้องการเพิ่มพื้นที่ People Development Center ศูนย์เทรนนิ่งที่พนักงานทุกคน ทุกระดับ ทั้ง 5,500 คน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานพาร์ตไทม์ 60-70% หรือพนักงานส่วนที่เหลือ ต้องผ่านหลักสูตรของแมคโดนัลด์มาแล้วทั้งนั้น
จิระวัฒน์ แต่งเจนกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล กล่าวถึงวิสัยทัศน์ในการเลือกพนักงานเข้ามาร่วมงานกับแมคโดนัลด์ว่า “ก่อนที่ผมจะไปหาคน ผมต้องทำความเข้าใจกับพนักงานในแผนกผมก่อนว่า เวลาที่เขามองหาคนให้เขามองหาคนแบบไหน ซึ่งผมจะบอกเลยว่าเรากำลังมองหา Future Manager ไม่ใช่พนักงานที่ Hold อยู่ในตำแหน่งนั้นๆ การทำงานกับคนรุ่นใหม่ สิ่งที่จะดึงดูดเขาได้ นอกจากสวัสดิการที่ดีในวันนี้แล้ว ก็เป็นเรื่องของโอกาส ที่เขาจะก้าวหน้าไม่ใช่แค่อยู่แค่ตำแหน่งในวันนี้”
“เรื่องแบรนด์ก็เป็นอีกเรื่องที่มีผลต่อการตัดสินใจ แบรนดืที่มีชื่อเสียงก็จะดึงดูดคนที่มีความรู้ความสามารถ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Gen Y แบรนด์แมคโดนัลด์ก็น่าจะฟิตกับคนกลุ่มนี้ เพราะTouch Point กับ Life Style ของพวกเขาที่มีเรื่องกีฬา ดนตรี ไอที สิ่งแวดล้อม ซึ่งแบรนด์เราก็อยู่ในทุกที่กับสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว”
สำหรับผู้ที่รับผิดชอบเรื่องการบริหารงานบุคคล ออฟฟิศที่มีความสนุกสนาน และยังสร้างความเชื่อมโยงระหว่างแบรนด์ขององค์กรกับพนักงานได้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างแบรนด์แบบ Inside Out ใส่ความหมายของวัฒนธรรมแมคโดนัลด์ลงไปในตัวพนักงาน