โฉมใหม่ “บัตรเครดิต Central The 1 REDZ” สไตล์ ‘มินิมอล’ รีเฟรชภาพลักษณ์ดึงลูกค้า Gen Y

Central The 1 บัตรเครดิต
บัตรเครดิต Central The 1 (เซ็นทรัล เดอะวัน) อยู่ในตลาดมานาน 24 ปี ที่ผ่านมาพอร์ตลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่ม Gen X ทำให้บริษัทต้องเริ่มปรับกลยุทธ์เพื่อมาดึงลูกค้า Gen Y จนถึง Gen Z ให้มากขึ้น ผ่านการปรับโฉมบัตรกลุ่ม “REDZ” (เรดซ์) Limited ให้โดนใจวัยรุ่นด้วยสไตล์ ‘มินิมอล’ พร้อมดึง “เก้า-สุภัสสรา” เป็นแบรนด์ แอมบาสเดอร์คนแรกนับตั้งแต่เปิดบริษัท

“อธิศ รุจิรวัฒน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเนอรัล คาร์ด เซอร์วิสเซส จำกัด (GCS) ผู้ให้บริการ บัตรเครดิต เซ็นทรัล เดอะวัน และประธานชมรมธุรกิจบัตรเครดิต-สมาคมธนาคารไทย เปิดเผยถึงที่มาการปรับโฉมในครั้งนี้ เพราะบริษัทเล็งเห็นว่า พอร์ตผู้ใช้บริการบัตรเครดิต Central The 1 ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่ม Gen X โดยอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 46-47 ปี ซึ่งถึงแม้ว่ากลุ่มนี้จะเป็นผู้มีกำลังซื้อ แต่บริษัทก็ต้องเริ่มมองถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ คนรุ่นใหม่ที่จะมาเติมพอร์ตให้ต่อเนื่องด้วย

“อธิศ รุจิรวัฒน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเนอรัล คาร์ด เซอร์วิสเซส จำกัด (GCS) และประธานชมรมธุรกิจบัตรเครดิต-สมาคมธนาคารไทย

บัตรเครดิต Central The 1 นั้นแบ่งออกเป็น 4 ระดับ คือ REDZ, LUXE, BLACK และ THE BLACK โดยกลุ่ม REDZ นั้นถือเป็นบัตรระดับ ‘แมส’ เพราะกำหนดรายได้ผู้สมัครขั้นต่ำเพียง 15,000 บาทต่อเดือน (บัตรตั้งแต่ระดับ LUXE จะกำหนดรายได้ขั้นต่ำ 100,000 บาทต่อเดือน) ทำให้จะใช้บัตรนี้เป็นหัวหอกในการดึงลูกค้ากลุ่มใหม่

ลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่ดังกล่าวคือคน Gen Y จนถึง Gen Z อายุประมาณ 25-35 ปี ซึ่งจากข้อมูลผู้ที่ถือบัตร REDZ ขณะนี้จะใช้จ่ายผ่านบัตรเฉลี่ย 7,000-8,000 บาทต่อเดือน ถือว่ามีกำลังซื้อและมีการใช้จ่ายผ่านบัตรพอสมควร

 

เปลี่ยนหน้าบัตรให้ทันสมัย-ตั้งแบรนด์ แอมบาสเดอร์

กลยุทธ์ที่จะดึงลูกค้าให้สนใจ อธิศมองว่าจุดขายหลักที่มีอยู่แล้วคือการเป็น “บัตร co-branding กับเครือเซ็นทรัล” แต่ด้วยรูปลักษณ์และการโปรโมตที่เน้นไปที่ฐานลูกค้าหลักเดิม ทำให้คนรุ่นใหม่อาจมองว่าบัตรดู ‘แก่’

ดังนั้น บัตรเครดิต Central The 1 REDZ (Limited) โฉมใหม่จึงปรับหน้าบัตรให้ทันสมัย ออกแบบสไตล์ ‘มินิมอล’ ที่โดนใจคนรุ่นใหม่มากขึ้น ด้วยสไตล์บัตรสีขาว ตัดขอบสีแดง แทนบัตรเดิมที่เป็นสีแดงล้วน

บัตรเครดิต Central The 1 REDZ (Limited)
บัตรเครดิต Central The 1 REDZ (Limited)

รวมถึงบริษัทยังตั้ง “แบรนด์ แอมบาสเดอร์” คนแรกนับตั้งแต่ก่อตั้ง GCS คือ “เก้า-สุภัสสรา ธนชาต” เพื่อให้การสื่อสารเข้าถึงคน Gen Y ที่เป็นเป้าหมายหลัก

นอกจากนี้ บัตรยังอัปเกรดขึ้นด้วย จากเดิมผู้ถือบัตร REDZ จะได้สิทธิกับ เซ็นทรัลรีเทล (CRC) และ เซ็นทรัล เรสเตอรองส์ กรุ๊ป (CRG) อยู่แล้ว การปรับโฉมครั้งนี้ยังเพิ่มสิทธิประโยชน์กับ เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) ด้วย เมื่อช้อปผ่านบัตรที่ร้านค้าในศูนย์การค้าของเซ็นทรัลพัฒนาที่ร่วมรายการ จะได้รับเครดิตเงินคืน 5% และคะแนน The 1 สูงสุด 2 เท่า มีร้านค้าที่ร่วมรายการแล้ว เช่น MLB, Pomelo, H&M, NIKE, ADIDAS ฯลฯ

รวมถึงมีสิทธิพิเศษเพิ่มจากการ “ชมภาพยนตร์” ซึ่งทำให้บัตรตรงกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ผู้ถือบัตรรับส่วนลด 50% เมื่อซื้อตั๋วหนังในเครือ Major Cineplex และ SF (จำกัด 1 ที่นั่ง/บัตร/เดือน สิ้นสุด 31 มีนาคม 2566)

“เก้า-สุภัสสรา ธนชาต” แบรนด์ แอมบาสเดอร์

 

หวังดึง Gen Y ได้ “ครึ่งหนึ่ง” ของยอดสมัครใหม่

อธิศกล่าวต่อว่า เป้าหมายจากการปรับโฉมครั้งนี้ ตั้งเป้ามียอดสมัครบัตรใหม่สำหรับกลุ่ม Central The 1 REDZ (Limited) ตั้งแต่วันนี้จนถึงสิ้นปี 2566 จำนวน 120,000 ใบ โดยคาดว่าจะมี Gen Y และ Gen Z เข้ามาสมัครราวครึ่งหนึ่ง ซึ่งเพิ่มสัดส่วนจากปกติจะมีคนวัยนี้สมัครบัตร REDZ ประมาณ 20% เท่านั้น

สำหรับภาพรวมของบัตรเครดิต Central The 1 ทั้งพอร์ต ปี 2565 ตั้งเป้ามียอดใช้จ่ายผ่านบัตรแตะ 95,000 ล้านบาท หรือเติบโต 25% เทียบกับปีก่อนหน้า

บัตรเครดิต Central

ส่วนภาพรวมธุรกิจตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนสิงหาคม 2565 ถือว่าบริษัททำได้ดี เนื่องจากยอดใช้จ่ายผ่านบัตรอยู่ที่ 60,000 ล้านบาท เติบโต 33% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 (ก่อนโควิด-19) และฟื้นตัวได้มากกว่าตลาดซึ่งมียอดใช้จ่ายเติบโต 3% ในช่วงเวลาเดียวกัน

บัตรเครดิต Central The 1 ยังเพิ่มมาร์เก็ตแชร์มาแตะ 4.6% ของตลาดรวมได้สำเร็จ เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากช่วงปี 2562 (ก่อนโควิด-19) ที่มีมาร์เก็ตแชร์อยู่ 2.4%

บัตรเครดิต Central

ด้านความกังวลของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรื่องหนี้ครัวเรือน จนมีการออกหนังสือขอความร่วมมือสถาบันการเงินและกลุ่มนอนแบงก์ ไม่ให้ออกแคมเปญจูงใจประชาชนก่อหนี้เพิ่ม

ส่วนนี้อธิศให้ความเห็นว่า ธนาคารกรุงศรีอยุธยามีนโยบายเป็น ‘responsible lender’ ผู้ให้กู้ที่มีความรับผิดชอบอยู่แล้ว และในกรณีของบัตรเครดิตจะเลือกทำมาร์เก็ตติ้งกับการใช้จ่ายที่ลูกค้าใช้ในชีวิตประจำวันเป็นหลัก เช่น ร้านอาหาร, เติมน้ำมันรถยนต์ ขณะที่สินค้ากลุ่มลักชัวรีแบรนด์จะเลือกจัดแคมเปญกับลูกค้าที่เป็นกลุ่มพรีเมียม ซึ่งโอกาสก่อหนี้เสียจะน้อย

ขณะที่ชมรมธุรกิจบัตรเครดิตจะมีการหารือกันภายในอีกครั้งหนึ่ง เพราะทางชมรมฯ เพิ่งทราบเรื่องผ่านทางสื่อมวลชนเช่นกัน