‘องค์การกาแฟนานาชาติ’ เชื่อผู้บริโภคจะ ‘ดื่มกาแฟนอกบ้าน’ น้อยลงเพราะพิษเศรษฐกิจ!

ในช่วงที่ผ่านมา หลายคนน่าจะเห็นข่าวการปรับขึ้นราคา ‘กาแฟ’ จากเชนใหญ่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น All Café ในเซเว่น, อเมซอน, อินทนิล ยังไม่รวมแบรนด์เล็กแบรนด์ย่อยที่คงจะเริ่มปรับราคาเนื่องจาก วัตถุดิบ ที่แพงขึ้น แน่นอนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้เป็นแค่ไทยแต่เกิดขึ้นทั่วโลก

วานูเซีย โนกิเอรา ผู้อำนวยการบริหารขององค์การกาแฟนานาชาติ (ICO) ประเมินว่า จากปัญหาราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะ เมล็ดกาแฟ ประกอบกับปัญหาเงินเฟ้อและความเสี่ยงจากภาวะถดถอยของเศรษฐกิจ ส่งผลให้ผู้บริโภคกาแฟทั่วโลก เลือกจะดื่มกาแฟที่บ้านมากกว่าร้านกาแฟและร้านอาหาร

ปัจจุบัน ซัพพลายเชนกาแฟจากต่างประเทศไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่มหาศาลได้ เนื่องจากผลผลิตกาแฟทั่วโลกที่ลดลงในปี 2021-2022 เนื่องจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“เรามีปัญหาสภาพอากาศมากมายในภูมิภาคที่มีการผลิตชั้นนำ ดังนั้น แม้ว่าราคากาแฟจะสูงขึ้น แต่ผู้ปลูกก็ไม่สามารถผลิตสินค้าได้มากอย่างที่ต้องการ เนื่องจากปัญหาสภาพอากาศ”

ผลผลิตรวมของกาแฟในปี 2021-2022 แตะที่ 167.2 ล้านกระสอบ (กระสอบละ 60 กิโลกรัม) ลดลง 2.1% จาก 170.83 ล้านกระสอบในปี 2020 ตามสถิติของ ICO ขณะที่ การบริโภคกาแฟทั่วโลกเพิ่มขึ้น 3.3% เป็น 170.3 ล้านกระสอบ ทั้งนี้ ตั้งแต่มีการระบาดของ COVID-19 การบริโภคภายในบ้านเริ่มเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่การบริโภคจากร้านกาแฟและร้านอาหารลดลง อย่างไรก็ตาม โดยเฉลี่ยการบริโภคกาแฟทั่วโลกยังทรงตัว

“ฉันไม่คิดว่าจะมีผลกระทบในแง่ของปริมาณการดื่มกาแฟ แต่ในพื้นที่การดื่มกาแฟและคุณภาพอาจได้รับผลกระทบ เพราะผู้คนจะลดคุณภาพของสิ่งที่พวกเขาดื่มและเปลี่ยนที่ที่พวกเขาดื่ม โดยเฉพาะผู้ผลิตกาแฟชนิดพิเศษอาจได้รับผลกระทบมากที่สุด”

วานูเซีย ย้ำว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมกาแฟ และทาง ICO กำลังทำงานเพื่อสร้างกองทุนเพื่อการฟื้นฟูควบคู่ไปกับการเป็นพันธมิตรกับองค์กรอื่น ๆ รวมถึงธนาคาร เพื่อหาพื้นที่การผลิตกาแฟที่ทนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น

Source